รัฐบาลต้องไม่เฉย ต่างชาติมองไทย ปลดล็อกกัญชา หาเรื่องใส่ตัว

สังคม
31 ม.ค. 67
15:54
907
Logo Thai PBS
รัฐบาลต้องไม่เฉย ต่างชาติมองไทย ปลดล็อกกัญชา หาเรื่องใส่ตัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ข้อสรุปจากเวทีเสวนา “มุมมองและเสียงสะท้อน ภายหลังกัญชา กระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติด” ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2567 จากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ

หลังจากมีความพยายามผลักดันให้นำกัญชาและยาเสพติดมาใช้ในทางการแพทย์และเศรษฐกิจ แต่ข้อเท็จจริงที่พบไม่ได้เป็นเช่นนั้นในหลาย ๆ พื้นที่ พบว่า มีการขายน้ำต้มใบกระท่อมที่ไม่ได้รับอนุญาต มีกาจำหน่ายใบกระท่อม กัญชา ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไร้มาตรการควบคุมเข้มงวด จึงทำให้ส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมา

นายวิโรจน์ สุ่มใหญ่ อดีตประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotics Control Board : INCB ) บอกถึงเสียงสะท้อนของในเวทีโลก ว่า เป็นเรื่องที่ไทยสร้างปัญหาขึ้นมาเอง แล้วประจานตัวเองให้ต่างประเทศมอง โดยเฉพาะรัฐภาคีสมาชิกมีการตั้งคำถามว่า เหตุใดประเทศไทยจึงปลดล็อกพืชกัญชา และทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาเสพยาเสพติด ซึ่งในโลกนี้มีเพียง อุรุกวัย แคนาดา และไทยเท่านั้นที่ทำ

“ในแคนนาดาเกิดจากการหาเสียงของนักการเมือง ที่บอกกับประชาชนว่าหากตนชนะการเลือกตั้ง เยาวชนจะสามารถสูบกัญชาได้อย่างเสรี เช่นเดียวกับประเทศอุรุกวัย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้เสพกัญชาได้ เพราะเกิดจากนโยบายหาเสียงเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อชนะการเลือกตั้งแล้วก็ต้องทำ ซึ่งเขาเห็นแล้วว่า เป็นการตัดสินใจด้านนโยบายที่ผิดพลาดและต้องหาทางแก้ไข

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคอาเซียน และเอเชียไม่เคยมีนโยบายแบบนี้ออกมา ยกเว้นไทย ประเทศเดียว ที่ให้ปลูกกัญชา ขายและเสพแบบเสรีใน ฐานะที่เคยเป็นบอร์ด INCB มีหน้าที่คือ ต้องอำนวยความสะดวกให้รัฐภาค

ยาเสพติดมี 2 มุมให้มอง เช่น ยาเสพติดที่จำเป็นต้องใช้ทางการแพทย์ การสกัดมอร์ฟีน ยาระงับอาการปวดจากฝิ่น ซึ่งเป็นพืชเสพติด ดังนั้นจะควบคุมอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้อนุพันธ์ของฝิ่นเข้าไปสู่ตลาดมืด

ขณะเดียวกัน การต้องควบคุมการผลิตยาว่า จะต้องมีจำนวน หรือปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับความต้องการใช้ของแต่ละประเทศ และไม่ใช่ทุกประเทศจะผลิตยาเองได้ นอกจากนี้ยารักษาโรคที่ผลิตจากยาเสพติดหากนำไปใช้ทางการแพทย์จะต้องติดต่อกับหน่วยงานใด

นายวิโรจน์ กล่าวว่า เคยมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้น เมื่อนักศึกษาจากประเทศบราซิล เข้ามาในประเทศไทยแล้วมีการนำช่อดอกกัญชาออกไปเพราะใช้ไม่หมด แต่ไปถูกจับกุมที่อินโดนีเซียในข้อหานำเข้ายาเสพติด หรือกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าเที่ยว ย่านสุขุมวิท และถนนข้าวสาร

ทั่วโลกเขาเตือนเราหรือไม่ วันนี้บทบาทองค์การระหว่างประเทศ เตือนไทยแล้ว แต่รัฐพยายามหาทางออกเพื่อทำให้ตัวเองไม่เสียหน้าประเทศ คือ ทำเหมือนไม่รู้ ไม่เห็น ทั้งที่ที่เขาส่งข้อมูล ผ่านทางสถานทูตไทยประจำกรุงเวียนนา มาหลายฉบับแล้ว

โดยขั้นตอนต่อไป หากเรายังเพิกเฉย เขาก็จะทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจกไปทุกประเทศทั่วโลก และหาทางเจรจากับรัฐบาลไทยให้ปรับปรุงแก้ไข หรือหนักกว่านี้อาจใช้มาตรการแซงชั่น และดูว่าประชาชนได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อนหรือไม่ จากการกระทำของฝ่ายการเมือง ซึ่งไทยจะทำเพิกเฉยต่อไปไม่ได้แล้ว

ด้าน นพ.ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า ตามหลักทางวิชาการ มีโรคที่ใช้กัญชารักษาทางการแพทย์แล้วได้ผลแล้ว 6 โรค

ประกอบด้วย โรคภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด, โรคลมชักที่รักษายาก, ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, ภาวะปวดประสาท, ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และการเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ตามขั้นตอนการรักษา คือ มีการใช้ยาแผนปัจจุบันรักษาแล้วไม่หาย จึงใช้กัญชา และต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกรายที่ได้รับการรักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์แล้วจะได้ผล

ในโรคมะเร็ง จำเป็นต้องทำการศึกษาค้นคว้าว่า การใช้กัญชารักษามะเร็งมีผล หรือตอบสนองต่อการรักษาอย่างไร ซึ่งยังสรุปไม่ได้ เพราะการรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

"คนเสพกัญชา ที่บอกว่า กัญชาเป็นสารเสพติดที่เสพแล้วเคลิบเคลิ้ม เพลิน อารมณ์ดี ไม่มีความแรง หัวเราะ เห็นหมาวิ่งผ่านมาก็ขำแล้ว เวลาเสพแล้วอารมณ์ดี แต่ข้อเท็จจริงที่พบ กัญชาเล่นแล้วหลอน หรือใช้แล้วหลับสบายก็ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง แต่พอเล่นมากเข้ามันก็หลอนขึ้นจริง” นพ.ล่ำซำ กล่าว

สำหรับสถิติการเข้ารับการบำบัดกัญชา กับ สบยช.นั้น นพ.ล่ำซำ ระบุว่า ตัวเลขปี 2565 และ 2566 สูงขึ้น คือ 22,083 ราย และ 41,516 ราย, ปี 2567 เฉพาะเดือน ม.ค. 14,545 ราย (ข้อมูล วันที่ 23 ม.ค.67) เชื่อว่า ตัวเลขผู้ใช้กัญชาที่ไม่เข้ารับการบำบัด จะมากกว่านี้ ขณะที่เมื่อแบ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดตามอายุ

ด้าน รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยสถิติการใช้กัญชาและกระท่อมของคนไทยอายุ 18 – 65 ปี ว่า จากการสำรวจทั่วประเทศ พบว่า เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ช่วงปลดล็อกกัญชาและกระท่อม

เมื่อแบ่งตามช่วงอายุ 18 – 19 ปี พบว่า ใช้กัญชาแบบสูบ สูงขึ้นประมาณ 10 เท่า จากร้อยละ 0.9 เพิ่มเป็นร้อยละ 9.7 ภายในเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงมาก

ทั้งนี้ มีผลการศึกษาวิจัยโดย ผศ.ศรีรัช ลาภใหญ่ ซึ่งสำรวจตลาดออนไลน์ เมื่อปี 2565 พบว่า 5 สินค้าที่มีการค้นหามากที่สุด คือ น้ำหวานทดแทนยาแก้ไอ 46% เครื่องดื่มลีน 22% กัญชาอัดแท่ง 11 เจลลี่เมา 10% เห็ดเมา 6%

โดยสินค้าที่เป็นสารเสพติดดังกล่าว มักจะสร้างภาพลักษณ์ให้ดูน่าสนใจ เช่น สร้างมายาคติว่าการมึนเมาคือความสุข ลดความน่ากลัวด้วยการรีวิวประสบการณ์การใช้ ตั้งราคาให้เข้าถึงง่าย กังวลว่า การที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงและได้ลองตั้งแต่อายุน้อย และจะทำให้เขากลายเป็นผู้เสพในที่สุด

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง