"พาณิชย์" หนุนเจรจา FTAไทย-อียู เน้นสวล.-การค้าสีเขียว

เศรษฐกิจ
22 ธ.ค. 66
18:02
247
Logo Thai PBS
"พาณิชย์" หนุนเจรจา FTAไทย-อียู  เน้นสวล.-การค้าสีเขียว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“ภูมิธรรม” ถกประธาน INTA คณะสมาชิกรัฐสภายุโรป ขอหนุนเจรจา FTA ไทย-อียู เห็นพ้องโลกยุคใหม่ เน้นการค้าสีเขียว สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน

วันนี้ (22 ธ.ค.2566) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดผยภายหลังหารือกับนาย Bernd Lange สมาชิกรัฐสภายุโรปและประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศ (Committee on International Trade: INTA) ของรัฐสภายุโรป นาง Heidi Hautala รองประธานรัฐสภายุโรป ผู้แทนจากรัฐสภายุโรปที่เป็นสมาชิก INTA

และผู้แทนกลุ่มการเมืองต่างๆ ของสหภาพยุโรป ซึ่งเดินทางเยือนไทย โดยได้ขอให้คณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศรัฐสภายุโรป ให้การสนับสนุนการเจรจา FTA ไทย-อียู เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาและมีผลใช้บังคับได้โดยเร็ว

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ได้ชี้แจงถึงการแก้ไขปัญหาสำคัญของรัฐบาลคือ ความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งทางรัฐธรรมนูญฯ และวิกฤตเศรษกิจ ที่เป็นความท้าทายของทุกประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และยังหารือประเด็นการค้าสำคัญอื่น ๆ

โดยไทยเห็นด้วยกับแนวโน้มและทิศทางของโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการค้าสีเขียว สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทำประมงที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องรับผิดชอบร่วมกัน และไทยมีแนวนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน

เน้นย้ำกับสมาชิกรัฐสภายุโรปเรื่องความร่วมมือระหว่างภาครัฐทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ภาคเอกชนไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรการภายใต้นโยบายอียูกรีนดีลโดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) และระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ได้อย่างราบรื่น

นายภูมิธรรม กล่าวว่า อียูให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และเห็นว่าทั้งสองฝ่ายจะยกระดับความร่วมมือในหลายมิติ โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-อียู เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยและอียู มีมูลค่า 35,013.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,206,685.59 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 1.96 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนการค้ารวมร้อยละ 7.30 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก

โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 18,247.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (624,969.91 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 4.42 และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 16,765.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (581,715.68 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 9.94

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์

 อ่านข่าวอื่น:

“ข้าวหอมมะลิไทย” ยืนหนึ่งตลาดฮ่องกง คาดปี 67 แข่งราคาเดือด

เปย์ไม่อั้น คนไทย 71% ทุ่มฉลอง "ปีใหม่"คาดสะพัดแสนล้าน

"กบฏฮูตี" โจมตีเรือสินค้าไม่กระทบไทย พณ.แนะเลี่ยงทะเลแดง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง