สำรวจ “ระบบสุริยะ” ของเรา ที่ใดบ้าง ? มีโอกาสพบ “สิ่งมีชีวิต”

Logo Thai PBS
สำรวจ “ระบบสุริยะ” ของเรา ที่ใดบ้าง ? มีโอกาสพบ “สิ่งมีชีวิต”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พาไปสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์ทุกดวงที่เราเคยสำรวจ ที่ไหนบ้างที่เหมาะสมกับการกำเนิดของชีวิต และเรามีโอกาสพบสิ่งมีชีวิตมากน้อยแค่ไหนในพื้นที่เหล่านั้นของ “ระบบสุริยะ” ของเรา

พาไปสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์ทุกดวงที่เราเคยสำรวจ ที่ไหนบ้างที่เหมาะสมกับการกำเนิดของชีวิต และเรามีโอกาสพบสิ่งมีชีวิตมากน้อยแค่ไหนในพื้นที่เหล่านั้นของ “ระบบสุริยะ” ของเรา

1. ดาวอังคาร
โอกาสพบสิ่งมีชีวิต: ปานกลาง

ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่ใครหลาย ๆ คนมักคิดถึงเป็นสิ่งแรก เมื่อพูดถึงการตามหาสิ่งมีชีวิตที่อยู่นอกเหนือจากโลกใบนี้ เพราะเรามีการสำรวจและคาดการณ์ด้วยหลักฐานที่หนักแน่นได้ว่าครั้งหนึ่งในอดีตดาวเคราะห์ดวงนี้เคยมีน้ำที่เป็นของเหลวครอบคลุมทั่วทั้งดวง และมันอาจจะเหมาะสมกับการเกิดของชีวิตมากกว่าบนโลกเสียอีก แต่เพราะเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้นในอดีตทำให้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตได้อันตรธานไป

ถึงเราจะคาดการณ์ว่าการสูญหายไปของน้ำที่เป็นของเหลวบนพื้นผิวของดาวเคราะห์สีแดงนี้จะเกิดขึ้นมานานกว่า 4,200 ล้านปีมาแล้ว แต่จากการสำรวจของหุ่นยนต์รถสำรวจของ NASA ในปัจจุบัน และการสำรวจผ่านยานโคจรรอบดาวอังคาร ทีมนักวิจัยพบหลักฐานว่าดาวอังคารยังคงมีน้ำอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งน้ำแข็งที่อยู่บริเวณขั้วใต้ของดาว และใต้ชั้นพื้นผิว อีกทั้งเรายังพบว่าก๊าซมีเทนมีปริมาณเพิ่มขึ้นภายในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารในทุก ๆ ฤดูร้อนของดาวอังคาร ซึ่งจากองค์ความรู้ของเรา ก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบนโลกของเรานั้น เกิดขึ้นได้เพียงวิธีการเดียวคือจากกระบวนการของสิ่งมีชีวิต

หลักฐานนี้ทำให้เราคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งมีชีวิตภายในดาวอังคาร ถึงแม้มันอาจจะไม่ได้มากเหมือนกับดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์ดวงอื่นภายในระบบสุริยะของเรา แต่เพราะชีวิตสามารถมีหนทางของมันได้เสมอ ตลอดเวลา 4,200 ล้านปี พวกมันอาจวิวัฒนาการจนสามารถอาศัยอยู่ใต้ดินที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งของดาวอังคาร สามารถเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ และอาจจะรอคอยวันที่มนุษย์โลกขุดดินและพบกับพวกเขาเข้าในสักวันหนึ่ง

2. ดาวศุกร์
โอกาสพบสิ่งมีชีวิต: ค่อนไปทางต่ำ

ดาวศุกร์ ดาวเคราะห์ฝาแฝดของโลก เราเคยเชื่อว่าครั้งหนึ่งในอดีตดาวศุกร์เคยมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการกำเนิดของชีวิตคล้ายกับโลกของเรา แต่วันหนึ่งสิ่งเหล่านั้นกลับสูญหายไป ทุกวันนี้ดาวศุกร์กลายสภาพเป็นนรกที่ร้อนระอุ อุณหภูมิพื้นผิวที่สูงกว่า 450 องศาเซลเซียส พร้อมความดันบรรยากาศที่พื้นผิวที่มากกว่าโลก 92 เท่า ดาวศุกร์ไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าสนใจเท่าไหร่สำหรับการมองหาสิ่งมีชีวิต

แต่ถึงกระนั้นครั้งหนึ่งในปี 2020 เคยมีการพูดถึงการพบสารฟอสฟีนภายในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ที่ถึงแม้จะสรุปว่าไม่น่าจะมีการค้นพบจริง แต่การกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์เหมือนจะกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

จากข้อมูลการสำรวจเก่าของเราเผยว่าชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้น บนความสูง 50-65 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวของดาว ชั้นบรรยากาศบริเวณนั้นมีอุณหภูมิและความดันบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับชั้นบรรยากาศของโลก อีกทั้งเรายังพบว่าภายในกลุ่มเมฆบนดาวศุกร์มีบางสิ่งที่สามารถดูดซับรังสี UV จากดวงอาทิตย์ได้ และเมฆเหล่านั้นไม่ใช่เพียงก้อนเล็ก ๆ แต่มันคือเมฆขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของดาว ซึ่งเราจินตนาการกันว่าเมฆที่ดูดซับรังสี UV บนดาวศุกร์อาจจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยลอยได้ขนาดมหึมาของสิ่งมีชีวิต ใช้ชีวิตด้วยการสังเคราะห์พลังงานจากรังสี UV และดักจับสารอาหารที่ลอยมากับกระแสลม รูปแบบของการหาอาหารและสภาพแวดล้อมบนก้อนเมฆแบบนี้อาจจะเหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำพวกจุลชีพเท่านั้น แต่บนเมฆเหล่านั้นอาจจะมีระบบนิเวศที่ซับซ้อนมากกว่าที่เราคิด บางครั้งสิ่งมีชีวิตพวกนี้อาจจะรอพวกเรากลับไปสำรวจดาวเคราะห์เพื่อนบ้านแห่งนี้อยู่ก็เป็นไปได้

3. ดวงจันทร์เอนเซลาดัส
โอกาสพบสิ่งมีชีวิต: สูง

ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ พื้นผิวของมันถูกปกคลุมไปด้วยชั้นน้ำแข็งหนาหลายสิบกิโลเมตร และโดดเด่นด้วยน้ำพุที่พวยพุ่งออกมาจากดาวในปริมาณมหาศาลแทบจะตลอดเวลา

จากการสำรวจของเรา เราคาดการณ์กระบวนการทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์เอนเซลาดัสว่า ดวงจันทร์ดวงนี้ถูกแรงไทดัลระหว่างตัวดวงจันทร์กับดาวเสาร์ดึงรั้งไว้ ทำให้ชั้นน้ำแข็งที่ใกล้ชิดกับแก่นของดาวค่อย ๆ ร้อนขึ้นจนละลายกลายเป็นน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลว และด้วยความร้อนและแรงดันของไอน้ำปริมาณมหาศาลข้างใต้ น้ำที่เป็นของเหลวนั้นสามารถเอาชนะเปลือกน้ำแข็งหนาหลายสิบกิโลเมตรจนสามารถพวยพุ่งออกมากลายเป็นน้ำพุแห่งเอนเซลาดัส

และด้วยการที่มีแหล่งน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลวขนาดใหญ่ใต้พื้นผิวน้ำแข็งนี้ ดวงจันทร์เอนเซลาดัสจึงเป็นจุดสนใจอันดับแรก ๆ ของการตามหาสิ่งมีชีวิตภายในระบบสุริยะของเรา และด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่เคยได้รับจากยานแคสสินี น้ำพุที่พวยพุ่งออกมาจากดวงจันทร์เอนเซลาดัสนั้นยังพบสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่เป็นสารประกอบสำคัญของการเหนี่ยวนำให้เกิดการรวมตัวของกรดอะมิโนคล้ายกับใต้มหาสมุทรของเราในอดีต ทำให้สภาพแวดล้อมของมหาสมุทรใต้เปลือกน้ำแข็งของดวงจันทร์เอนเซลาดัสนั้นอาจจะไม่ใช่แค่แหล่งน้ำธรรมดา แต่เป็นแหล่งน้ำที่อุดมไปด้วยสารอาหารสำหรับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต ที่พร้อมสำหรับการให้มนุษย์เราขุดเจาะลงไปสำรวจตามหาสิ่งมีชีวิตก็เป็นได้

4. ดวงจันทร์ยูโรปา
โอกาสพบสิ่งมีชีวิต: สูง

ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี เช่นกันกับดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์ มันถูกปกคลุมด้วยเปลือกน้ำแข็งหนาหลายสิบกิโลเมตร และยังพบการพวยพุ่งของน้ำพุจากใต้เปลือกน้ำแข็งอีกด้วย มันจึงเป็นหลักฐานยืนยันถึงโอกาสที่จะพบมหาสมุทรขนาดใหญ่ใต้เปลือกของดวงจันทร์ยูโรปาที่มาพร้อมกับแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นต่อการกำเนิดของชีวิตใต้เปลือกน้ำแข็งแห่งนี้ ซึ่งเราคาดว่าดวงจันทร์ยูโรปานั้นมีน้ำอยู่ในปริมาณมากกว่าน้ำบนโลกของเราทั้งใบรวมกับเสียอีก

ดวงจันทร์ยูโรปาเป็นแหล่งแรก ๆ ในการตามหาสิ่งมีชีวิตภายในระบบสุริยะของเราเพราะมันคือสถานที่แรก ๆ ที่มนุษย์เราเชื่อว่าจะมีน้ำในรูปแบบของเหลวอยู่ใต้เปลือกของดวงจันทร์แห่งนี้ และทุกครั้งที่เราพูดถึงน้ำในรูปของเหลว นั่นหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่อาจจะกำเนิดขึ้นที่นั่นเสมอ

5. ดวงจันทร์ไททัน
โอกาสพบสิ่งมีชีวิต: ปานกลาง

ดวงจันทร์บริวารอีกดวงของดาวเสาร์ ดวงจันทร์ดวงนี้แตกต่างจากดวงจันทร์เอนเซลาดัสอย่างสิ้นเชิง เพราะดวงจันทร์ดวงนี้คือดวงจันทร์ดวงเดียวในระบบสุริยะของเราที่พบว่ามีชั้นบรรยากาศปกคลุมพื้นผิวอยู่

แม้ไททันจะไม่พบน้ำที่อยู่ในรูปแบบของเหลว เพราะอุณหภูมิที่เย็นจัดจนเกินไปของมัน แต่จากการสำรวจโดยยานแคสสินีและฮอยเกินส์ทำให้เราพบว่าบนดวงจันทร์ดวงนี้มีของเหลวอยู่ในปริมาณมหาศาลบนพื้นผิว

เราพบทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดที่เรารู้จักบนดวงจันทร์ไททัน อีกทั้งเราพบสารไฮโดรคาร์บอนปริมาณมหาศาลในรูปแบบของสถานะต่าง ๆ ทั้งของแข็ง ของเหลว และก๊าซ กระจัดกระจายอยู่บนพื้นผิวของดวงจันทร์ดวงนี้

ดวงจันทร์ดวงนี้มีกระบวนการทางเคมีอีกมากมายมหาศาลที่เรายังไม่สามารถเข้าใจได้ เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับไททันเรายังมีน้อยมาก แต่จากการคาดการณ์ด้วยข้อมูลที่เรามีในปัจจุบันนี้ เราคาดว่าน่าจะมีกระบวนการทางเคมีที่อาจจะเหนี่ยวนำจนเกิดกรดอะมิโนที่สำคัญต่อการกำเนิดชีวิต หรือที่จริงอาจจะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นแล้วก็เป็นได้ เพียงแต่รอคอยเราลงไปสำรวจมันเท่านั้น

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง