“โครงการแลนด์บริดจ์” โปรเจคใหญ่ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่ต้องฟังเสียง "คนเล็กคนน้อย" ในพื้นที่

การเมือง
22 ม.ค. 67
20:30
503
Logo Thai PBS
“โครงการแลนด์บริดจ์” โปรเจคใหญ่ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่ต้องฟังเสียง "คนเล็กคนน้อย" ในพื้นที่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลับจากประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม ที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็บินต่อไป จ.เชียงใหม่ ทันที เพราะมีนัดหมายร่วมงานกับนักศึกษาหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง ที่มี พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ เป็นประธาน

เช้าวันที่ 22 ม.ค.2567 นายกรัฐมนตรีบินลงไป จ.ระนอง เพื่อเตรียมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร โดยออกจากกรุงเทพฯ 09.30 น. จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ด้วยเครื่องบินกองทัพอากาศ

ถึงท่าอากาศยานระนอง 10.50 น. ไปสักการะศาลหลักเมืองระนอง และอนุสาวรีย์พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) อดีตเจ้าเมืองระนอง ณ ศาลหลักเมืองระนอง ต.เขานิเวศน์ อ.เมืองระนอง จ.ระนอง

อ่านข่าว : “คนไทยพลัดถิ่น” ยื่นนายกฯ เลิก “แลนด์บริดจ์” กระทบชีวิต-สิ่งแวดล้อม

จากนั้น เวลา 11.15 น. นายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังท่าเรือระนอง-เกาะสอง เพื่อพูดคุยประเด็นการค้าผ่านแดน แรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากร และประมง รวมถึงจะพบปะประชาชนกลุ่มประมง และกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

เมื่อเดินทางถึงมีตัวแทนจากองค์การสะพานปลามาให้การต้อนรับ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงการแก้ไขปัญหาประชาชน ที่ไม่มีสิทธิทางทะเบียน หรือบัตรประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น มุสลิมชาวเมียนมา และชาวเล

ขณะเดียวกันมีประชาชนมารอมอบดอกไม้ให้กำลังใจ พร้อมถือป้าย “ชาวปากน้ำระนอง ยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรี” พร้อมมอบผ้าขาวม้าขอจับมือ บอกรักนายกฯ ขอให้นายกอยู่ให้ครบ 4 ปี ขอให้นายกอยู่ให้ครบ 4 ปี

พร้อมกล่าวแซวกับนายกฯว่า “ชาวระนองสวยทุกคน” ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะกล่าวตอบกลับว่า “เชื่อครับ” พร้อมชี้ไปที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ซึ่งมีภริยาเป็นคน จ.ระนอง

นายกรัฐมนตรีเดินทางมาตรวจเยี่ยมสะพานปลาระนอง-เกาะสอง โดยมีประชาชนมาต้อนรับจำนวนมาก

นายกรัฐมนตรีเดินทางมาตรวจเยี่ยมสะพานปลาระนอง-เกาะสอง โดยมีประชาชนมาต้อนรับจำนวนมาก

นายกรัฐมนตรีเดินทางมาตรวจเยี่ยมสะพานปลาระนอง-เกาะสอง โดยมีประชาชนมาต้อนรับจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีชาวบ้าน เจ้าของแพปลา นำรูปถ่ายคู่กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเทียบเรือแห่งนี้ พร้อมกล่าวกับนายกรัฐมนตรีว่า “รู้สึกดีใจ ที่ได้นายกฯ เป็นคนที่ 2”

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดีใจที่ได้มาระนองครั้งแรก ในรอบ 40 ปี ซาบซึ้งถึงการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากพี่น้องชาวระนอง และความจริงใจจากชาวใต้ ที่มีให้กับพวกเรา แม้ระนองจะเป็นจังหวัดเล็ก แต่รัฐบาลให้ความสำคัญ

อ่านข่าว : ชง ครม.สัญจร-ระนอง อนุมัติ 21 โครงการ หนุนเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิต-พัฒนาท่องเที่ยวภาคใต้

ความจริงใจความอบอุ่นที่เราได้รับในวันนี้ จะประทับใจไปโดยไม่รู้ลืม จริง ๆ แล้ว ครม.เครือญาติกัน เนื่องจากรองนายกฯ เองก็เป็นเขยที่นี่ คุณจ๋ามีรอยยิ้มที่หวานที่จริงใจอย่างไรก็มัดใจนายอนุทินได้ เห็นได้ถึงความจริงใจ

จากการรับฟังการรายงานท่าเทียบเรือ มีในหลายมิติรัฐบาลยินดีสนับสนุนการปรับท่าเรือตรงนี้ให้ยกระดับมาตรฐานขึ้นมาสูงขึ้น เนื่องจากคำนึงถึงการค้าชายแดน การเดินทางระหว่างนักท่องเที่ยวที่มาจากเมียนมา รวมไปถึงการทำงานซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การที่เราจะปรับปรุงแต่ท่าเรืออย่างเดียวไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด แต่การที่มีการขนส่งสินค้า ทั้งขาเข้าและขาออก เรื่องที่สำคัญคือผู้ประกอบการต้องการความสะดวกสบายต้องการ One Stop Service ไม่ต้องเสียเวลา ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ ที่จะทำให้ท่าเรือระนองแห่งนี้มีความทันสมัย และมีความสะดวกสบายในการใช้

ผมยืนยันว่า จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่การทำให้ท่าเรือนี้ดีขึ้น และเรื่องการประมงถือเป็นเรื่องสำคัญการแก้ไขปัญหา IUU ก็สำเร็จไม่ได้เปราะหนึ่งแล้ว ซึ่งเข้าใจว่าทำให้ปลดล็อคให้คนไทยไปค้าขายได้อย่างดีขึ้น

อ่านข่าว : ชาวบ้านระบุรัฐบาล “มัดมือชก” โครงการแลนด์บริดจ์ ครม.สัญจรตั้งธงเดินหน้า

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติแหลมสน ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง เพื่อติดตามพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง)

ที่นั่นที่กลุ่มขาวบ้านซึ่งคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง มารอพบเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี

มะทม สินสุวรรณ ผู้อาวุโสซึ่งเป็นตัวแทนคนไทยพลัดถิ่น ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง เข้ายื่นหนังสือต่อนายเศรษฐา เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์ และเร่งรัดการทำบัตรประชาชนให้กับคนไทยพลัดถิ่นที่ล่าช้า

มะทมบอกว่า พื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง นั้น เป็นพื้นที่ทำกินของคนไทยพลัดถิ่น และชาวประมงพื้นบ้านเป็นจำนวนมาก หากมีโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ กว่า 3,000 ลำ

มะทม สินสุวรรณ ผู้อาวุโสซึ่งเป็นตัวแทนคนไทยพลัดถิ่น ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง เข้ายื่นหนังสือต่อนายเศรษฐา เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์

มะทม สินสุวรรณ ผู้อาวุโสซึ่งเป็นตัวแทนคนไทยพลัดถิ่น ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง เข้ายื่นหนังสือต่อนายเศรษฐา เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์

มะทม สินสุวรรณ ผู้อาวุโสซึ่งเป็นตัวแทนคนไทยพลัดถิ่น ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง เข้ายื่นหนังสือต่อนายเศรษฐา เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์

สำหรับคนไทยพลัดถิ่นจะเดือดร้อนกว่าคนไทยทั่วไป เพราะไม่มีบัตรประชาชน สามารถทำงานได้แต่ที่นี่และในทะเลเท่านั้น จะไปทำงานที่อื่นไม่ได้ เพราะออกนอกพื้นที่ก็จะถูกจับกุม

ขณะที่นายกฯ ระบุว่า จะรับฟังเสียงประชาชนทุกฝ่าย ให้ความสำคัญต่อการทำโครงการพัฒนา แต่ก็ต้องมีการรับฟังผู้ได้รับผลกระทบ

จากนั้นเวลา 17.00 น. นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมการบริหารจัดการบ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ก่อนจะเดินทางกลับที่พักที่โรงแรมฟาร์มเฮ้าส์ จ.ระนอง เพื่อเตรียมการประชุม ครม.สัญจรในวันพรุ่งนี้

อ่านข่าว : “โครงการแลนด์บริดชุมพร-ระนอง” กับความกังวลของคนในท้องถิ่น

การประชุม ครม.สัญจรพรุ่งนี้ ไม่ใช่มีเพียงการหารือโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เท่านั้น แต่ในวันนี้ที่มีการประชุมภาคธุรกิจเอกชนล่วงหน้า ได้มีการเตรียมเสนอ 21 โครงการ งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท ของกลุ่มจังหวัดอันดามัน เพื่อให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติแล้วด้วย
กลุ่มชาวบ้านทั้งจาก จ.ชุมพร และ จ.ระนอง มาชูป้ายคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ที่หน้าอุทยานแหลมสน จ.ระนอง

กลุ่มชาวบ้านทั้งจาก จ.ชุมพร และ จ.ระนอง มาชูป้ายคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ที่หน้าอุทยานแหลมสน จ.ระนอง

กลุ่มชาวบ้านทั้งจาก จ.ชุมพร และ จ.ระนอง มาชูป้ายคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ที่หน้าอุทยานแหลมสน จ.ระนอง

และยังไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ จะมีกลุ่มชาวบ้านจาก อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เข้ายื่นหนังสือคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง อีกหรือไม่ เพราะเมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) กลุ่มเกษตรกรพะโต๊ะ ได้รวมตัวกันระดมความเห็น-แลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อคัดค้านโครงการฯ ดังกล่าว หลังพบว่า จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

นี่ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องหาคำตอบให้ชัดเจน จากข้อมูลที่จะต้องศึกษาอย่างแท้จริง แม้นายกรัฐมนตรีจะบอกว่า “จะฟังความเห็นให้รอบด้านจากทุกฝ่าย” ซึ่งนั่นหมายถึง เสียงเล็กเสียงน้อยของคนที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบกับชีวิต ก็ควรจะมีความหมายด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง