“แม่แจ่ม” กับแนวทางแก้ปัญหาไฟ-ฝุ่น ยั่งยืน ?

ภูมิภาค
25 ธ.ค. 66
18:01
387
Logo Thai PBS
“แม่แจ่ม” กับแนวทางแก้ปัญหาไฟ-ฝุ่น ยั่งยืน ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นอำเภอที่มีจุดความร้อนมากที่สุดในช่วงหลายปี แต่ผลสำเร็จของการจัดการปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน ทำให้เกิดรูปแบบ “แม่แจ่มโมเดล” ต้นแบบการแก้ปัญหา แม้จะประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแต่ยังเกิดคำถามความยั่งยืนของโครงการ

ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ได้พูดคุยกับ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อดีตนายอำเภอแม่แจ่ม ผู้ริเริ่มโครงการแม่แจ่มโมเดล เล่าถึงแนวคิดการแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันจนเป็นโมเดลการแก้ปัญหาฝุ่นของประเทศ ในอดีตไฟป่าและฝุ่นควัน จ.เชียงใหม่เมื่อ ปี 2557 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักจนเครื่องบินลงจอดไม่ได้

เมื่อ 2557-58 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้นได้มอบหมายให้ลงมาเป็นนายอำเภอเพื่อแก้ปัญหา และให้เร่งทำแผนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาเพราะอำเภอแม่แจ่มเป็นพื้นที่พบจุดความร้อนมากที่สุดของเชียงใหม่

ปัญหาที่พบพื้นที่ป่า 1.7 ล้านไร่ ที่เป็นต้นน้ำแจ่ม เป็นป่าแต่ในเอกสาร แต่ความเป็นจริงเป็นไร่ข้าวโพด ต้องการสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่าไม่ใช่ป่าที่กำหนดไว้ในกระดาษ มีคนอาศัยอยู่และทำพื้นที่เกษตรกรรม มีชุมชนมาอยู่นับร้อยปี ตั้งแต่ปี 2447 มีนายอำเภอคนแรก มีชุมชนแล้ว แต่กลับพบปัญหาคุณภาพชีวิตแตกต่างจากพื้นที่ราบ

ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุดในเชียงใหม่

แม่แจ่มโมเดล เกิดจากทำอย่างไรไม่ให้มีไฟ?

อ.แม่แจ่ม เป็นอำเภอที่มีสถิติที่เก็บ 15 ก.พ.-15 พ.ค. ช่วงห้ามเผาและผิดกฎหมาย กลับพบจุดความร้อนมากกว่า 500 จุดทุกปี จึงเร่งหาสาเหตุและป้องกัน ได้พบปัญหา เช่น การเข้าป่าล่าสัตว์ หาของป่า แก้ปัญหาโดยเรียกชาวบ้านมาคุย และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรใน อ.แม่แจ่ม นำข้อมูลมาศึกษาพบว่า ข้าวโพดมีพื้นที่ปลูก 1 แสนกว่าไร่ มีเศษวัสดุเหลือใช้ราว 9.5 หมื่นตันเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี โดยเฉพาะต้นข้าวโพดมีอยู่ราว 6 หมื่นตัน ซึ่งบริบทของแม่แจ่มร้อยละ 90 เป็นภูเขาถ้าไม่จัดการต้นข้าวโพด เชื้อเพลิง6 หมื่นตันก็จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี และเปลือก ซังข้าวโพดที่กองอยู่ 36 จุดใหญ่ในอำเภอ

“ชิงเผา” ไฟจำเป็นทางออกจัดการเชื้อเพลิง

การเกิดไฟคนเป็นผู้จุด มีการเรียกชาวบ้านมาพูดคุย ปัญหาหาไม่เผาจะจัดการอย่างไรในพื้นที่ข้าวโพด 9.5 หมื่นตัน พบข้อมูลว่าพื้นที่ร้อยละ 90 เป็นภูเขาสูงยังมีความจำเป็นตัองเผาจนเป็นที่มา “ชิงเผา” หรือ “ไฟจำเป็น” งานวิจัยของ ม.เชียงใหม่ นำมาปรับใช้ เช่นก่อนเผา ต้องทำแนวกันไฟ ทิศทางลม ไม่ให้ลามเข้าป่า เผาตามห้วงเวลา เป็นวิธีในแผน ขณะเดียวกันเปลือกข้าวโพด 36 จุดก็จัดหาคนรับซื้อไปเป็นพลังงานเชื้อเพลิง และยังนำงานวิจัยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงมาปรับใช้

วิกฤตไฟ-ฝุ่น รับสถานการณ์อย่างไร?

การรับมือการเผา ไฟป่า และฝุ่นควันแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ เช่น พื้นที่ป่า ในป่าอนุรักษ์ หัวหน้าอุทยานฯ ป่าสงวน หัวหน้าป่าฯ ที่สำคัญคนที่อยู่และทำการเกษตรในพื้นที่ป่า ถ้าไม่เผาจะทำอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้นำไปสู่เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคุยกับชาวบ้านจะผลักดัน การให้สิทธิในที่ดิน จนชาวบ้านมีความหวัง เชื่อและให้ความร่วมมือไม่เผา จึงเขียนแผนร่วมกันเมื่อปลัดกระทรวงมหาดไทยเห็นก็ให้ทุกจังหวัดใช้แนวทางของแม่แจ่มเป็นต้นแบบ จึงเกิดแม่แจ่มโมเดลขึ้น

ความสำเร็จ 60 วันแรกห้ามเผาไม่มีจุดความร้อน ที่ผ่านมาแม่แจ่มคืออำเภอที่มีจุดความร้อนแย่สุด ปีนั้นกลับเป็นอำเภอที่มีจุดความร้อนน้อยสุด

หลังจบ พ.ค.ช่วงห้ามเผา อ.แม่แจ่มมีจุดความร้อน 31 จุด ลดลงกว่าร้อยละ 94 เมื่อเข้าสู่วันที่ 61 หลังประกาศห้ามเผาพบว่าไหม้กันหมด จึงทำให้ทราบว่าการแก้ปัญหาแนวทางนี้ไม่ยั่งยืน

แก้ปัญหาไฟ กำหนดมาตรการเพื่อความยั่งยืน

เมื่อมองกระบวนการผลิต พฤติกรรมการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พบพฤติกรรมการใช้ไฟ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม “รากของปัญหาไม่ถูกปรับ” จะแก้อย่างไรให้ยั่งยืน จึงเกิด “แม่แจ่มโมเดลพลัส” การขับเคลื่อนนโยบาย ปี 2561 มี มติ คณะรัฐมนตรีเรื่องการให้สิทธิ์ในที่ดินในเขตป่า ปี 2562 ผลักดันกฎหมาย 4 ฉบับ คือ ป่าอนุรักษ์,ป่าสงวน,ป่าชุมชน,คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ เพื่อสอดรับการจัดระเบียบคนกับป่าอย่างชัดเจนมีระบบขึ้น

แม่แจ่มโมเดล+พลัส สู่ “แม่แจ่มแซนด์บ๊อกซ์”

แม่แจ่มโมเดล ปัจจุบันการกลัดกระดุมเม็ดแรก รัฐบาลเห็นแล้วในกระบวนการ และยังมีความล่าช้าหลายขั้นตอน
เรื่องแรก การมอบสิทธิที่ดิน ยังอยู่กระบวนการพิสูจน์ ตรวจสอบ กรอบ 5 แสนไร่เป็นกรอบที่มีรายละเอียด ต้องขยับต่อ ยังไม่มีความชัดเจน
เรื่องสอง ความยั่งยืนยังไม่เกิด วัดจากการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเกษตรกรบนพื้นที่แม่แจ่ม จากจำนวนแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเชิงเดี่ยว ไม่ควรอยู่ป่าต้นน้ำ กระทบระบบนิเวศ

เรื่องสาม การให้สิทธิ์ที่ดิน แต่การปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตร ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ พฤติกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องที่ต้องใช้กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมที่ไม่ง่าย ที่จะให้คนกว่า 5 หมื่นคน 3 พันกว่าครอบครัวเปลี่ยน ต้องมีแผนที่เป็นระบบและมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน

ถ้า 5 ปีต่อจากนี้ไปจะเป็นภาพฝัน การจัดระเบียบพื้นที่ชัดเจน เทคโนโลยีวัดได้ทั้งหมด อยู่ที่กระบวนการที่จะวางแผนต่อจากนี้
สิ่งที่อยากเห็นคือ แผนโครงการ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ รัฐบาลตั้งพื้นที่แม่แจ่มเป็นพื้นที่ทดลอง “แม่แจ่ม แซนด์บอกซ์“ นำร่องการปรับเปลี่ยน สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน บูรณาการภาควิชาการ หน่วยงานที่ประสบความสำเร็จ เช่น สถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง มีความเชี่ยวชาญปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำเกษตรบนพื้นที่สูง ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างความยั่งยืน

ตอบคำถามว่าการกลัดกระดุมเม็ดแรก ใช่คำตอบที่แท้จริงหรือไม่ ให้จุดความร้อนลดลงอย่างยั่งยืน

แก้ปัญหาไฟป่าแก้ที่ ความยากจน

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ระบุว่าพื้นที่ลุ่มน้ำแจ่ม อ.แม่แจ่ม เป็นลุ่มน้ำสำคัญแม่น้ำปิง มีปัญหาอย่างยาวนาน คือ สูญเสียพื้นที่ป่า แม้หลายหน่วยงานไปช่วยกันแต่ปัญหาใหญ่ คือ การแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืน ที่ผ่านมามีข้อจำกัด ปัญหาแม่แจ่ม คือความยากจน ชาวบ้านขาดโอกาส พึ่งวิถีที่รบกวนพื้นที่เยอะทางการเกษตร ใช้วิถีการเผาทำให้เกิดฝุ่นควันทุกปี

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง

แนวทางการแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืนต้องแก้ ความเป็นอยู่ อาชีพ การแก้ปัญหาที่รากของปัญหาคือ “ความยากจน” ใช้โมเดลของโครงการหลวง ที่พระราชทานมาปรับใช้ เพียงแต่ที่ผ่านมายังขยายไม่ทั่วถึง ให้ชาวบ้านใช้ทรัพยากรน้อย แต่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยนำความรู้ด้านงานวิจัยเข้ามาพัฒนาอาชีพ แก้การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด

หลักเกษตรประณีต 1 ไร่ สามารถแทนการปลูกข้าวโพด 50 ไร่ จะทำให้ลดการใช้ทรัพยากรแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ปัญหาก็จะหมดไป

การแก้ปัญหาต้องใช้ระยะเวลา ความต่อเนื่อง

นายวิรัตน์ ระบุว่า การแก้ปัญหาเกษตรประณีตต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ที่กำลังทำขณะนี้ต้องช่วยแม่แจ่ต่อเนื่องพอทำ 2 ปี ไม่สำเร็จ หลายครั้งที่ทำงานทำดีมาระดับหนึ่งไม่สำเร็จเพราะโครงการหมด สถาบันมีจุดแข็งเป็นหน่วยงานทำงานพื้นที่มาอย่างยาวนานจะไปเติมเต็มส่วนราชการ หรือโครงการต่างๆที่มีระยะเวลาสั้นไปเสริมพลังจับมือร่วมกันสร้างความยั่งยืนกับท้องถิ่น ด้วยการระดมสรรพกำลังและงานวิจัย เพื่อทำ ”พื้นที่ต้นแบบการทำงานแบบใหม่ เพื่อเคลื่อนปัญหาใหญ่ๆ“

ปัจจุบันการทำงาน อ.แม่แจ่ม มีมูลนิธิโครงการหลวง 4 แห่งช่วยเหลือ 56 หมู่บ้าน ช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา และขยายหน่วยงานโครงการหลวงไปตั้งเรียกว่า ”โครงการพัฒนาบนพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง“ อีก 2 แห่ง กว่า 50 หมู่บ้าน ที่ บ.ปางหินฝน บ.แม่มะลอ ขณะนี้กำลังขยายการพัฒนาออกไป โดยร่วมกับ อปท.ในพื้นที่ทั้งหมดใน อ.แม่แจ่ม เน้นหมู่บ้านยากจน ปลูกข้าวโพดเยอะ และเกิดไฟป่า เพื่อให้เกิดการรวมพลังทุกภาคส่วน

ชาวบ้านรู้อยู่แล้วการเผา ไม่ดี แต่การไถกลบในพื้นที่ลาดชันทำไม่ได้ ต้นทุนสูงใช้เวลานาน การใช้ภูมิปัญญาดั่งเดิม คือเผา ต้นทุนถูกและทำได้เร็ว

ปัญหาการเผา 6 แสนไร่ ในพื้นที่เกษตรกรรมมีเพียง 1.7 หมื่นไร่ ที่เป็นปัญหาคือไฟพื้นที่เกษตรกรรมลามไปพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ต้องแยกการแก้ปัญหาเร่งสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน ปัญหาไฟในพื้นที่เกษตรกรรม คาดว่าใช้เวลาอีก 3-4 ปีจะไม่มีปัญหา แต่โจทย์ใหญ่ขณะนี้จะขยายโครงการไปหมู้บ้านนอกโครงการอย่างไร ภายใต้งบประมาณที่เท่าเดิม ซึ่งจะต้องหารูปแบบใหม่ๆโดยเฉพาะท้องถิ่นให้มาทำงานร่วมด้วย

นายสุวรรณชาติ หนักแน่น นักวิชาการเกษตรชำนาญการ อบต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ระบุถึงการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 คุยกับชาวบ้านถึงปัญหาความต้องการ ทุกคนสอบถาม “ถ้าไม่ปลูกข้าวโพด แล้วจะเปลี่ยนปลูกอย่างอื่นได้ไหม” ชาวบ้านตอบเป็นเสียงเดียวกัน ว่า “ จะให้ปลูกอะไรในพื้นที่ไม่มีน้ำใช้สำหรับการปลูกพืชชนิดอื่น” จึงจัดทำแผนชุมชนอย่างเข้มข้นกับทุกภาคส่วน “ชาวบ้านอยากทำระบบน้ำ”

บ่อพวงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกว่า 40 บ่อ บ.แม่วาก ต.แม่นาจร จ.เชียงใหม่ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

ช่วงแรกทำระบบน้ำชาวบ้านระดมทุน พื้นที่การเกษตรบ้านแม่วาก เป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการทำกิน ของบประมาณใช้วิธีการขออนุญาตปรับปรุงระบบน้ำ ระบบส่งน้ำ โดยให้ชาวบ้านเแรงงานสมทบ และหน่วยงานภาคีต่างๆระดมทุนจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2559 เริ่มดำเนินการได้ปี 2560 วางระบบท่อจากพื้นที่ต้นน้ำห่างจากพื้นที่ทำกินราว 8 กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่ที่ดอยอินทนนท์ ใช้เวลา 2 ปีกว่าระบบน้ำจะมาถึง เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด

หน่วยงาน อบต.แม่นาจร นำเครื่องจักรเริ่มแรกการขุดหลุมพวงบนสันเขา ภาคีเครือข่าย สวพส.มีงบประมาณจัดซื้อพลาสติกคลุมบ่อ และขอสนับสนุนช่างเทคนิคงบประมาณจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลซึ่งมีความรู้มาเป็นพี่เลี้ยงช่วยออกแบบวางระบบนี้ให้กระจายครอบคลุมให้ใช้ประโยชน์มากที่สุด

ก่อนหน้านี้มีหลายหน่วยงานมาสนับสนุนกล้าไม้ ต้นไม้ต่างๆ หวังดีอยากจะมาปรับเปลี่ยน แต่ความต่อเนื่องปัญหาสภาพพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำ ความต่อเนื่องที่มาเอาใจใส่ก็ขาดเป็นระยะ ทำให้ต้นไม้ตายไปเรื่อยๆ พื้นที่ก็กลับมาปลูกข้าวโพดเหมือนเดิม

ปี 2562 ระบบน้ำมาถึงเริ่มคัดเลือกเกษตรกรที่สนใจ “เป้าหมายไม่ได้ห้ามปลูกข้าวโพด แต่ขอความร่วมมือปลูกต้นไม้ผล วางแผนให้ได้ผลผลิตในระยะ 3-5 ปี”

ในระหว่างที่ไม้ผลรอให้ผลผลิตชาวบ้านต้องมีรายได้ ระยะสั้นเติมด้วยการปลูกพืชในโรงเรือน สามารถสร้างรายได้ระยะสั้นทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการทำอาชีพ และหนุนเสริมระบบน้ำ องค์ความรู้เฉพาะด้าน บูรณาการโครงการพัฒนาเกษตรบนพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง

ก่อนหน้านี้มีงบประมาณไปเยอะพอสมควร แต่ไม่มีความต่อเนื่อง องค์ความรู้ เหมือนชาวบ้านไม่มีที่ปรึกษา ชาวบ้านก็กลับไปปลูกข้าวโพด

การปรับเปลี่ยนการผลิตในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมาสามารถสร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ให้เห็นตัวอย่างกระบวนการสร้างรายได้เพิ่ม มีอาชีพทางเลือกที่มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพด ที่เป็นจำเลยของสังคม ด้วยความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน เกษตรกรที่อยากเปลี่ยนมีทีมงานไปเป็นพี่เลี้ยงให้กำลังใจ นำความรู้และงบประมาณร่วมขับเคลื่อน ปี 2563-ปัจจุบันเห็นความเปลี่ยนแปลงพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้น พื้นที่สามารถสร้างรายได้กับเกษตรกร

ปัจจุบันบ้านแม่วาก ต.แม่นาจร มีแปลงต้นแบบ 3 รูปแบบหลักๆ ชวนชาวบ้านวิเคราะห์จากตัวเกษตร กลุ่มแรก มีพื้นที่หลายแปลง ชวนแยกแต่ละแปลงจากเปลี่ยนข้าวโพด เป็นปลูกผลไม้ชนิดอื่น ต้นไม้ระยะยาว เช่น ไม้สัก ไม้มีค่าต่างๆ

กลุ่มสอง มีพื้นที่ 1-2 แปลง เกษตรกรออกแบบที่ดินของตัวอง โดยเพิ่มพืชไม้ผล กันพื้นที่ปลูกข้าวโพดได้ กลุ่มที่สาม เปลี่ยนเกษตรกรทำพืชระยะสั้น พืชในโรงเรือน การมีรูปแบบสามแบบเหมือนเป็นทางเลือกให้เกษตรกรเลือกให้เหมาะสมกับตัวเอง ระหว่างรอบไม้ผล 1-2 ปีแรกต้นไม้ยังไม่โต เกษตรกรยังสามารถปลูกข้าวโพดหารายได้ใช้ในครัวเรือน ชำระหนี้ที่ผูกพันมาตลอด ทำให้เกษตกรรู้สึกเหมือนไม่ได้ถูกบีบบังคับให้ปรับเปลี่ยนทีเดียว

นโยบายภาครัฐจะตัดปีงบประมาณ การวิจัยต้องทำให้เห็นระยะสั้น แต่เปลี่ยนแปลงจะสู่ความยั่งยืนต้องใช้เวลา จะเห็นการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี เริ่มเห็นการปรับเปลี่ยน แต่จะเห็นชัดเจนอาจเป็น 10 ปี จะเห็นพื้นที่สีเขียว รายได้แน่นอน

โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง