" ปั๊มลูกกู้ชาติ " แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย วัยแรงงานทิ้งช่วงยาว 20 ปี

สังคม
18 ม.ค. 67
17:45
3,612
Logo Thai PBS
" ปั๊มลูกกู้ชาติ " แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย วัยแรงงานทิ้งช่วงยาว 20 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

 “เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ” ประโยคสะท้อนความจริงอัตราการมีบุตรของคนไทยในยุคปัจจุบัน ที่ลดลงจนน่าตกใจ  และนำไปสู่โครงการ “สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ” ของกรมอนามัย เมื่อปี 2560 ที่รณรงค์ให้หญิงที่วัยเจริญพันธุ์ รับประทานโฟลิก แก้ปัญหาภาวะเลือดจาง ให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ สอดคล้องกับมติสมัชชาอนามัยโลกปี 2012 ที่ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกลดภาวะโลหิตจางในหญิงวัยเจริญพันธุ์ร้อยละ 50 ภายในปี 2025

ขอบคุณภาพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ขอบคุณภาพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ขอบคุณภาพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

แต่ด้วยภาวะโสดสนิท จากการครองตัว ของทั้งหญิงและชาย ร่วมถึงเพศสภาพที่เปลี่ยนไปมีความหลากหลายมากขึ้น หรือ วิถีคู่รัก ไม่ใช่คู่ครอง ไร้ลูกกวนใจ ทำให้ประชากรไทยค่อย ๆลดลง โดย ในปี 2564 เริ่มพบ อัตราการเกิดและอัตราการตายไม่สมดุล อัตราการเกิดอยู่ที่ 544,570 คน

แต่อัตราตาย อยู่ที่ 550,042 คน หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่า ประชากรไทยในอีก 60 ปีข้างหน้า หรือในปี พ.ศ. 2626 จะเหลือประชากรแค่ 33 ล้านคน

สึนามิคนเกิดไม่ถึง 5 แสนคน

ศ.เกียรติคุณ ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.เกียรติคุณ ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.เกียรติคุณ ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.เกียรติคุณ ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า เกิดจากอัตราการมีลูกในหญิงไทย นับตั้งแต่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สัดส่วนเหลืออยู่ที่ 1.2 คนต่อหญิง 1 คน เท่ากับอัตราการมีลูกของหญิงในประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ส่วนที่เกาหลีใต้ อัตราการมีลูกในหญิงวัยเจริญพันธุ์ลดลงอย่างมากเหลือ 0.9 คนต่อหญิง 1 คน

ทั้งนี้อัตราการมีลูกของผู้หญิง อยู่ในเกณฑ์อายุเฉลี่ย 30-40 ปี เริ่มค่อย ๆลดลง ในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา จากเดิมหญิงไทย มีลูกเฉลี่ย 5 คน

ในอดีตอัตราการเกิดของเด็กไทยพบว่า มีเด็กเกิดสูงสุด เฉลี่ยปีละ 1,000,000 คน ในช่วงระหว่างปี 2506-2526 และมีอัตราเกิดสูงสุด ถึงขั้นที่เรียกว่า สึนามิประชากร ในปี 2514 มีจำนวนถึง 1,200,000 คน

แต่นับจากปี 2526 เป็นต้นมา อัตราการเกิดของประชากรไทย กลับค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ ไม่ถึงปีละ 1,000,000 คน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ ปี 2564-2565-2566 อัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงเกินครึ่ง เหลือเฉลี่ยแค่ปีละ 500,000 คน

  • ปี 2564 อัตราเกิด 544,570 คน อัตราตาย 550,042 คน
  • ปี2565 อัตราเกิด 502,107 คน อัตราตาย 595,965 คน
  • ปี 2566 อัตราเกิด คาดว่าจะอยู่ที่ 510,000 คน เนื่องจากเดือนตุลาคม 2566 อัตราการเกิดอยู่ที่ 470,000 คน

"คนตาย"มากกว่า"คนเกิด"

หากเปรียบเทียบอัตราการเกิดกับอัตราการตาย โดยใช้หลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์แบบหยาบ ด้วยอัตราการเกิดคูณจำนวน 1000 และหารด้วย จำนวนประชากร 66 ล้านคน สมมุติอัตราการเกิดอยู่ที่ 515,000 คน X 1000 หารด้วย 66 ล้านคน จะเท่ากับ 7.5 คนต่อประชากร 1,000 คน

และเมื่อใช้หลักการคำนวณเช่นเดียวกัน เพื่อหาอัตราการตายต่อพันประชากร โดยนำตัวเลขอัตราการตายปี 2565 ที่มีผู้เสียชีวิต 595,965 X 1000 หารด้วย 66 ล้านคนจะเท่ากับ 8.9 คนต่อประชากร 1,000 คน และเมื่อนำตัวเลขทั้ง 2 มาเปรียบเทียบกันทั้งอัตราการเกิดและอัตราการตาย จะพบว่า อัตราตายมีมากกว่า เฉลี่ยถึง 1.3 %

ศ.เกียรติคุณ ดร. ปราโมทย์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน หากจำแนกกลุ่มอายุของประชากรไทย แต่และช่วงวัย พบว่า สัดส่วนของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ปัจจุบันลดลงเหลือแค่ ร้อยละ 20 และคาดว่า อีก 15 ปี ข้างหน้า หรือ ปี 2581 อัตราการเกิดจะยิ่งลดลง เหลือต่ำกว่า ร้อยละ 15

สวนทางกับการเติบโตของประชากรสูงอายุ 60 ปี ที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ปี 2548 ประชากรสูงอายุ 60 ปี อยู่ที่ร้อยละ 10 ผ่านมา 18 ปี ในปี 2566 สัดส่วนอยู่ที่ ร้อยละ 20 และคาดว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้า พ.ศ.2576 ประเทศไทย จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึง ร้อยละ 30 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4-5 ต่อปี และอัตราผู้สูงอายุวัย 80 ปี ขึ้นไป ก็จะค่อย ๆ ขยับตามขึ้นไปที่ ร้อยละ 7- 8 ต่อปี

สอดคล้องกับข้อมูล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ ในบทความเรี่อง "จะเป็นอย่างไรหากสังคมไทยตายมากกว่าเกิดไปเรื่อย ๆ" โดยมีการคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรของประเทศไทยจะลดลง เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083 หรือ พ.ศ.2626 ,ประชากรวัยแรงงาน ช่วงอายุ 15 - 64 ปี จะลดลง เหลือเพียง 14 ล้านคน

ส่วนประชากรวัยเด็ก ช่วงอายุ 0 ถึง 14 เหลือเพียง 1 ล้านคน และ ประเทศจะเต็มไปด้วยผู้สูงวัย 65ปีขึ้นไป ถึง 18 ล้านคน และสัดส่วนประชากรสูงวัยจะมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ "อาชีพ"ทำรายได้สูงสุด

เมื่อจำนวนประชากรสูงวัย เพิ่มมากขึ้น แน่นอนแนวโน้มทิศทางการบริการสุขภาพในอนาคต ต้องเปลี่ยนไป เพราะหากผู้สูงอายุจำนวนมาก เจ็บป่วย อัตราครองเตียงย่อมนานมากขึ้น ส่งผลให้สถานพยาบาลไม่เพียงพอกับการรองรับ ศ.เกียรติคุณ ดร. ปราโมทย์ แนะว่า รูปแบบการให้บริการในระบบ เปลี่ยนเป็น รักษารวดเร็ว แบบไปกลับ ไม่พักค้างคืน หรือ ปรับสภาพแวดล้อมของบ้านให้เหมือนรักษาในโรงพยาบาล เพื่อไม่เป็นอุปสรรคในการพักฟื้นรักษาตัว 

ต่อไปอาชีพที่จะสร้างรายได้ และได้รับความนิยมมาก คือ กิจการ หรือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนมาก ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ขณะเดียวกันโรคติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และภาวะอัลไซเมอร์ อาจพบมากขึ้นถึง ร้อยละ 20

เร่งแก้นิยาม"เพิ่มอายุผู้สูงอายุ 65 ปี"ขึ้นไป

การเพิ่มสัดส่วนของประชากรสูงวัย ทำให้นักประชากรศาสตร์มองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน แก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ 2546 ที่ใช้มานาน 20 ปี โดยสิ่งที่ต้องแก้ไขอันดับแรก คือการเปลี่ยนคำนิยาม ผู้สูงอายุของไทย ให้เหมือนกับสากลโลก ตามที่ องค์การสหประชาชาติ กำหนดที่ 65 ปี

เนื่องจากทั่วโลกนิยมแบ่ง กลุ่มอายุออกเป็น 0-15 ปี , 15-64 ปี และ 65 ปี ขึ้นไป การเปลี่ยนแปลง คำนิยามนี้จะมีผลต่อการขยายอายุการทำงาน เพื่อให้ประชากรสูงอายุคงมีรายได้ในการเลี้ยงชีพ ไม่หวังพึ่งเบี้ยผู้สูงอายุ หรือ เงินบำเหน็จ บำนาญอีกต่อไป แต่ก็ยอมรับ เรื่องนี้อาจถูกคัดค้าน จากผู้สูงอายุเองที่กำลังใกล้ถึงวัย 60 ปี

เบี้ยผู้สูงอายุ ถูกสั่งจ่ายให้คนอายุ 60 ปี และค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเงินให้กับผู้สูงอายุตามวัยที่มากขึ้น จาก 600-700-800 บาท ซึ่งหากแก้ก็จะถูกคัดค้านจากคนเหล่านี้ และในปัจจุบันเบี้ยผู้สูงอายุก็ถูกหยิบยกมาเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองอีกด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อขยายนิยามผู้สูงอายุ การแสวงหาอาชีพเพื่อก่อรายได้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากกับการดำรงชีวิต ซึ่ง สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ ให้คำจำกัดความผู้สูงอายุว่า เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ และมีอาชีพจำนวนไม่น้อยที่ผู้ประกอบอาชีพจะมีทักษะเพิ่มขึ้นตามอายุ เช่น ครู อาจารย์ นักขาย นักกฎหมาย และผู้จัดการ

ดังนั้นถ้าผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งที่ประกอบอาชีพเหล่านี้อยู่แล้วจะสามารถประกอบอาชีพเหล่านี้ต่อไปได้ เช่นกับงานจิตอาสา หรือ การแก้ไขปัญหาทางสังคมผู้สูงอายุในแต่ละวัยล้วนมีประสบการณ์สามารถทำงานนี้ได้ดีกว่าวัยอื่น ๆ

ส่วนอาชีพที่ต้องอาศัยความเร็ว และความจำ สามารถใช้เทคโนโลยี หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนหุ่นยนต์มาช่วย ทำให้ทักษะของผู้สูงอายุที่ลดลง กลับมาเท่าเดิม

เกิดน้อย"ทัศนคติ"ไม่อยากมีภาระ

นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย

นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย

นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข เตรียม ผลักดันการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพเป็น “วาระแห่งชาติ” นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า อัตราการเกิดลดลง มาจาก มุมมองทัศนคติ ,ความหลากหลายทางเพศ และเรื่องภาระค่าใช้จ่าย เพราะ ในยุคสึนามิประชากร อัตราการเกิดเฉลี่ยปีละ 1 ล้านคน ทำให้รัฐบาลต้องหันมาคุมกำเนิด เพื่อให้สัดส่วนของประชากร เพียงพอกับทรัพยากร

จึงเกิด วลีที่ว่า “มีลูกมากจะยากจน ” ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ ไม่นิยมมีลูก เกรงภาระค่าใช้จ่าย ที่ต้องดูแล สอดคล้องกับข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ ระบุ ว่า เด็ก1 คน มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเลี้ยงลูกตั้งแต่คลอดบุตร จนถึง อายุ 20 ปี ต้องมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท

ต้องเร่งแก้ทั้งทัศนคติ และหากการจูงใจ ทั้งการลดหย่อยภาษีให้กับผู้มีบุตร จัดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ทำให้เห็นว่า การมีลูกไม่ใช่ภาระ และรัฐพร้อมดูแล ทั้งการเพิ่มสถานดูแลเด็กเล็กอายุ 0-2 ปี ที่ไม่ค่อยมีในบ้านเรา การจัดมุมนมแม่ในที่ทำงาน และการทำยืดหยุ่น เอื้อให้คนมีลูกสามารถทำงานได้อย่างไม่มีอุปสรรค และไม่ถูกเลิกจ้างงาน หาต้องลาคลอด

นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวว่า ข้อมูลของกรมอนามัย และสถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุตรงกันว่า ในอนาคตอีก 60 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะเหลือ 33 ล้านคน และปัญหาประชากร ไม่ได้แก้ได้ ในทันที หรือ ปี เดียว แต่ทรัพยากรมนุษย์ ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี และต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุน การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ขอบคุณThai Badminton Equipment News

ขอบคุณThai Badminton Equipment News

ขอบคุณThai Badminton Equipment News

โดยต้องกำหนดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อไม่ให้ราคาแพงเกินเอื้อม สำหรับคนอยากมีบุตร และการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนอยากมีบุตร ทั้ง ช่วยลดหย่อนภาษี เพิ่มโรงเรียน หรือ สวัสดิการค่าเลี้ยงดูบุตร ภายใน 5ปี จะต้องเห็นการเปลี่ยนว่า อัตราการเกิดคงที่ ไม่ลดลงไปกว่าเดิม หรือ เฉลี่ย 1.08 คน ไม่ลดต่ำเหลือ 1 คน และใน 20 ปี ต้องขยับไป 1.5 คน

ศูนย์เด็กเล็กวัลลภ ไทยเหนือ

ศูนย์เด็กเล็กวัลลภ ไทยเหนือ

ศูนย์เด็กเล็กวัลลภ ไทยเหนือ

 วาระแห่งชาติ“มีลูกคุณภาพ” 

เมื่อช่วงปลายปี 2566 เป็นที่ฮีดฮาเมื่อ หมอชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีสาธารณสุข ชวนคนไทยปั๊มลูกเพื่อชาติ แต่กลับกลายเป็นว่ามีลูกไม่ยากเท่ากับการหาคู่ ให้กับสุภาพสตรี โดยระบุว่า ต้องมีส่งเสริมการมีลูกและต้องทำครบทุกมิติ  ป่าวร้องตั้งแต่ไก่โห่ ว่าอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเสนอครม.ต้นปี 2567 นี้

แต่ปัจจุบันยังไร้วี่แวว โดยโยบายส่งเสริมปั้มลูกเพื่อชาติ จะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ,แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เน้น 3 มาตรการหลัก คือ

1. ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีบุตร (Enabling Environment) เช่น ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดูแลและเลี้ยงบุตร
2. เสริมสร้างความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยให้คุณค่า “ทุกการเกิดมีความสำคัญ” บทบาทชาย-หญิง และ ทัศนคติต่อการสร้างครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลาย
3. สนับสนุนให้ผู้ตัดสินใจมีบุตรได้รับการดูแลอย่างครบวงจรและมีคุณภาพ เช่น การดูแลรักษาภาวะมีบุตรยาก การส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก 

จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกและต้องติดตามว่า นโบายดังกล่าวจะทำได้หรือไม่ ท่ามกลางคำถาม จะแก้วิกฤติปัญหาประชากรวัยทำงานที่จะลดลงเพราะสาเหตุเด็กเกิดน้อยได้อย่างไร 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง