รวมสุดยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ของโลกปี 2566

ต่างประเทศ
27 ธ.ค. 66
18:36
1,315
Logo Thai PBS
รวมสุดยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ของโลกปี 2566
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ในปี 2566 มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ของโลก ทั้งการคิดค้นวัคซีน รวมทั้งการทดลองใช้เทคนิคใหม่ๆ เพื่อรักษาโรคเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีได้รวบรวมเรื่องราวความสำเร็จที่โดดเด่นไว้ ดังนี้

"ถูกและดี" วัคซีนป้องกันไข้มาลาเรียตัวใหม่

ในที่สุด มนุษยชาติก็ได้วัคซีนป้องกันโรคไข้มาลาเรีย ที่มีราคาถูกและมีประสิทธิภาพสูงมาใช้ คือวัคซีน R21 ที่คิดค้นและพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร และ วัคซีน RTS,S ของบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ (GSK) ที่เป็นตัวแรกที่ผลิตได้ อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองตัวนั้นใกล้เคียงกันมาก แต่ วัคซีน R21 สามารถผลิตเป็นปริมาณมากในระดับอุตสาหกรรมได้ง่ายกว่า

สถาบันซีรัมแห่งอินเดีย (SII) บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก คาดการณ์จะผลิตวัคซีน R21 จำนวน 100 ล้านโดส/ปี และมีแผนจะขยับเป็น 200 ล้านโดส/ปีในอนาคต และในปัจจุบันทั่วโลกยังมีวัคซีนมาลาเรียตัวแรกหรือ RTS,S เพียง 18 ล้านโดสเท่านั้น WHO ระบุว่า วัคซีนมาลาเรียตัวใหม่มีราคาถูกเพียง 2-4 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อหนึ่งโดส หรือราว 70-140 บาท แต่ต้องฉีดประมาณ 4 โดส/คน 

ในบรรดาโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ "ไข้มาลาเรีย" ถือเป็นโรคที่มีความร้ายแรงและทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากที่สุด ในปี 2021 มีผู้ติดเชื้อ 247 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 619,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

AI ประเมินสุขภาพหัวใจ

การพัฒนา AI ให้ช่วยประเมินอายุของหัวใจได้นั้น นับเป็นการหาหนทางย้อนวัยให้หัวใจและลดความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น โรคหัวใจและโรคเส้นเลือดสมอง เดิมทีการตรวจสุขภาพหัวใจรวมถึงการประเมินอายุของหัวใจให้ได้อย่างแม่นยำ "ถือเป็นเรื่องยากมาก" แม้จะใช้วิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG / EKG) หรือการวิเคราะห์ภาพสแกนเอ็มอาร์ไอ (MRI) ก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา AI ล่าสุดช่วยให้จับร่องรอยความเสียหายของหัวใจได้ ผ่านการวิเคราะห์ภาพสแกน MRI ของหัวใจหลังการออกกำลังกาย โดย AI จะเปรียบเทียบรายละเอียดเล็กๆ หลายร้อยจุด จากสภาพหัวใจของบุคคลที่กำลังวิเคราะห์อยู่ กับฐานข้อมูลสภาพหัวใจของคนที่มีสุขภาพดีในวัยต่าง ๆ 5,000 คน เพื่อประเมินอายุของหัวใจ 

ศ.เดแคลน โอเรแกน จากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งกรุงลอนดอน (LMS) ผู้นำทีมนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นและพัฒนา AI เพื่อประเมินอายุหัวใจ กล่าวว่า การประเมินสุขภาพของหัวใจจาก AI มีประสิทธิภาพสูง และจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินการดูแลหัวใจของผู้ป่วยได้แม่นยำมากขึ้น 

หมอนรองข้อเข่าเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์คิดค้นพัฒนาอวัยวะเทียม ที่จะมาช่วยในการ "ผ่าตัดดัดเข่า" สำหรับผู้ป่วยโรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อม (osteoarthritis) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าโรคข้อเสื่อม โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด ซึ่งในปี 2566 นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบาธของสหราชอาณาจักร ได้ประดิษฐ์หมอนรองข้อเข่าเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่จะช่วยให้ข้อเข่ามีความมั่นคงและรองรับน้ำหนักได้ดังเดิม

มีการทดลองผ่าตัดกับคนไข้ 5 ราย ผลปรากฏว่าหมอนรองข้อเข่าเทียมดังกล่าว สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี และขณะนี้กำลังทำการทดลองในระดับคลินิกที่ใหญ่ขึ้นกับผู้ป่วยชาวอังกฤษ 50 ราย เพื่อดูว่ามีความแตกต่างในเชิงประสิทธิภาพกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าด้วยเทคนิคดั้งเดิมหรือไม่

ที่มา : BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง