ปิ๊งไอเดียขึ้นภาษีน้ำมันกทม.-ปริมณฑล เกมบีบพรรคร่วม-ทำนโยบายหาเสียงเป็นจริง

การเมือง
22 ธ.ค. 66
18:28
131
Logo Thai PBS
ปิ๊งไอเดียขึ้นภาษีน้ำมันกทม.-ปริมณฑล เกมบีบพรรคร่วม-ทำนโยบายหาเสียงเป็นจริง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกฯ ลาพักร้อนได้วันกว่าๆ ส่อเค้าเกิดเกาเหลาคู่ใหม่ในทำเนียบฯ เมื่อสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เกิดไอเดียขึ้นภาษีน้ำมันเบนซิน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ราคาขายน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกลิตรละ 50 สตางค์ ด้วยเหตุผลเพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้บริการรถไฟมากขึ้น

โดยอ้างถึงพระราชบัญญัติตั๋วร่วม ซึ่งขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือสนข. อยู่ระหว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาเรื่องนี้ รวมทั้งที่มาของแหล่งเงินในกองทุนตั๋วร่วม

ปรากฏว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย โดยบอกว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ และยังไม่ได้รับการประสานเพื่อเจรจาหารือ แต่ส่วนตัวมองว่ากระทรวงพลังงานคงไม่ขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน แต่กำลังหาวิธีลดมากกว่าจะขึ้นภาษีสรรพสามิต เพราะจะไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องการจูงใจให้คนใช้รถไฟฟ้ามีหลายวิธี ต้องหารือกันก่อน ว่าควรใช้วิธีไหน เป็นการดิสเบรกโดยตรงจากหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ที่เพิ่งจะเจอดิสเบรกจากผู้นำรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการให้กดค่าไฟฟ้าไม่ให้เกินหน่วยละ 4.10 บาท

หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.มีมติให้ขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นหน่วยละ 4.68 บาทจากที่คิดอยู่หน่วยละ 3.99 บาท จนนายกฯร้องโอ๊ย! รับไม่ได้ ครั้งนั้น นายพีระพันธ์ ให้กกพ.ไปพิจารณาทบทวนใหม่เช่นกัน ทั้งวางแนวทางการปรับขึ้นไม่ให้เกินหน่วยละ 4.20 บาท แต่ตัวเลขของนายกฯ ให้กดลงอีกหน่วยละ 10 สตางค์

ก่อนที่ในการประชุมครม.19 ธันวาคม จะมีมติเห็นชอบลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยตรึงค่าไฟฟ้างวดใหม่เดือนม.ค.–เม.ย.2567 สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟน้อยกว่า 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 17 ล้านครัวเรือน ตรึงราคาไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย

ส่วนกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือน ครม.ให้ไปปรับลดเป็นไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย แต่จะปรับลดลงเท่าใดให้กระทรวงพลังงานพิจารณา

ด้านหนึ่งอาจสะท้อนความห่วงใยของรัฐบาลต่อภาระที่ประชาชนทั่วไปต้องแบกรับเรื่องค่าไฟฟ้า ทั้ง 2 พรรคร่วมรัฐบาลต่างร่วมไม้ร่วมมือกันโดยคำนึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นที่ตั้ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการขบเหลี่ยมกันอยู่ในที

เพราะเป็นเรื่องผลงาน อันจะมีผลต่อคะแนนนิยม และความศรัทธาของประชาชน ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตีกินคะแนนมาตั้งแต่ลดค่าไฟฟ้างวดก่อนเหลือหน่วยละ 3.99 บาท ยังไม่นับเรื่องลดราคาน้ำมัน แสดงให้เห็นว่าพรรครวมไทยสร้างชาติทำได้อย่างที่หาเสียงไว้

เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังเก็บสะสมแต้มจากมาตรการให้เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท และนโยบายแปลงสปก. เป็นโฉนด ที่จะเริ่มต้นแจกครั้งแรก8 มกราคม 2567 ที่ จ.เพชรบูรณ์ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จะไปเป็นประธาน

ต่างจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหลักอย่างดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 1 หมื่นบาท ถึงขณะนี้ก็ยังไม่ชัดว่า จะฝ่าหลายด่านได้หรือไม่ ค่าแรงขั้นต่ำปีแรกวันละ 400 บาท ก็ถูกดับความฝันไปแล้ว เงินเดือนข้าราชการเดือนละ 25,000 บาทยังเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ จนต้องไปเอานโยบายพักชำระหนี้สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร กลับมาปัดฝุ่นใช้ใหม่ ให้พอจะพูดได้ว่าเป็นผลงานไปรัฐบาล ไปพลาง ๆ ก่อน

ก่อนหน้านี้ รวมไทยสร้างชาติก็เจอฤทธิ์เดชของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาแล้ว จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือสอน ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มี น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล พรรครวมไทยสร้างชาติ ออกประกาศขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีกกิโลกรัมละ 4 บาท มีผล 28 ต.ค. แต่พอกลางเดือนพฤศจิกายน ครม.ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รัฐมนตรีพาณิชย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ กลับอนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำตาลทรายอีกเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท

ส่วนพรรคภูมิใจไทย ที่ดูแลกระทรวงแรงงาน โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรี เคยเจอกับอาการออกลูกไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงอีกวันละ 2-16 บาทที่คณะกรรมการไตรภาคีเคาะออกมาแล้ว

จนนายพิพัฒน์ต้องดึงออกจากวาระการประชุมครม.เพื่อไปทบทวนใหม่ แต่สุดท้ายก็เป็นตัวเลขเดิม ทั้งยังโดนนายธนิต โสรัตน์ ตัวแทนภาคนายจ้างสอนมวยว่า 40 ปี ไม่เคยมีรัฐบาลไหน ก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาของไตรภาคีเลย

สะท้อนให้เห็นการแข่งขันในเชิงการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น เต็มไปด้วยความเข้มข้นชิงไหวชิงพริบในที โดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีแต้มต่อในมือ คือมีพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมรอเข้าร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว จึงได้เห็นเกมขี่และบีบพรรคร่วมอยู่ในที

การปิ๊งไอเดียขึ้นภาษีน้ำมันในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล หวังกระตุ้นให้คนไปใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น ด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เพื่อให้นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดสาย 20 บาท ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ จะได้เป็นจริงแบบยั่งยืน ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ไม่แคล้วถูกมองว่า เป็นการส่งเสริมสนับผู้ประกอบการเอกชนที่ได้รับสัมปทาน ดำเนินการและเดินรถไฟฟ้าอยู่

อีกทั้งเรื่องน้ำมันและภาษีน้ำมัน เป็นเรื่องของกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรสามิต ไม่ได้เกี่ยวกับกระทรวงคมนาคม แต่ก็ยังอุตส่าห์หาทางเข้าไปเกี่ยวข้องได้ผ่านข้ออ้างตั๋วร่วม

“เก่ง” หรือ “เขี้ยว” ไม่รู้ แต่เป็นเรื่องที่ “สุดทึ่ง” จริง ๆ

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก.แรงงาน จัดเต็ม มอบของขวัญปีใหม่ 11 ชิ้น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ - ช่วยปลดหนี้

"พิพัฒน์" ขอกก.ไตรภาคีทบทวนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท

กมธ.แรงงาน เสนอรื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ-ชงตั้งสภาแรงงานจังหวัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง