เลื่อนอีก! พิจารณาดิจิทัลวอลเล็ต ไขปมไฉนยื้อจนเหนื่อย

การเมือง
16 ม.ค. 67
19:35
144
Logo Thai PBS
เลื่อนอีก! พิจารณาดิจิทัลวอลเล็ต ไขปมไฉนยื้อจนเหนื่อย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่ใช่เรื่องผิดจากคาดหมาย หากคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ จะเลื่อนการประชุมพิจารณาคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีกลับมาถึงกระทรวงการคลัง เรื่องการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต้องเลื่อนออกไปก่อน

เหตุผลหนึ่งคือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการชุดนี้ ติดภารกิจที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส

แม้นายกฯ จะมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ดำเนินการประชุมแทน แต่หากจะเดินหน้าประชุมต่อ คงไม่รู้จะหารือกันอย่างไร ในเมื่อคำตอบดังกล่าว ไม่ได้มีอะไรชัดเจน ยังเป็นหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย

ไม่ใช่คำตอบที่ชี้ชัดว่า ทำได้อย่างที่นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์สื่อไว้ในตอนแรก

แต่เป็นการแนะนำให้ยึดหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เท่ากับต้องกลับมาที่เดิม และเป็นคำถามหลักที่เคยถกเถียงกันมาก่อนหน้านี้แล้วว่า เศรษฐกิจของประเทศ “วิกฤติ” หรือไม่ หรือเป็นแบบต่อเนื่องหรือไม่

หลังจากก่อนหน้านี้ ทั้งกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ 99 คน ที่ออกมาคัดค้านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และผู้ว่าฯแบงก์ชาติ อย่างนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ พูดสอดคล้องกัน ยืนยันไม่วิกฤติ และกำลังฟื้นตัว

เท่ากับล็อคตายคำตอบนี้ไว้แล้ว และเป็นคำตอบที่ไม่เอื้อต่อการเดินหน้าต่อ สำหรับโครงการนี้ นำไปสู่การเป็น “คู่เกาเหลา” ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ

ขณะที่รัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย ต้องการเดินหน้าโครงการนี้ เพราะเป็นนโยบายเรือธงในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ที่มีเสียงขานรับอย่างมาก จากระดับฐานรากทั่วไป ต่อจากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาท ในปี 2570 ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นวันละ 400 บาท ทำทันทีในปีแรก

แม้จะรู้ว่ายาก แต่แกนนำในรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย ยังยืนยันเดินหน้าต่อ โดยอ้างแค่เงื่อนเวลาแจก อาจเลื่อนกำหนดออกไป เพราะตระหนักดีว่า ในทางการเมือง หากทำไม่ได้อย่างที่หาเสียงไว้ จะมีผลต่อคะแนนนิยมและฐานเสียงอย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพราะส่วนหนึ่งอาจยังไม่ได้ตกผลึกชัดเจน ในรายละเอียดของโครงการนี้ โดยฟังจากคำพูดที่ไม่ตรงกันในช่วงต้นๆ ที่เปิดนโยบายนี้ จึงคล้ายเป็น “ตาบอดคลำช้าง” ให้สัมภาษณ์ตามที่ตนเองคิดหรือเข้าใจ ไม่ตรงกับคนอื่น

สะท้อนการแข่งขันนโยบายแนวประชานิยมของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ต้องมุ่งเสนอนโยบายที่ “โดนใจ” ผู้คนเป็นสำคัญ ส่วนรายละเอียดค่อยว่ากันอีกที

ความบกพร่องไม่ชัดเจนนี้ ไม่เพียงแค่พรรคการเมือง ควรต้องตระหนักและรับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่หละหลวมเลินเล่อไม่ใส่ใจตามตัวบทกฎหมายที่ระบุ

โดยเฉพาะมาตรา 57 พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า นโยบายที่พรรคการเมืองจะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ต้องแจ้งต่อ กกต. ทั้งที่มาของเงินงบประมาณที่ต้องใช้และข้อดีข้อเสีย รวมถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา

แต่ในทางปฏิบัติ ฟังจากระดับผู้บริหารของทีดีอาร์ไอ หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุชัดว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่ ยกเว้นพรรคก้าวไกล ไม่มีรายละเอียดชัดเจน นอกจากอ้างว่า มาจากงบประมาณแผ่นดิน

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย ระบุที่มาว่า มาจาก 4 ส่วน คืองบประมาณแผ่นดิน 2.6 แสนล้านบาท ภาษีจากผลการขยายตัวเศรษฐกิจจากนโยบายรัฐบาล กำหนดเป้าปีละ 5 % วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อีก 2 ส่วนจากบริหารจัดการงบประมาณ และงบด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน รวม 2 แสนล้านบาท

ไม่มีระบุว่า มาจากการกู้ยืมเงินผ่านการออก พ.ร.บ.กู้เงินแต่อย่างใด

จึงทำให้ต้องมานั่งลุ้นที่มาของเงินว่าหากออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินจะทำได้หรือไม่ แทนที่จะชัดเจนตั้งแต่ขั้นตอนแจ้งนโยบายหาเสียงต่อกกกต.แล้ว

หากแต่ละฝ่ายต่างทำตามกฎหมายและหน้าที่ของตัวเอง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง