ระบบทะเบียน “ยานอวกาศ” ทำงานอย่างไร ?

Logo Thai PBS
ระบบทะเบียน “ยานอวกาศ” ทำงานอย่างไร ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วัตถุที่ถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศจะมีระบบทะเบียน ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อใช้ในการจดบันทึกและประเมินถึงอนาคตของวัตถุอวกาศนั้น ๆ

นอกจากรถ เรือ หรือเครื่องบินแล้ว รู้หรือไม่ว่าวัตถุใด ๆ ที่ถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศ ตั้งแต่กระสวยอวกาศ ยานอวกาศทั้งในแบบโรเวอร์ ยานโคจรรอบ หรือยานลงจอด แคปซูลยานอวกาศต่าง ๆ ไปจนถึงดาวเทียมทั้งในเชิงพาณิชย์ และในเชิงการทหาร จำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียนตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องของการขึ้นทะเบียนวัตถุอวกาศ เพื่อประโยชน์ในการติดตาม และประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงป้องกันการทดสอบอาวุธบนอวกาศด้วย

แม้ว่าแต่ละหน่วยงานจะมีการขึ้นทะเบียนที่แตกต่างกันมากกว่าหนึ่งชื่อ แต่มาตรฐานการขึ้นทะเบียน (Registration Convention) ที่มีอิทธิพลต่อการขึ้นทะเบียนล้วนได้รับอิทธิพลจากหน่วยงานที่มีชื่อว่า United Nations Office for Outer Space Affairs หรือ UNOOSA ซึ่งมีการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ที่โลกเริ่มส่งวัตถุต่าง ๆ ขึ้นไปบนอวกาศ โดยที่มาตรฐานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 2 มาตรฐานได้แก่มาตรฐานของ COSPAR (Committee on Space Research) และ NORAD (North American Aerospace Defense Command)

นอกจากนี้ยังอาจมีมาตรฐานอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมด้วย เช่น NASA Space Science Data Coordinated Archive (NSSDC) หรือมาตรฐานที่หน่วยงานสร้างยานอวกาศใช้ เช่น ห้องวิจัย Jet Propulsion Laboratory จะใช้ JPL ID Number เป็นต้น

ขอยกตัวอย่างยานอวกาศที่หลายคนรู้จักดี เช่น ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverence) จะจดเลขทะเบียน COSPAR และ NSSDC เป็น 2020-052A และใช้มาตรฐาน NORAD เป็นหมายเลข 45983 ซึ่งแต่ละมาตรฐานจะมีวิธีการอ่านแตกต่างกันไป เช่น 2020-052A จะเห็นว่า “2020” คือปีที่ปล่อย “052” เป็นลำดับหมายเลข และ “A” บอกว่าเป็นวัตถุใด ซึ่งในกรณีนี้ จรวดแอตลาส 5 (Atlas) ที่ใช้ปล่อยยานเพอร์เซเวียแรนซ์ จะใช้ทะเบียน 2020-052B รหัส “B” จึงหมายถึงจรวดที่ใช้ปล่อยยานนั่นเอง กรณีของยานอวกาศ Voyager 1 ทะเบียน COSPAR เป็น 1977-084A และจรวดไททันที่ใช้ปล่อยจึงเป็น 1977-084B และ Voyager 2 เป็น 1977-076A นั่นก็เพราะว่า Voyager 2 ปล่อยก่อน Voyager 1 นั่นเอง

ในขณะที่ทะเบียนของดาวเทียมธีออส (THEOS-2) ของไทย ใช้ 2023-155A และใช้ทะเบียน SATCAT หรือ NORAD เป็น 58016

ข้อมูลดังกล่าว จะถูกนำมาจดทะเบียนอย่างละเอียดว่าวัตถุนั้น ๆ มีลักษณะของวงโคจรอย่างไร ปล่อยโดยประเทศอะไร คาบการโคจรเป็นเท่าไร รวมถึงปล่อยจากฐานปล่อยของประเทศอะไร

คำถามต่อมาคือแล้วหากเป็นยานอวกาศใช้ซ้ำเช่นกรณีของกระสวยอวกาศ จะมี COSPAR หรือไม่ คำตอบคือ มี โดยที่จะนับเลขใหม่ในแต่ละภารกิจ เช่น ภารกิจกระสวย STS-135 จะมี COSPAR เป็น 2011-031A แต่นาซา จะใช้ NSSDC เป็นแค่ SHUTTLE เท่านั้น ในขณะที่จรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ก็จะใช้วิธีเดียวกับกระสวยอวกาศคือมี COSPAR แต่จะไม่นับเป็น NSSDC ใหม่

ระบบทะเบียนของยานอวกาศจึงนี้บอกเราได้ว่าวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนแต่ละมาตรฐานจะแตกต่างกันออกไป จึงมีมาตรฐานหลายมาตรฐานไว้ใช้นั่นเอง

ที่มาภาพ: Unsplash
ที่มาข้อมูล: NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง