22 ธ.ค. วันเหมายัน "ตะวันอ้อมข้าว" กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี

Logo Thai PBS
22 ธ.ค. วันเหมายัน "ตะวันอ้อมข้าว" กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุ วันที่ 22 ธ.ค.นี้ เป็นวันเหมายัน หรือ ตะวันอ้อมข้าว ช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี

วันนี้ (20 ธ.ค.2566) เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า 22 ธ.ค.นี้ เป็นวันเหมายัน (Winter Solstice) กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูร้อน

วันเหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน) คือ วันที่มีช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ปีนี้ตรงกับวันที่ 22 ธ.ค.2566 ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด คนไทยเรียกว่า "ตะวันอ้อมข้าว"

ในแต่ละวัน ดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้ สังเกตได้จากท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุดในวันเหมายันของแต่ละปี

ภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางคืนที่ยาวนานที่สุด และเวลากลางวันที่สั้นที่สุด ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06.36 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 17.55 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11.19 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ วันเหมายันยังนับเป็นวันเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกใต้

สำหรับ "ฤดูกาล" บนโลก เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย

เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง สังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน 

ภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ในระยะเวลา 1 ปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่

- วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 มี.ค.
- วันครีษมายัน (Summer Solstice) วันที่กลางวันยาวนานที่สุด อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 มิ.ย.
- วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 ก.ย.
- วันเหมายัน (Winter Solstice) วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 ธ.ค.

อ่านข่าวอื่น ๆ :

ทำไม ? ดาวเทียมส่องโลกอยู่เต็มฟ้าแต่เรากลับหา “โบราณสถาน” กันไม่เจอ

ภาพแรกจาก “Psyche” NASA เผยภาพแรกของยานหลังเดินทางออกจากโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง