คนแรกของโลก! สหรัฐฯ ประหารชีวิตนักโทษด้วย "แก๊สไนโตรเจน"

ต่างประเทศ
26 ม.ค. 67
09:12
4,177
Logo Thai PBS
คนแรกของโลก! สหรัฐฯ ประหารชีวิตนักโทษด้วย "แก๊สไนโตรเจน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกติดตามให้ความสนใจ คือการประหารชีวิตนักโทษด้วย "แก๊สไนโตรเจน" ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ หรืออาจจะเป็นครั้งแรกในโลกด้วยซ้ำ ท่ามกลางคำถามเชิงมนุษยธรรมจากทั่วโลก

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2567 เป็นประเด็นถกเถียงขึ้นในสังคมทั้งระดับท้องถิ่นในแอละแบมา ในระดับประเทศทั่วสหรัฐฯ รวมถึงระดับโลกจากท่าทีองค์กรระหว่างประเทศที่คัดค้านมาระยะหนึ่งแล้ว ว่าวิธีการทำให้ขาดออกซิเจนด้วยการประหารชีวิตโดยแก๊สไนโตรเจนนี้ โหดร้ายทารุณ

รัฐแอละแบมาเตรียมเดินหน้าการประหารชีวิต เคนเน็ธ ยูจีน สมิธ ผู้ต้องขังในคดีฆาตกรรม หลังจากคำร้องอุทธรณ์ให้เลื่อนการประหารชีวิตที่ยื่นต่อศาลสูงสุดสหรัฐฯ และศาลอุทธรณ์ถูกปฏิเสธ ตามกำหนดการ รัฐแอละแบมามีเวลา 30 ชั่วโมง ในการประหารชีวิตสมิธ ด้วยการให้สวมหน้ากาก และให้หายใจแก๊สไนโตรเจนเข้าไป เพื่อให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน จนเสียชีวิตในที่สุด

ข้อมูลที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ ระบุว่า การประหารชีวิตจะเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 18.00 น. คืนวันพฤหัสบดีที่ 25 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 07.00 น. ตามเวลาในไทยเป็นต้นไป (หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง) โดยเจ้าหน้าที่ให้สมิธงดอาหารแข็งกว่า 8 ชั่วโมงก่อนหน้า และงดรับประทานของเหลวไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง เนื่องจากประเด็นหนึ่งที่มีความกังวลคือ ผู้ถูกประหารอาจจะอาเจียนและสำลัก และเผชิญความทรมานก่อนเสียชีวิต

แอละแบมาเผชิญข้อกังขาใช้ "ไนโตรเจน" ประหารชีวิต

การหายใจเอาไนโตรเจนบริสุทธิ์เข้าไปในร่างกายจะทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายแตกตัวและนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด โดยรัฐแอละแบมาในเอกสารที่ยื่นต่อศาลก่อนหน้านี้ว่า คาดการณ์ว่าสมิธจะหมดสติลงภายในเวลาไม่กี่วินาที และเสียชีวิตในเวลาไม่กี่นาที โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมการประหารชีวิตจะยังจ่ายแก๊สไนโตรเจนต่อไปอีกราว 5-15 นาที หลังจากชีพจรของเขาหยุดเต้น

แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้เผชิญเสียงวิจารณ์ เพราะข้อมูลทั้งหมดเป็นการประมาณการ ที่ไม่เคยผ่านการทดสอบ และผลอาจผิดไปจากที่คาด เท่ากับแอละแบมาใช้สมิธเป็นหนูทดลอง โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ความผิดพลาดอาจมีตั้งแต่การสำลัก ชักอย่างรุนแรง ไปจนถึงการรอดชีวิตจากการประหารแต่อยู่ในสภาพผัก

กลุ่มต่อต้าน มองว่า การขาดออกซิเจนอาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดและทรมานโดยไม่จำเป็น รวมทั้งยังทำให้คนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเสี่ยงได้รับอันตรายจากแก๊สไนโตรเจนด้วย ขณะที่การสวมหน้ากากอาจทำให้นักโทษไม่สามารถสวดภาวนา หรือพูดสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้ายได้

เคนเน็ธ ยูจีน สมิธ วัย 58 ปี ถูกจ้างวานให้สังหารหญิงคนหนึ่งเมื่อปี 1988 แลกกับเงิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ เขาถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิต และรอรับโทษมาตั้งแต่ปี 1996 เขาเคยเข้ารับโทษประหารด้วยวิธีฉีดสารพิษมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2022 แต่เจ้าหน้าที่ประสบปัญหาในการฉีดยาเข้าเส้นจนต้องยกเลิก ขณะที่วิธีการประหารชีวิตด้วยไนโตรเจนที่กำลังจะนำมาใช้กับสมิธ เพิ่งผ่านการอนุมัติมาได้ราว 5 เดือนเท่านั้น

3 รัฐรับรองประหารฯ ด้วย "ไนโตรเจน"

นอกจากจะเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ ที่ใช้การประหารชีวิตด้วยวิธีนี้ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโทษประหารชีวิต Death Penalty Information Center ระบุว่า สมิธเป็นคนแรกในโลกที่ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีนี้

ปัจจุบัน มีเพียง 3 รัฐเท่านั้นที่อนุญาตให้มีการใช้แก๊สไนโตรเจนประหารชีวิตนักโทษได้ ซึ่ง "โอกลาโฮมา" รับรองเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ เมื่อปี 2015 ตามมาด้วย "มิสซิสซิปปี" และ "แอละแบมา" ในปี 2018

ศูนย์ข้อมูลโทษประหารชีวิตในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา มีนักโทษถูกลงโทษประหารชีวิตในสหรัฐฯ ไปแล้วอย่างน้อย 1,582 คน โดยในจำนวนนี้ มากกว่า 1,400 คน รับโทษด้วยการฉีดสารพิษ ซึ่งเป็นวิธีประหารชีวิตหลักที่บังคับใช้ใน 28 รัฐทั่วประเทศ ขณะที่อีก 4 วิธีที่เหลือ เป็นทางเลือกในกรณีที่วิธีหลักทำไม่ได้ คือการ ฉีดสารพิษ ให้นักโทษนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า รมแก๊ส แขวนคอและยิงเป้า

แม้บางคนจะมองว่า การฉีดสารพิษโหดร้ายและเจ็บปวดน้อยกว่าวิธีอื่นๆ แต่การจัดหาสารพิษดังกล่าวทำได้ยากในสหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตยาอย่างน้อย 25 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไฟเซอร์ ขัดขวางการใช้สารพิษ Amnesty International ชี้ว่า เมื่อปี 2022 มีนักโทษถูกประหารชีวิตทั่วโลกมากกว่า 800 คน ใน 20 ประเทศ

อ่านข่าวอื่น :

ห่างตัวเมืองแค่ 7 กม. ทั้งโรงเรียนมีครูคนเดียว ต้องสอนรวด 8 วิชา

ตร.บางละมุงคุมตัว 2 เด็กชาย ขโมย จยย.เล่นเกมออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง