บอร์ด สปสช.อนุมัติผู้ป่วยบัตรทองรักษา "มะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน"

สังคม
25 ธ.ค. 66
18:05
453
Logo Thai PBS
บอร์ด สปสช.อนุมัติผู้ป่วยบัตรทองรักษา "มะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บอร์ด สปสช. อนุมัติสิทธิประโยชน์รักษามะเร็ง “ฉายแสงด้วยอนุภาคโปรตอน” เพิ่มประสิทธิผลการรักษา ลดผลข้างเคียง ดูแลผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง

วันนี้ (25 ธ.ค.2566) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมีวาระพิจารณา “ข้อเสนอการเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” นำเสนอโดย นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้เข้าถึงการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ที่เป็นการยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง อัปเกรด (Upgrade)) เป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญทำให้นโยบายนี้บรรลุเป้าหมายได้ และเพื่อให้เกิดความครอบคลุมการรักษาที่ดียิ่งขึ้น

ในวันนี้บอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนในระบบบัตรทอง ซึ่งเป็นวิธีการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนที่เป็นเทคนิคการฉายรังสีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและมีผลข้างเคียงลดน้อยลง โดยหลังจากนี้ สปสช. จะจัดทำประกาศเพื่อรองรับการจ่ายชดเชยตามที่กำหนดต่อไป

“มติบอร์ดในวันนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งอย่างมาก ช่วยให้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งจากข้อมูลในระบบของ สปสช. พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาเข้าข่ายที่จะรับบริการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนนี้ได้ประมาณ 32,000 รายต่อปี (ข้อมูลจากฐาน IP ปี 65 ของ สปสช.) โดยในปี 2565 ใช้งบประมาณที่จำนวน 50 ล้านบาทต่อปี ในการดูแลผู้ป่วย” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่มาของสิทธิประโยชน์นี้มาจากข้อเสนอของสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นข้อเสนอที่ได้จากการประชุมทีมแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาผู้เชี่ยวชาญการฉายรังสีโรคมะเร็งในเด็ก และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2566

ทั้งการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนเป็นวิธีรักษามะเร็งที่มีประสิทธิผล มีอัตราการควบคุมโรคเฉพาะที่และการรอดชีวิตที่สูงในกลุ่มโรคมะเร็งสมองในเด็ก ช่วยลดผลข้างเคียงในทุกด้านเมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีโฟตอนแบบเดิม โดยการรักษาต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย แพทย์รังสีรักษา แพทย์รังสีวินิจฉัยแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ กุมารแพทย์ทางโลหิตวิทยาและรังสี (กรณีผู้ป่วยเด็ก) วิสัญญีแพทย์ นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิค พยาบาล และวิศวกร

ปัจจุบันในประเทศไทยมีหน่วยบริการที่ให้บริการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนเพียงแห่งเดียว คือศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพฯ รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดให้บริการมาตั้งแต่สิงหาคม 2564 ดังนั้นในบริหารจัดการจ่ายชดเชย สปสช. จึงใช้รูปแบบเหมาจ่ายรายปี จำนวน 50 ล้านบาท ให้แก่ ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมให้มีการจัดระบบการส่งต่อ ประสานงาน เพื่อจัดบริการให้แก่ผู้ป่วยทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในกรณีการนำส่งผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วยอัตราเฉลี่ย 2,300 บาทต่อครั้ง

“หลังจากบอร์ด สปสช. เห็นชอบแล้ว จากนี้ สปสช. จะออกประกาศหลักเกณฑ์รองรับการจ่ายชดเชยค่าบริการ พร้อมดำเนินการตามที่บอร์ด สปสช. มอบหมาย ทั้งการกำกับติดตามประเมินผลการเข้าถึงบริการ การประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลการรักษา รวมทั้งจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยเพื่อความสะดวกในการเข้ารับบริการอย่างเท่าเทียมกันทุกสิทธิ และรายงานต่อคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุดฯ ทุก 4 เดือน และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ

นอกจากนี้จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นที่นอกเหนือจากทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนบริการและการดูแลผู้ป่วย เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

อ่านข่าวอื่นๆ :

หายาก ป่วย 1 ในล้าน Stiff-person syndrome "โรคคนแข็ง"

เครือข่ายฯสุขภาพ ร้อง สธ.เร่งคลอดนโบายเข้าถึงการรักษา "จิตเวช"

สธ.ห้ามขาย "ใบกระท่อม" ให้สตรีมีครรภ์ -เด็กต่ำกว่า 18 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง