จะเกิดอะไรขึ้น ? หากมนุษยชาติไม่สามารถทำตาม “สนธิสัญญาปารีส” ได้

Logo Thai PBS
จะเกิดอะไรขึ้น ? หากมนุษยชาติไม่สามารถทำตาม “สนธิสัญญาปารีส” ได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แนวโน้มของสถานการณ์การรับผิดชอบของกลุ่มประเทศต่าง ๆ ระหองระแหง โลกของเราในอนาคตหากไม่สามารถควบคุมให้อุณหภูมิโลกของเราร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษยชาติจะต้องรับมือกับภัยพิบัติอะไรบ้าง ความล้มเหลวในการทำตาม “สนธิสัญญาปารีส”

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนระอุอยู่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วทุกมุมโลกใน ณ ขณะนี้ บวกกับสถานการณ์ภายในการประชุม COP28 ที่แนวโน้มของสถานการณ์การรับผิดชอบของกลุ่มประเทศต่าง ๆ ระหองระแหง โลกของเราในอนาคตหากไม่สามารถควบคุมให้อุณหภูมิโลกของเราร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษยชาติจะต้องรับมือกับภัยพิบัติอะไรบ้าง ความล้มเหลวในการทำตาม “สนธิสัญญาปารีส” ที่บรรดาผู้นำประเทศเคยตกลงกันไว้ จะนำไปสู่สิ่งใด

การประชุม COP28 ซึ่งจัด ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค. 2023 มีประเด็นเกี่ยวกับทิศทางของเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งยืดเยื้อกว่า 40 ชั่วโมง เนื่องจากมีการพูดถึงเรื่องข้อเสนอในการ “ยุติ” การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน) แต่ถูกต่อต้านจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งแย้งว่าโลกสามารถลดการปล่อยมลพิษได้โดยไม่ต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพียงอย่างเดียว

การประชุมครั้งนี้จบลงเพียงแค่ข้อตกลงที่จะ “เรียกร้อง” ให้หลายประเทศ “เปลี่ยนผ่าน” การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแทนการ “ยุติ” การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งทำให้ผลลัพธ์ของการประชุมในครั้งนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรจากการประชุมในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ภาพรวมของการประชุมดูเหมือนจะไร้ค่าในสายตาของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ ท่านที่มองว่าเพียงแค่การจบการประชุมที่สร้างข้อตกลงให้ “เปลี่ยนผ่าน” การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแทนการ “ยุติ” แค่เฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงาน แต่ไม่ใช่ในอุตสาหกรรมพลาสติก การคมนาคม และการเกษตร จะไม่ทำให้โลกสามารถรักษาขีดจำกัดอุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้

ารจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในงานการประชุม United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ในปี 2015 และเกิดเป็น “สนธิสัญญาปารีส” ขึ้นเพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส และจะพยายามให้ดีที่สุดเพื่อจะไม่ให้อุณหภูมิของโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในปี 2100

การจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น ได้มาจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการประเมินที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ในรายงานที่เผยแพร่ของ IPCC ระบุว่า การจำกัดสภาวะโลกร้อนไว้ไม่ให้มากเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกินไปถึงระดับ 2 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ดี จากการติดตามและคาดคะเนอุณหภูมิของโลกที่ได้บันทึกมาตลอด กลับพบว่าเรากำลังจะเดินในเส้นทางที่ค่อย ๆ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ข้อมูลจากการศึกษาหลายชิ้นระบุว่าเราจะแตะระดับของอุณหภูมินั้นภายใน 10 ปีต่อจากนี้ มิหนำซ้ำ ท่าทีของระดับการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกดูเหมือนจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นจนตอนนี้เส้นจำกัดอุณหภูมิที่ 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น ดูเหมือนมนุษยชาติจะไม่สามารถทำสำเร็จได้

นอกจากนี้ วิกฤติความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งในวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน, สงครามกลางเมืองเมียนมา และสงครามระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่กำลังดำเนินอยู่นั้น ไม่ได้มีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอน แต่กลับยิ่งเพิ่มการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ไม่ว่าจะมาจากการเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างเพื่อยุทธวิธีหรือการก่อสร้างเมืองขึ้นใหม่ภายหลังจากการสู้รบ ก็ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

รวมถึงความต้องการพลังงานที่ไม่ท่าทีที่จะลดลงของมนุษยชาติ ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ท้าทายท่ามกลางวิกฤติการเมืองโลกในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน เช่น การกีดกันการค้าระหว่างเยอรมนีกับรัสเซียภายหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ก็ทำให้เกิดวิกฤตการณ์การขาดแคลนพลังงานภายในเยอรมนีเอง เนื่องจากการยกเลิกการส่งแก๊สธรรมชาติเหลวจากรัสเซียให้แก่เยอรมนีผ่านทางท่อแก๊ส Nord Stream ส่งผลให้เยอรมนีที่กำลังดำเนินแผนการลดการปล่อยคาร์บอนสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังพลังงานสะอาดเกิดการหยุดชะงัก ซ้ำร้าย เยอรมนีที่กำลังดำเนินแผนการยกเลิกการใช้พลังงานจากนิวเคลียร์ก็อยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะพลังงานที่เลือกใช้ เป็นพลังงานเปลี่ยนผ่านที่ปล่อยมลพิษน้อยที่สุดอย่างแก๊สธรรมชาติเหลวก็ไม่สามารถใช้การได้เนื่องจากความขัดแย้งกับรัสเซีย พลังงานนิวเคลียร์ที่เป็นพลังงานที่ค่อนข้างสะอาดก็ได้ยกเลิกการใช้งานไปอีก หนทางในการแก้ปัญหาของพวกเขาจึงมีแต่การต้องใช้พลังงานที่สกปรกเฉกเช่นเดิม

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยังไม่รวมกับอีกหลายสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจากความขัดแย้งของรัฐชาติต่าง ๆ และมันกำลังส่งผลเสียต่อแผนการลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกที่เราเคยได้ตกลงกันไว้

จะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่สามารถดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนได้ ตามที่ได้ทำการตกลงใน “สนธิสัญญาปารีส”

ภาพจำของใครหลายคนในวิกฤติภาวะโลกร้อนคือการที่มนุษยชาติถึงคราวสูญพันธุ์จากโลกใบนี้ แต่ความจริงแล้วโลกไม่ได้ดำเนินไปเช่นนั้น แต่มันจะดำเนินไปในภาพที่มนุษยชาติจะพบเจอแต่กับภัยพิบัติที่ยากต่อการรับมือ

หนึ่งในสิ่งที่เราจะพบเจอกันอย่างแน่นอนคือความไม่มั่นคงทางอาหาร มนุษย์ 7,000 ล้านคนกำลังรับประทานอาหารจากพืชกลุ่มหลักที่มีจำนวนเพียง 20 สายพันธุ์เท่านั้น หากพืชสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งสูญพันธุ์หรือมีจำนวนผลผลิตที่น้อยกว่าที่เพาะปลูกได้ นั้นหมายถึงความไม่มั่นคงทางอาหารที่กำลังเกิดขึ้นกับประชากรหมู่มากของคนทั้งโลก อีกทั้งงานวิจัยหลากหลายงานสรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน นั้นส่งผลให้พืชในกลุ่มธัญญาหารทั้งข้าวสารและข้าวสาลีมีสารอาหารภายในเมล็ดข้าวลดลง อาจทำให้เกิดการขาดแคลนสารอาหารที่เพิ่มขึ้นในประชากรหมู่มากได้

การสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะประสบพบเจอเช่นกัน หากเรายังคงไม่สามารถจำกัดการปล่อยคาร์บอนลงได้ ธารน้ำแข็งขนาดมหึมาในแอนตาร์กติกาจะพบเจอกับอุณหภูมิที่สูงกว่า 10 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน นั่นหมายถึงธารน้ำแข็งกำลังละลายในอัตราที่เร็วขึ้นกว่าในอดีต ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งประเทศกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบกลุ่มแรกคงหนีไม่พ้นประเทศกลุ่มหมู่เกาะในแปซิฟิก และตามมาด้วยประเทศที่มีพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ตามแนวชายฝั่ง ทั้งอียิปต์ เนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงภาคกลางของประเทศไทยที่มีโอกาสจะประสบกับปัญหาน้ำทะเลหนุนทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามฤดูกาลที่ยากต่อการแก้ไขปัญหามากขึ้น

ความแปรปรวนของสภาพอากาศคืออีกปัจจัยที่สำคัญ เรากำลังจะพบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่แปรปรวนและรุนแรงมากยิ่งขึ้น ระบบคาดการณ์สภาพอากาศที่เราใช้งานมาอย่างยาวนานมีแนวโน้มที่จะคาดการณ์สภาพอากาศไม่แม่นยำเท่าเดิม สวนทางกับจำนวนภัยพิบัติที่เกิดจากอุทกภัย วาตภัย ภัยจากคลื่นความร้อน และทุพภิกขภัยที่จะเพิ่มขึ้นในระดับที่ยากต่อการรับมือ ซึ่งจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ในอนาคตที่จะยากลำบากมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาทางสังคมตามมา

และยังไม่นับรวมผลที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งการล่มสลายของสายใยอาหาร การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอีกหลายจำพวก การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การลดลงของปริมาณปลาในมหาสมุทร และอาจไปถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนโรคระบาดที่จะเพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ซึ่งผลกระทบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยากต่อการรับมือสำหรับมนุษยชาติในอนาคต เสมือนการส่งมอบโลกที่ไม่น่าอยู่ให้แก่คนรุ่นถัดไป

สถานการณ์โลกในระดับมหภาคนั้นดูไม่สู้ดีนัก เมื่อเทียบกับสถานการณ์สภาวะโลกที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุกวัน คงปฏิเสธไม่ได้ที่แนวโน้มในวันนี้อาจจะดูเลวร้ายลงกว่าที่เราได้คาดการณ์กันไว้ หากเรายังคงเดินหน้าใช้ชีวิตอย่างไร้ความตระหนักและตระหนกถึงผลของการกระทำของเราและการตัดสินใจของกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่กำหนดชะตาชีวิตของคนทั้งโลก ซึ่งรวมไปถึงอนาคตของลูกหลานของเรา

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง