จับตาอิหร่านลงสมรภูมิทางทะเล "ป่วนเดินเรือโลก"

ต่างประเทศ
25 ธ.ค. 66
14:57
448
Logo Thai PBS
จับตาอิหร่านลงสมรภูมิทางทะเล "ป่วนเดินเรือโลก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถานการณ์ตึงเครียดบริเวณทะเลแดงจากการโจมตีของกลุ่มฮูตี ทวีความรุนแรงมากขึ้นช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทเดินเรือหลายแห่งต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือเพื่อความปลอดภัย แต่ประเด็นที่น่ากังวล คือกระแสข่าวว่าอิหร่านก้าวลงสมรภูมิทางทะเลจะดังหนาหูมากขึ้น

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาพูดชัดเจนออกสื่อว่า อิหร่านโจมตีเรือในมหาสมุทรอินเดีย แม้ว่าตลอดช่วงมากกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา อิหร่านจะออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง แต่ทำเนียบขาว ยืนยันว่า อิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนโจมตี ขณะที่ข่าวกรองอิหร่านมีส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มฮูตีสามารถระบุเป้าหมายโจมตีเรือเพื่อบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาคได้

เรือหน่วยยามชายฝั่งอินเดียนำทางเรือสินค้า "เอ็มวี เคม พลูโต" เดินทางกลับเข้าฝั่ง โดยคาดว่าจะเข้าเทียบท่าที่นครมุมไบในวันนี้ หลังจากต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ เนื่องจากได้รับความเสียหายจากการโจมตีระหว่างกำลังลอยลำอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศประมาณ 370 กม.

บริษัทด้านความมั่นคงทางทะเลของอังกฤษ ระบุว่า เรือบรรทุกน้ำมันที่เดินทางมาจากซาอุดีอาระเบียลำนี้มีความเกี่ยวข้องกับอิสราเอล ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า อิหร่านส่งโดรนโจมตีเรือลำดังกล่าวจนทำให้เกิดเพลิงไหม้ แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

อิหร่านกับการโจมตีทางทะเลไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยข้อมูลจาก Foundation for Defense of Democracies ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ชี้ว่านับตั้งแต่เดือน ม.ค.2021 จนถึงเดือน ก.ค.ปีนี้ อิหร่านยึดเรือพาณิชย์และเรือรบ 12 ครั้ง โจมตีเรือ 7 ครั้ง และก่อกวนการเดินเรืออีกไม่ต่ำกว่า 7 ครั้ง

แม้พื้นที่ปฏิบัติการจะมีอยู่ในทะเลแดงด้วย แต่หลักๆ แล้ว จะจำกัดวงอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งอิหร่าน ทั้งในอ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการขนส่งเชื้อเพลิงไปทั่วโลก โดยในแต่ละวัน มีน้ำมันลำเลียงผ่านจุดนี้มากกว่า 20 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของการบริโภคน้ำมันทั่วโลก ขณะที่การโจมตีครั้งล่าสุดของอิหร่านเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า ถือเป็นการโจมตีเรือสินค้าเชิงพาณิชย์ครั้งที่ 7 แล้ว นับตั้งแต่ปี 2021

นี่ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมากล่าวหาอิหร่านว่า เกี่ยวข้องโดยตรงกับการโจมตีเส้นทางการค้าทางทะเล นับตั้งแต่กลุ่มฮูตีในเยเมนออกมาเคลื่อนไหวเมื่อปลายเดือนที่แล้ว โดยเหตุโจมตีในครั้งนี้ยิ่งโหมกระพือความกังวลต่อวิกฤตความขัดแย้งในกาซาที่อาจลุกลามขยายวงไปสู่วิกฤตการเดินเรือโลก

แม้ว่าฮูตีจะประกาศพุ่งเป้าโจมตีไปที่เรือที่มีความเกี่ยวข้องกับอิสราเอล แต่การจำแนกว่า เรือพาณิชย์ลำไหนเป็นของใครไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจการเดินเรือซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ และหากอิหร่านก้าวลงสมรภูมิรบทางทะเลขึ้นมาจริงๆ ก็น่าจะทำให้การป้องกันการโจมตีทำได้ยากมากยิ่งขึ้น

อ่าน : สหรัฐฯ กล่าวหา "อิหร่าน" ใช้โดรนโจมตีเรือนอกชายฝั่งอินเดีย

สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิหร่านมีอาวุธครบมือ ทั้งขีปนาวุธและโดรนที่ผลิตขึ้นเอง ขณะที่ชาติตะวันตกน่าจะไม่อยากใช้ยาแรงโจมตีตอบโต้อิหร่าน หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่อิหร่านสนับสนุนอย่างฮูตี เนื่องจากกังวลถึงความเสี่ยงในการทำให้สงครามบานปลาย

ที่ต้องจับตามองหลังจากนี้ คือ ความเคลื่อนไหวของอิหร่านในน่านน้ำอื่นๆ ของโลก หลังจากสื่ออิหร่านรายงานอ้างผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม ว่าอิหร่านอาจปิดเส้นทางเดินเรือผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ช่องแคบยิบรอลตาร์และเส้นทางทะเลอื่นๆ ถ้าสหรัฐฯ และพันธมิตรยังเดินหน้าก่ออาชญากรรมในกาซา

แต่ที่น่าสนใจ คือ อิหร่านไม่ได้ระบุว่า จะใช้วิธีไหนในการปิดเส้นทางเดินเรือที่อยู่ไกลออกไปจากดินแดนของตัวเอง โดยเฉพาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เต็มไปด้วยเรือรบของชาติตะวันตก ขณะที่พันธมิตรที่อิหร่านอาจจะพึ่งพาได้ในบริเวณนั้น อย่างซีเรียและเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน ก็ไม่น่าจะมีขีดความสามารถมากพอ

อีกหนึ่งสัญญาณที่ต้องจับตามอง คือ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตร หลังจากรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ประกาศรายชื่อประเทศเข้าร่วมปฏิบัติการปกป้องทะเลแดง แต่รัฐบาลของบางประเทศกลับออกมาโต้แย้ง เช่น สเปนที่ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมปฏิบัติการที่นำโดยสหรัฐฯ เนื่องจากต้องทำภายใต้สหภาพยุโรปและนาโต

ขณะที่รัฐบาลอิตาลี ระบุว่า มีปฏิบัติการในลักษณะนี้ในภูมิภาคนี้อยู่ก่อนแล้วและไม่ได้เข้าร่วมกับสหรัฐฯ ส่วนฝรั่งเศส ยืนยันว่า เรือรบในภูมิภาคจะยังคงอยู่ภายใต้การสั่งการของฝรั่งเศสและยังไม่มีแผนส่งกำลังรบไปเพิ่ม การสู้รบในกาซาไม่เพียงแต่ทำให้อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น สงครามในครั้งนี้ยังอาจทำให้สหรัฐฯ โดดเดี่ยวมากขึ้นอีกด้วย

อ่าน : "ไบเดน" สายตรง "เนทันยาฮู" วอนปกป้องพลเรือนในกาซา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง