"วัดพระราม" ชนวนความขัดแย้ง "อิสลาม-ฮินดู" ในอินเดีย

ต่างประเทศ
22 ม.ค. 67
11:38
1,516
Logo Thai PBS
"วัดพระราม" ชนวนความขัดแย้ง "อิสลาม-ฮินดู" ในอินเดีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลายวันที่ผ่านมาท้องถนนทั่วเมืองอโยธยาเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง เมื่อ "วัดพระราม" วัดศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูกำลังจะเปิดในวันนี้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะยินดีกับบรรยากาศนี้ โดยเฉพาะชาวมุสลิมที่กังวลว่า วัดนี้อาจเป็นชนวนความขัดแย้งทางศาสนาระลอกใหม่

การสร้าง "วัดพระราม" ในเมืองอโยธยา ประเทศอินเดีย ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของรัฐบาลพรรค BJP ที่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมฮินดู หลังจากนเรนทรา โมดี ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2014 พร้อมกับการผลักดันแนวคิดทางการเมืองอย่าง "ฮินดูทวา" หรือ ความเชื่อที่ว่าอินเดียควรเป็นดินแดนของชาวฮินดู ให้กลายเป็นวาระของชาติ

บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองบนถนนอโยธยา

บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองบนถนนอโยธยา

บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองบนถนนอโยธยา

ผู้นำอินเดียฉลองเปิด "วัดพระราม" เรียกคะแนนก่อนเลือกตั้ง

ท้องถนนในเมืองอโยธยาเต็มไปด้วยบรรยากาศรื่นเริง เสียงดนตรีและสีสัน หลังจากชาวฮินดูจากทั่วทุกสารทิศทยอยหลั่งไหลมาที่เมืองนี้เพื่อเข้าร่วมในพิธีเปิดวัดพระราม ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงเที่ยงๆ วันนี้ (22 ม.ค.2567) ตามเวลาท้องถิ่น

ผู้นำอินเดียจะเป็นประธานในพิธี หลังจากอดอาหารมา 11 วัน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีชำระล้างเพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมงานสำคัญในครั้งนี้ แต่นักบวชฮินดูบางส่วนปฏิเสธเข้าร่วมงาน เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่มีการจัดพิธีเปิด ทั้งๆ ที่ยังสร้างวัดไม่เสร็จ ขณะที่แกนนำพรรคฝ่ายค้านหลายคนไม่ยอมเข้าร่วมงาน เพราะมองว่า วัดแห่งนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเรียกคะแนนนิยม ก่อนหน้าการเลือกตั้งในเดือนเมษายน หรือ พฤษภาคมนี้

นเรนทรา โมดี จะเป็นประธานในพิธี หลังจากอดอาหารมา 11 วัน

นเรนทรา โมดี จะเป็นประธานในพิธี หลังจากอดอาหารมา 11 วัน

นเรนทรา โมดี จะเป็นประธานในพิธี หลังจากอดอาหารมา 11 วัน

วัดพระรามเกิดขึ้นจากความพยายามมากกว่า 30 ปีของพรรค BJP และแม้ว่าวัดแห่งนี้จะเป็นฝันที่กลายเป็นจริงของชาวอินเดียส่วนใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นความทรงจำอันโหดร้ายของชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อย และยังเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงความขัดแย้งทางศาสนาที่สืบย้อนไปได้ไกลหลายร้อยปี

จุดเริ่มต้นความบาดหมาง 2 ศาสนา

จุดเริ่มต้น คือ มัสยิดบาบรี โดยสร้างขึ้นเมื่อปี 1528 ตามคำสั่งของ "จักรพรรดิบาบูร์" ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของ "จักรวรรดิโมกุล" ที่ปกครองอินเดียตั้งแต่ปี 1526 จนถึงช่วงศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะล่มสลายลงหลังอังกฤษเข้ายึดครองอินเดีย ชาวฮินดู เชื่อว่า มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นบนซากปรักหักพังของวัดที่ถูกทำลายและเป็นสถานที่ประสูติของพระรามเมื่อ 7,000 ปีที่แล้ว

มัสยิดบาบรี

มัสยิดบาบรี

มัสยิดบาบรี

ซึ่งจากข้อมูล พบว่า ชาวมุสลิมและฮินดูเริ่มขัดแย้งกันในประเด็นสถานที่ตั้งของมัสยิดแห่งนี้ตั้งแต่ปี 1856 ซึ่งทำให้อังกฤษต้องสร้างรั้วเป็นแนวกั้นแบ่งพื้นที่ของ 2 กลุ่มออกจากกัน

ในปี 1990 หัวหน้าพรรค BJP ขึ้นรถคาราวานเดินทาง 10,000 กิโลเมตร ข้ามตอนเหนือของอินเดียไปยังอโยธยา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างวัดพระราม หลังจากการเจรจาระหว่างกลุ่มชาวฮินดูและมุสลิมเพื่อยุติความขัดแย้งเรื่องมัสยิดบาบรีไม่เป็นผล

การตัดสินใจของ BJP ในครั้งนั้นทำให้ความบาดหมางของ 2 ศาสนา ในอินเดียยิ่งร้าวลึก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ BJP ก้าวขึ้นเป็นพรรคการเมืองที่โด่งดังในระดับชาติ ขณะที่กระแสชาตินิยมฮินดูเรื่องการสร้างวัดพระรามที่ถูกจุดขึ้นในสังคมอินเดีย นำไปสู่การประท้วงรุนแรงและเหตุจลาจลหลายครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน

แม้ชาวฮินดูบางกลุ่มจะพยายามทำลายมัสยิดบาบรีหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งในวันที่ 6 ธ.ค.1992 นักเคลื่อนไหวที่คาดว่ามีมากถึง 200,000 คน บุกทุบทำลายมัสยิด ซึ่งเหตุการณ์นี้จุดชนวนให้เกิดการจลาจลในหลายเมืองทั่วอินเดีย และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 2,000 คนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

6 ธ.ค.1992 นักเคลื่อนไหวบุกทุบทำลายมัสยิดบาบรี

6 ธ.ค.1992 นักเคลื่อนไหวบุกทุบทำลายมัสยิดบาบรี

6 ธ.ค.1992 นักเคลื่อนไหวบุกทุบทำลายมัสยิดบาบรี

การแย่งชิงพื้นที่ดังกล่าวยุติลงในปี 2019 หลังจากศาลสูงสุดอินเดียตัดสินให้พื้นที่พิพาทตกเป็นของชาวฮินดู และให้มีการสร้างมัสยิดแห่งใหม่ห่างจากจุดเดิม 25 กิโลเมตร ขณะที่ในปีถัดมา จึงได้เริ่มมีการสร้างวัดพระรามขึ้นในที่สุด

แกนนำกลุ่มมุสลิมที่ดูแลโครงการสร้างมัสยิด คาดการณ์ว่า จะเริ่มสร้างมัสยิดแห่งใหม่ในเมืองอโยธยาได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ และแม้ว่าผู้คนจะหวังให้ความขัดแย้งระหว่างศาสนายุติลง แต่ชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งยังคงกังวลถึงนโยบายของรัฐบาลอินเดีย

เมื่อเดือนที่แล้ว ศาลอินเดียรับคำร้องพิจารณาคดี ที่ชาวฮินดูเรียกร้องสิทธิในการเข้าใช้สถานที่ในมัสยิดที่เมืองพาราณสี ซึ่งสร้างขึ้นสมัยจักรวรรดิโมกุล รวมทั้งเรียกร้องให้มีการสร้างวัดภายในสถานที่ดังกล่าวด้วย หลังจากเชื่อว่า มัสยิดแห่งนี้สร้างทับที่วัดฮินดูในอดีต กลุ่มชาตินิยมฮินดูเตรียมใช้เครื่องมือทางกฎหมาย เพื่อทวงคืนพื้นที่สร้างวัด ซึ่งอาจกระทบกับมัสยิดหลายพันแห่งทั่วอินเดีย

อ่านข่าวอื่น :

ดีเอสไอ รอรับ "เฮียเก้า" บินกลับไทยมอบตัวสู้คดีไก่เถื่อน

"หวงน้อง-หงุดหงิด" ไขปมช้างโชว์อนุสรณ์ดอนเจดีย์ทำร้ายเจ็บ 4 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง