"แม่น้ำสายบุรี" ล้นตลิ่ง ส่งผลปัตตานีท่วมหนัก

ภัยพิบัติ
27 ธ.ค. 66
20:39
1,284
Logo Thai PBS
"แม่น้ำสายบุรี" ล้นตลิ่ง ส่งผลปัตตานีท่วมหนัก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลายแห่งใน จ.ปัตตานี ระดับน้ำสูงขึ้น เป็นผลพวงจากการระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก ซึ่งต้นน้ำมาจากนราธิวาส-ยะลา ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม จ.นราธิวาส หลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดลง เหลือเพียงความเสียหายที่รอซ่อมแซม

แนวโน้มภาพรวมน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หากคาดการณ์สถานการณ์ว่าจุดไหนจะคลี่คลาย จุดไหนจะวิกฤต ต้องดูที่แม่น้ำ 4 สายหลัก และที่ต้องจับตาในเวลานี้คือ แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี ที่มีถนนเส้นหลักคือ ถ.เพชรเกษม ที่จะมุ่งหน้าไป จ.นราธิวาส พาดผ่าน

กายภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คือ นราธิวาส ต่อเนื่อง จ.ยะลา มีแนวเขาและน้ำจากภูเขาจะระบายออกทะเลที่ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นที่ราบ ผ่านแม่น้ำ 4 สายหลัก

แม่น้ำสายบุรี ซึ่งรับน้ำมหาศาลจาก อ.สุคิริน, อ.จะแนะ, อ.ศรีสาคร, อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.รามัน, อ.กะพ้อ จ.ยะลา ทั้งหมดนี้คือพื้นที่ที่ปริมาณฝนตกสะสมสูงสุดเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา และถูกน้ำท่วมหนักสุด จะระบายออกไปทาง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

แม่น้ำปัตตานี รับน้ำจาก อ.เบตง และรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย มีเขื่อนบางลางกับเขื่อนปัตตานีกั้น แม่น้ำสายนี้จะไหลผ่าน อ.บันนังสตา อ.กรงปีนัง และเมืองยะลา ก่อนจะเข้าเขต อ.แม่ลาน อ.ยะรัง ระบายออกทะเลที่เมืองปัตตานี

จ.ปัตตานี แม้ฝนตกไม่หนักเท่า จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา แต่เพราะมีแม่น้ำ 2 สายหลักต้องระบายน้ำจากทั้ง 2 จังหวัดนี้ ทำให้ปัตตานีเป็นพื้นที่รับน้ำ ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยเมื่อเช้ามืดวันนี้ (27 ธ.ค.) แม่น้ำสายบุรีเอ่อล้นตลิ่ง เพราะปริมาณน้ำเกินความจุของลำน้ำ หลากเข้าท่วมถนนเพชรเกษม ทำให้การคมนาคมผ่านถนนเส้นนี้ต้องใช้รถยกสูงเท่านั้น

ประชาชนบางส่วนอพยพขึ้นมาอยู่บนที่สูง บางคนอาศัยถนนเป็นที่พักพิงชั่วคราวเพราะบ้านถูกน้ำท่วม ขณะนี้น้ำท่วมกินพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.กะพ้อ อ.ทุ่งยางแดง อ.สายบุรี และ อ.ไม้แก่น ส่วนผลกระทบจากแม่น้ำปัตตานี ทำให้ขณะนี้น้ำท่วม อ.เมือง อ.ยะรัง อ.หนองจิก และ อ.โคกโพธิ์

น้ำท่วมนราธิวาสเริ่มคลี่คลาย แม่น้ำโก-ลกยังล้นตลิ่ง

ส่วนที่ จ.นราธิวาส มีแม่น้ำ 2 สายระบายน้ำออกทะเล คือ แม่น้ำโก-ลก กับแม่น้ำบางนรา ซึ่งแม่น้ำโก-ลก ที่ต้องรับน้ำทั้งจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส จะระบายออกทะเลที่ อ.ตากใบ โดยระดับน้ำที่คลองบูเก๊ะตากลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะนี้ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.05 เมตร ส่วนที่สะพานลันตูปันยัง อยู่ในระดับล้นตลิ่ง โดยสูงกว่าตลิ่ง 82 เซนติเมตร

แม้จะมีพนังกั้นน้ำเลียบแม่น้ำโก-ลก แต่ระดับน้ำในแม่น้ำยังสูงกว่าตลิ่ง 32 เซนติเมตร ทำให้น้ำล้นเป็นม่านน้ำหลากเข้าท่วมตลาด จุดที่เคยมีเหตุการณ์คลังพลุระเบิด แนวกระสอบทรายเสริมความแข็งแรงถูกกัดเซาะ เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ภาพรวมของลุ่มน้ำโก-ลก ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

แม่น้ำอีกเส้น คือ แม่น้ำบางนรา และลุ่มน้ำตันหยงมัส ซึ่งรับน้ำจาก อ.ระแงะ ตันหยงมัส ออกไปที่บ้านยะกัง ในเมืองนราธิวาส ก่อนระบายออกทะเล ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

หากดูจากข้อมูลแม่น้ำ 4 สายหลัก ทั้งฝั่งนราธิวาส และปัตตานี จุดที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือพื้นที่ปลายน้ำใน จ.ปัตตานี เพราะต้องรับบทบาทระบายน้ำลงทะเล นอกจากต้องเฝ้าระวังฝนที่มีแนวโน้มตกลงมาในพื้นที่ต้นน้ำแล้ว น้ำทะเลหนุนก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้การระบายน้ำช้าลง อาจทำให้พื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำและใกล้ทะเลต้องเผชิญน้ำท่วมเป็นเวลานาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ไทย-มาเลเซีย" อ่วม แม่น้ำสุไหงโก-ลก ทะลักท่วมบ้าน

มวลน้ำจาก "รือเสาะ" ไหลบ่าเข้า "สายบุรี" กลางดึก บ้านเรือน-ย่านการค้าจม

"ปัตตานี" ประกาศเขตภัยพิบัติ 8 อำเภอ หลังรับมวลน้ำจาก "นราธิวาส-ยะลา"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง