"ฮุน มาเนต" เยือนไทย 7 ก.พ. จับตาขยายการค้าไทย-กัมพูชา

ต่างประเทศ
6 ก.พ. 67
12:35
2,613
Logo Thai PBS
"ฮุน มาเนต" เยือนไทย 7 ก.พ. จับตาขยายการค้าไทย-กัมพูชา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ฮุน มาเนต" นายกฯ กัมพูชา เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 7 ก.พ.นี้ หารือ "เศรษฐา" ถกความร่วมมือ 2 ประเทศและยกระดับการค้าทวิภาคี

"ฮุน มาเนต" นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีกำหนดการเยือนประเทศไทยในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เพื่อพบหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ

และอีกหนึ่งหัวข้อหารือหลักคือ การยกระดับการค้าทวิภาคี แม้ว่าทั้งผู้นำไทยและกัมพูชา จะเป็นมือใหม่ในเรื่องทางการเมือง แต่ไม่ได้อ่อนประสบการณ์และความรู้เรื่องเศรษฐกิจการค้า

ฮุน มาเนต ก้าวเข้ามารับไม้ต่อจากสมเด็จฮุน เซน พร้อมกับชูนโยบายเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและทำให้ชาวกัมพูชากินดีอยู่ดี ซึ่งไทยในฐานะเพื่อนบ้านและประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆ ย่อมถือเป็นกุญแจสำคัญในสมการเศรษฐกิจนี้

ข้อมูลจากกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ระบุว่า กัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยเมื่อปีที่ผ่านมา 2,895 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบด้วยสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่อาหาร ยานพาหนะ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงปุ๋ยเคมีและเครื่องสำอาง

ขณะที่กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรมายังไทยเป็นหลัก มูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมดมากกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ตัวเลขดังกล่าวทั้งการนำเข้าและส่งออกของกัมพูชากับไทย ลดลงจากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในหลายภูมิภาค

รวมทั้งการยกระดับการค้าระหว่างกัมพูชากับจีน ทำให้มูลค่าการค้าของกัมพูชากับหลายประเทศลดลงไปโดยปริยาย เช่น ตัวเลขการนำเข้าสินค้าจากจีน เพิ่มสูงขึ้นใกล้แตะร้อยละ 45 เมื่อปี 2023

จีนครองเก้าอี้ประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของกัมพูชามาโดยตลอด โดยเมื่อปี 2023 มูลค่าการค้าของ 2 ประเทศ ทะลุ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ทิ้งห่างสหรัฐฯ กว่า 3,000 ล้าน

ตามมาด้วยเวียดนาม ไทยและญี่ปุ่น ซึ่งไทยเป็นอันดับที่ 4 ครองสัดส่วนการนำเข้าของกัมพูชาร้อยละ 12 และส่งออกราวๆ ร้อยละ 3-4

ดังนั้น แผนการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการขยายการค้าทวิภาคีไทย-กัมพูชา เป็น 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2025 หรือในอีกไม่ถึง 2 ปี

นับจากนี้อาจไม่ใช่งานง่าย โดยเฉพาะเมื่อประเมินจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกัมพูชา ขณะที่เวียดนามถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเลือกเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ เป็นประเทศแรกในอาเซียนของ ฮุน มาเนต หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ไม่ถึง 4 เดือน ชี้ชัดเจนถึงการให้ความสำคัญกับเวียดนามมากเป็นพิเศษ

ซึ่งการค้าเป็นหนึ่งในประเด็นหารือหลัก นอกเหนือไปจากเรื่องของความมั่นคงและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรมแดน โดยเวียดนามและกัมพูชามีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน โดยเฉพาะกับสมเด็จฮุน เซน อดีตผู้นำที่ยังมีบทบาทในการเมืองกัมพูชาอย่างเข้มข้น

จุดที่น่าสนใจ คือ ข้อมูลเปรียบเทียบมูลค่าการค้ากัมพูชากับชาติอาเซียนในปี 2565 กับปี 2566 จะพบว่า การค้าระหว่างกัมพูชากับอินโดนีเซียเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 14.6 ตามมาด้วยเวียดนามร้อยละ 7.3, สิงคโปร์ร้อยละ 7.1 และมาเลเซียร้อยละ 1.9 แต่ประเทศไทย ตัวเลขติดลบร้อยละ 17 ดังนั้นน่าจับตามองว่าการหารือของผู้นำทั้ง 2 ประเทศในวันที่ 7 ก.พ.นี้ จะได้เห็นความร่วมมือด้านการค้าออกมาในทิศทางไหน

หนึ่งในนโยบายที่ผู้นำของไทยแถลงต่อรัฐสภาเมื่อปี 2023 คือการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน เพื่อเปิดประตูการค้าทั้ง 4 ด้านของประเทศ ซึ่งกัมพูชาเป็นหนึ่งในนั้น และการเยือนรอบนี้จะมีการพูดคุยถึงประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนด้วย

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ ชี้ว่า เมื่อปี 2023 มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยรวมมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการค้ากับลาวมากที่สุด มากกว่า 700,000 ล้านบาท ตามมาด้วยมาเลเซีย เมียนมาและกัมพูชาน้อยที่สุด ไม่ถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งด่านศุลกากรบริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชาที่มีการส่งออกและนำเข้าสูงที่สุดคือ อรัญประเทศ

แม้ตัวเลขการค้าประเภทนี้จะไม่ได้สูงมากนัก แต่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของจังหวัดต่างๆ ตามแนวชายแดน ขณะที่ในปัจจุบันที่มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อทางคมนาคม ทำให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าไปยังประเทศที่สามที่ไม่ได้มีพรมแดนติดกับไทย เช่น จีน สิงคโปร์และเวียดนาม กำลังกลายเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับประเทศ

ที่สำคัญคือ การส่งสินค้าจากไทยผ่านลาวเข้าไปในจีน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดนไทย-ลาว เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21 สวนทางกับประตูการค้าอีก 3 บานคือ มาเลเซีย เมียนมา และกัมพูชา ที่มีตัวเลขการค้าลดลง โดยเฉพาะเมียนมา หลังจากการปะทะกับกลุ่มติดอาวุธทวีความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศ

แม้วันที่ 7 ก.พ.นี้ ฮุน มาเนต จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่นั่งเก้าอี้ผู้นำกัมพูชา แต่จริงๆ แล้วผู้นำทั้ง 2 คนเคยพบหน้ากันในเวทีระหว่างประเทศหลายเวที รวมถึงการเยือนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีไทย เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย.2023

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทย-กัมพูชา เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปรอบใหม่ 7 ก.พ.นี้

"สุทิน" รอรายงานจับชาวกัมพูชาจ่อเคลื่อนไหวช่วง "ฮุน มาเนต" เยือนไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง