“ละเมิดสิทธิคนป่วย” ชั้น 14 หรือ “นักโทษวีไอพี” ละเมิดสิทธิคนไทย

การเมือง
12 ม.ค. 67
17:12
2,649
Logo Thai PBS
“ละเมิดสิทธิคนป่วย” ชั้น 14 หรือ “นักโทษวีไอพี” ละเมิดสิทธิคนไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนฯ นำโดย นายชัยชนะ เดชเดโช ไปถึงโรงพยาบาลตำรวจแล้วในวันนี้ (12 ม.ค.2567) เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นักโทษเด็ดขาด ในฐานะผู้ป่วยรักษาตัว ยังนอนพักรักษาที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจหรือไม่

คณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนฯ นำโดยนายชัยชนะ เดชเดโช ไปถึงโรงพยาบาลตำรวจแล้วในวันนี้ (12 ม.ค.2567) เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นักโทษเด็ดขาด ในฐานะผู้ป่วยรักษาตัว ยังนอนพักรักษาที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจหรือไม่

แม้สุดท้ายได้ขึ้นไปที่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ที่อ้างว่า นายทักษิณพักอยู่ จากครั้งแรกมีข่าวจะให้ไปได้เพียงแค่ชั้น 6 อาคารศรียานนท์ ที่ รพ.ตำรวจจัดห้องประชุมไว้รับรอง เพื่อบรรยายสรุปวิธีการรับส่งตัวผู้ป่วยจากรพ.กรมราชทัณฑ์ รวมทั้งวิธีการดูแลรักษาคนป่วยที่รพ.ตำรวจ

นายชัยชนะบอกว่า ไม่ได้พบนายทักษิณ นอกจากเจ้าหน้าที่ที่ดูคนป่วยทั้งที่ชั้น 7 และชั้น 14 ที่มีจำนวนเจ้าหน้าที่และคนป่วยรักษาตัวไม่เท่ากัน

แต่ที่น่าแปลกคือ ยอมว่า มีการดูแลรักษาคนไข้ที่เท่าเทียมกัน

ข้อดีการไปครั้งนี้ของกมธ. คือได้อะไรมากกว่าไปฟังการบรรยายสรุปนอกสถานที่ หลังจากครั้งแรก รพ.ตำรวจระบุ ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปที่ห้องพักรักษาตัว โดยอ้างว่า เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ป่วย

เหตุผลหลักที่กรมราชทัณฑ์ รวมทั้งฝ่ายการเมืองอย่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯที่ได้รับมอบหมายตอบกระทู้สดเรื่องนี้แทนนายกฯ ในสภาผู้แทนฯ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม คือเป็นเรื่องตามขั้นตอน และถูกต้องตามประกาศกระทรวงและกฎหมาย หากจะไปตรวจสอบถึงที่จะเข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้ป่วย อาจถูกฟ้องร้องได้

ทำให้การเดินหน้าหาความกระจ่างเพื่อตอบข้อสงสัยผู้คนที่มีข้อกังขาว่า นายทักษิณป่วยเป็นโรคอะไร มีการผ่าตัดและ รพ.รักษาอย่างไร จึงต้องนอนพักรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจนานถึง 120 วันแล้ว รวมถึง ได้นอนรักษาที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ จึงดูเหมือนจะขยับช้ามากด้วยข้ออ้างดังกล่าว

แต่สำหรับนักวิชาการอย่าง ดร.เจษฎ์ โทณวณิก คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กลับเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่ง ระหว่างให้สัมภาษณ์ “รายการประจักษ์จับประเด็น” ออนไลน์ของไทยพีบีเอส เมื่อวันศุกร์ (12 ม.ค.2567) สวนกลับเหตุผลดังกล่าวว่า เมื่อคนตกเป็นนักโทษจากการกระทำผิด ย่อมต้องถูกตัดสิทธิและเสรีภาพหลายประการ ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่เหมือนคนทั่วไปได้

เมื่อทำผิด โทษการทำผิดถูกกำหนดให้เป็นโทษคุมขัง เท่ากับเป็นการกันคนทำผิดออกจากสังคมชั่วคราว เพื่อให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และปรับพฤติกรรมให้สามารถกลับมาอยู่ร่วมในสังคมปกติได้เมื่อครบกำหนดบทลงโทษ

ดังนั้น เมื่อพูดถึงสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้ต้องโทษ จึงไม่สามารถจะอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิได้ ตรงกันข้าม คนนั้นกำลังละเมิดสิทธินักโทษคนอื่น ๆ และละเมิดสิทธิมนุษยชนคนไทยทั้งประเทศ ที่มีสิทธิพึงรับรู้รับทราบ

ดร.เจษฎ์ กล่าวด้วยว่า หากมีคนได้พบเห็น หรือเปิดช่องทางให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า นายทักษิณนอนพักรักษาตัวบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ และหากได้พบว่ามีจริง นอนรักษาตัว โดยมีสายระโยงรยางค์ สะท้อนอาการที่ต้องดูแลใกล้ชิดเพื่อรักษาตัวต่อเนื่อง

จะสามารถสื่อสารบอกกล่าวให้ผู้คนอื่น ๆ ได้รับทราบได้ จะทำให้หายคลางแคลงใจ แต่ที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครได้พบ และอ้างกล้องวงจรปิดเสีย มิหนำซ้ำ มีข้ออ้างไม่ให้มีการตรวจสอบความจริงอีก จึงยิ่งทำให้ผู้คนเกิดความสงสัยเพิ่มมากขึ้น

ถือเป็นมุมมองในอีกมิติหนึ่งที่มีความน่าสนใจ และเหมาะสมที่เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และฝ่ายการเมือง พึงนำไปพิจารณาดำเนินการ เพราะไม่ว่าจะมองในมุมใดเหลี่ยมไหน ความเหลื่อมล้ำของการเป็นนักโทษ และการรับโทษของผู้ป่วยบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ มีผลสะเทือนถึงความเชื่อว่ามี 2 มาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างเลี่ยงไม่พ้น

และยังจะมีผลต่อฐานคะแนนนิยมทางการเมืองในอนาคตอีกต่างหาก

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง