ทช.คาด “แม่ท้ายเหมือง” ติดเชือกอวนตาย ไม่พบวางไข่ตามวงรอบ

สิ่งแวดล้อม
23 ม.ค. 67
08:06
710
Logo Thai PBS
ทช.คาด “แม่ท้ายเหมือง” ติดเชือกอวนตาย ไม่พบวางไข่ตามวงรอบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ทะเลหายาก ทช. คาดการณ์วงรอบวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง "ท้ายเหมือง" ไม่พบขึ้นวางไข่ตามกำหนด อาจเป็นตัวที่ถูกลอบหมึกรัดตาย

เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2567 ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โพสต์เฟซบุ๊ก Kongkiat Kittiwatanawong ถึงกรณีพบแม่เต่ามะเฟืองตายหาดท้ายเหมือง

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ

ผลการชันสูตรเบื้องต้นพบเป็นแม่เต่ามะเฟืองที่มีไข่ในท้อง ความยาวกระดอง 139 ซม. หากคาดการณ์จากวงรอบการวางไข่ของเต่ามะเฟือง (ขึ้นมาทุกๆ 10 +(-) 1 วัน) แม่เต่ามะเฟืองชื่อ "ท้ายเหมือง" ซึ่งครบกำหนดในระหว่างวันที่ 15-17 ม.ค.2567 แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่พบเห็นการขึ้นวางไข่ เมื่อเทียบเคียงกับจำนวนเวลาที่เต่ามะเฟืองตายมาแล้วประมาณ 1 อาทิตย์ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นแม่เต่ามะเฟืองท้ายเหมือง ทั้งนี้การเปรียบเทียบข้อมูล mtDNA ของเต่ามะเฟืองตัวที่ตายกับลูกเต่าที่ฟักจะสามารถยืนยันได้

การสูญเสียแม่เต่ามะเฟืองแต่ละตัว เท่ากับการสูญเสียลูกเต่ามากกว่า 15,000 ตัว ที่ตลอดชั่วชีวิตของแม่เต่าสามารถขยายพันธุ์ได้

ดร.ก้องเกียรติ ระบุว่า การอนุรักษ์และปกป้องแม่เต่ามะเฟืองในช่วงการเข้ามาวางไข่ รวมถึงปกป้องพ่อพันธุ์เต่าที่เข้ามารอผสมพันธุ์ จึงมีความสำคัญอย่างมาก แม้ในประเทศไทยจะยังไม่ประสบความสำเร็จในการติดตามการอพยพของแม่เต่ามะเฟือง แต่หากเทียบเคียงกับข้อมูลที่มีการศึกษาในต่างประเทศด้วยเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม พบว่าแม่เต่ามะเฟืองจะว่ายน้ำเป็นวงรอบ (loop) ในรัศมีประมาณ 80 กม. ทั้งนี้แตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิศาตร์และทิศทางการไหลของกระแสน้ำ

อ่านข่าว : เศร้า! "แม่เต่ามะเฟือง" ถูกอวนหมึกรัดคอตายคาหาดท้ายเหมือง 

เมื่อนำข้อมูลนี้มาจำลองบนแหล่งวางไข่ของประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางบริเวณหาดท้ายเหมือง และไกลออกไปจากฝั่งถึงบริเวณร่องน้ำลึก แสดงให้เห็นว่าระหว่างช่วงเวลา 10 วันที่แม่เต่าจะย้อนกลับมาวางไข่ แม่เต่ามะเฟืองอาจว่ายไปไกลถึงหมู่เกาะสุรินทร์ (หรือเหนือกว่า) และใต้สุดถึงบริเวณตอนใต้ของภูเก็ต

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในช่วงใกล้ขึ้นวางไข่ แม่เต่ามะเฟืองจะว่ายเข้ามาใกล้ฝั่งในรัศมีประมาณ 6 กม. ทำให้เป็นพื้นที่เปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการติดเครื่องมือประมง หรือเกี่ยวพันรัดกับขยะทะเลที่มีมากบริเวณใกล้ฝั่ง

ช่วงปลายปี 66 ถึงต้นปี 67 พบการเกยตื้น 3 ครั้ง เกิดจากการรัดพันของเชือกลอบเพียงเส้นเดียวถึง 2 ครั้ง ส่วนอีกครั้งติดอวน แม้ทั้ง 3 ครั้งมีตัวเดียวที่ตาย และเต่า 2 ตัวได้รับการช่วยเหลือให้กลับสู่ทะเล แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดการสูญเสียแบบนี้อีก

ดร.ก้องเกียรติ ยังเสนอว่า ระยะเร่งด่วนให้สำรวจและลาดตระเวณพื้นที่ทางทะเลในรัศมี 6 กม.จากฝั่ง เพื่อตรวจหาแม่เต่าที่รอขึ้นวางไข่ ตรวจสอบและแจ้งเตือน รวมถึงขอความร่วมมืองดใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายในพื้นที่ๆ พบแม่เต่า โดยอาจใช้อากาศยานไร้คนขับร่วมกับการลาดตระเวนทางเรือและจากบนหาด เน้นพื้นที่บริเวณหน้าแหล่งวางไข่ เช่น หาดท้ายเหมือง และหมู่เกาะพระทอง

ส่วนระยะยาว ควรประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่มีมาตรการลดภัยคุกคามต่อเต่าทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ทางทะเลหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดท้ายเหมือง และหน้าหมู่เกาะพระทอง

ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลเศร้าสูญเสีย "แม่เต่ามะเฟือง"

ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โพสต์ว่า หลายปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ อช.หาดท้ายเหมือง ทุ่มเทกำลังเดินตรวจตราชายหาด บินโดรนกลางคืน และขอให้ประชาชนทั่วชายฝั่งช่วยกันแจ้งข้อมูลและอย่าเก็บไข่เต่า

เนื่องจากช่วงเดือน ธ.ค.- ม.ค. จะมีแม่เต่าที่มาจากมหาสมุทรอินเดียวนเวียนมาหาดท้ายเหมือง รอเวลาขึ้นวางไข่และจะทยอยวางไข่หลายครั้งในช่วงฤดูวางไข่แต่ละปี ซึ่งอาจขึ้นมา 3-4 ครั้ง หรืออาจมากกว่า 5 ครั้ง เมื่อวางไข่ครั้งแรก แม่เต่ามะเฟืองจะกลับไปว่ายอยู่ในทะเล หากินตามแนวปะการังหน้าหาดท้ายเหมืองที่ไม่มีกฎหมายใดๆ มาคุ้มครอง และรอเวลาที่ไข่ชุดต่อไปจะพร้อมในอีก 10 วันในแต่ละรอบ

แต่รอบนี้ ไม่โชคดีเหมือนหลายสิบปีที่ผ่านมา แม่เต่ามะเฟืองจบชีวิตก่อนที่จะทำหน้าที่ครั้งสำคัญ

ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลคนนี้ยังหวังให้ลูกเต่าทะเลที่มีโอกาสรอดชีวิต ได้ทำหน้าที่ต่อจากแม่ของมัน พร้อมทิ้งท้ายว่า “ผมได้แต่หวัง แต่ก็อยากบอกตรงๆ เหมือนกันว่า ผมยังไม่เห็นความหวัง”

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า เต่ามะเฟืองติดลอบหมึกตาย คาดว่าอาจเป็นแม่ท้ายเหมือง พร้อมขอให้แม่เต่ามะเฟืองไปเกิดใหม่พร้อมลูกๆ ในโลกที่ดีกว่านี้

อ่านข่าวอื่นๆ

พบ "เสือโคร่ง" 2 สัญชาติ หากินข้ามประเทศไทย-เมียนมา

“โครงการแลนด์บริดชุมพร-ระนอง” กับความกังวลของคนในท้องถิ่น

"คัลแลน" ชวนไทยแยกขยะแบบเกาหลี-คพ.เล็งลดขยะอาหาร 28%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง