ศาลสูงรัฐโคโลราโดตัดสิทธิ "ทรัมป์" ลงเลือกตั้งขั้นต้น

ต่างประเทศ
21 ธ.ค. 66
13:58
759
Logo Thai PBS
ศาลสูงรัฐโคโลราโดตัดสิทธิ "ทรัมป์" ลงเลือกตั้งขั้นต้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลสูงสุดรัฐโคโลราโดตัดสิทธิ "โดนัลด์ ทรัมป์" จากการลงสมัครรับเลือกตั้งขั้นต้น ซึ่งคำตัดสินครั้งนี้อาจเป็นแนวทางให้รัฐอื่นตัดสินคดีในรูปแบบเดียวกัน

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2566 ศาลสูงสุดรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา วินิจฉัยว่า "โดนัลด์ ทรัมป์" หมดสิทธิเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามก่อความไม่สงบ ซึ่งรวมถึงการขัดขวางกระบวนการรับรอง โจ ไบเดน เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 และเหตุจลาจลที่กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์บุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2021

ศาลสูงสุดโคโลราโด ระบุว่า ทรัมป์กระทำผิดในมาตรา 3 ของบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 14 ซึ่งห้ามผู้ที่มีส่วนในการก่อความไม่สงบหรือการกบฎ ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

คำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้เลขาธิการแห่งรัฐโคโลราโด ซึ่งดูแลการจัดการเลือกตั้ง จะไม่สามารถใส่ชื่อทรัมป์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในการลงคะแนนเลือกตั้งขั้นต้น เพื่อสรรหาผู้แทนพรรคต่างๆ ลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีได้ และจะมีผลเฉพาะในรัฐโคโลราโด ซึ่งกำหนดจัดการเลือกตั้งขั้นต้นวันที่ 5 มี.ค.2024

ด้าน ทรัมป์ กล่าวกับผู้สนับสนุนในเมืองวอเทอร์ลู รัฐไอโอวา ระหว่างไปปราศรัยหาเสียง หลังทราบข่าวคำตัดสินดังกล่าว ว่า โจ ไบเดน พยายามทำทุกวิธีทางเพื่อขัดขวางพวกเรา โดยยอมละเมิดรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมระบุอีกว่า ไบเดนเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือแทรกแซงการเลือกตั้ง

โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวกับผู้สนับสนุนระหว่างการรณรงค์หาเสียงที่วอเทอร์ลู รัฐไอโอวา

โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวกับผู้สนับสนุนระหว่างการรณรงค์หาเสียงที่วอเทอร์ลู รัฐไอโอวา

โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวกับผู้สนับสนุนระหว่างการรณรงค์หาเสียงที่วอเทอร์ลู รัฐไอโอวา

จริงๆ แล้วประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียง ไม่ใช่ว่าทรัมป์จุดชนวนความไม่สงบหรือไม่เสียทีเดียว แต่เป็นการตีความว่า กฎหมายที่ห้ามผู้ก่อความไม่สงบดำรงตำแหน่งในรัฐบาลกลางสหรัฐฯ นั้น ครอบคลุมถึงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยหรือไม่ ประธานาธิบดีถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางหรือไม่ หรือจะต้องเป็นตำแหน่งที่ได้มาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่การเลือกตั้ง

นี่อาจเป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้สนับสนุนทรัมป์นำไปยื่นต่อศาลสูงสุดสหรัฐฯ ให้วินิจฉัย และหากศาลสูงสุดสหรัฐฯ รับพิจารณา นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกับทรัมป์ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้พิพากษาถึง 6 คนจากทั้งหมด 9 คนที่มีจุดยืนอนุรักษ์นิยม และในจำนวนนี้ 3 คนยังได้รับแต่งตั้งโดยทรัมป์ สมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย

ที่น่าสนใจอีกข้อ ดูเหมือนคำตัดสินของศาลสูงสุดโคโลราโดจะยิ่งทำให้ผู้สนับสนุนรีพับลิกันบางส่วน ยิ่งเห็นใจทรัมป์มากขึ้นว่าเขาตกเป็นเหยื่อของเกมการเมือง จากฝั่งเดโมแครตที่พยายามหาประเด็นต่างๆ มาใส่ร้ายป้ายสีและเล่นงานเขา เพื่อขวางการคืนเก้าอี้ผู้นำประเทศ

ทรัมป์ยังใช้คำตัดสินนี้เรียกคะแนนสงสารผ่านการขอรับบริจาคเพื่อสนับสนุนการเดินสายหาเสียงได้อีกด้วย ไม่ต่างจากการเผชิญคดีความครั้งก่อนๆ ตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งการระดมเงินผ่านช่องทางออนไลน์หลังทรัมป์ถูกตัดสินความผิดในคดีจ่ายเงินปิดปากนักแสดงผู้ใหญ่ที่ศาลในแมนฮัตตัน เมื่อเดือน เม.ย. ทำเงินได้มากถึง 3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 136 ล้านบาทภายในวันเดียว

คำตัดสินของศาลสูงสุดรัฐโคโลราโดอาจมีผลเป็นแนวทางให้รัฐอื่นๆ ได้ เนื่องจากเวลานี้มีหลายรัฐที่มีผู้ยื่นฟ้องตัดสิทธิทรัมป์จากการลงเลือกตั้ง อ้างอิงมาตรา 3 จากบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 14

ก่อนหน้านี้ ศาลยกฟ้องคดีนี้ไปแล้วในหลายรัฐ ทั้งมินนิโซตา มิชิแกน ฟลอริดา นิวแฮมป์เชียร์ เป็นต้น ขณะที่บางส่วนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และมีหลายรัฐที่โจทก์ถอนฟ้องไปแล้ว ทำให้คำตัดสินของศาลสูงสุดโคโลราโดที่ตัดสิทธิทรัมป์ หากจะเรียกว่าเป็นคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ก็คงไม่ผิดนัก

และนี่อาจเป็นอีกครั้งที่ชะตาอนาคตในการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ จะตกอยู่ในมือศาลสูงสุดสหรัฐฯ เหมือนในอดีตที่ผ่านมาหลายครั้งเวลาที่ผลการเลือกตั้งออกมาสูสี แต่ครั้งนี้อาจไม่เหมือนครั้งไหน เพราะสภาพสังคมอเมริกันอยู่ในสถานะเปราะบาง เต็มไปด้วยการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากกว่าที่เคย

อ่านข่าวอื่นๆ

ฉลองคริสต์มาส! ซานต้าจำแลง ชวนเด็กๆ ทำความดี

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ไฟเขียวไต่สวนถอดถอน "ไบเดน"

"ไอซ์แลนด์" ภูเขาไฟปะทุพ่นลาวา เตือนควันพิษอาจถึงเมืองหลวง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง