จับกระแสการเมือง: วันที่ 6 ก.พ.2567 “ทักษิณ” คดีอาญา- สู่ ม.112 ความยุติธรรมบนเส้นทางคู่ขนาน

การเมือง
6 ก.พ. 67
17:21
766
Logo Thai PBS
จับกระแสการเมือง: วันที่ 6 ก.พ.2567 “ทักษิณ” คดีอาญา- สู่ ม.112 ความยุติธรรมบนเส้นทางคู่ขนาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ยังเปิดทางรอดสำหรับ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ถูกกล่าวหา คดีความผิดนอกราชอาณาจักร เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ม.112 ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อปี 2558

แม้คดีนี้ อัยการสูงสุด ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร จะมีความเห็นสั่งฟ้องไปตั้งแต่ปี 2559 แต่ผู้ต้องหาหลบหนี อัยการฯ จึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับ อีก 8 ปีต่อมา คือ 22 ส.ค.2566 “ทักษิณ” เดินทางกลับไทยเพื่อรับโทษในคดีอาญาอื่น ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567 ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว

ในขณะที่ “ทักษิณ” ให้การปฎิเสธ และยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด และอธิบดีอัยการ สำนักการสอบสวนได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นต้นและหนังสือขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา ประกอบสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว

และมีการทำความเห็นส่งให้อัยการสูงสุดใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้มีความเห็นและสั่งคดีต่อไป ทั้งนี้ “ทักษิณ” ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จากโทษจำคุก 8 ปี ในคดีที่พิพากษาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 3 คดี เหลือโทษจำคุก 1 ปี

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ในวันที่ 18 ก.พ.นี้ “ทักษิณ” เข้าข่ายได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ เพราะรับโทษจำคุกครบ 180 วัน หรือ 6 เดือนแล้ว แม้ว่ายังนอนพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ถือว่าเข้าเกณฑ์ เพราะเป็นนักโทษที่มีความเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

และรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน ของกำหนดโทษตามหมายแจ้ง เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป ไม่มีโทษกักขัง หรือไม่ถูกคุมขังตามหมายขังในคดีอื่น ต้องมีผู้อุปการะและยินดีรับอุปการะ ในกรณีที่ไม่มีผู้เกี่ยวข้องกับนักโทษเด็ดขาด

ประยุทธ เพชรคุณ” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า การร้องขอความเป็นธรรมทางคดีของ “ทักษิณ” ไม่มีเงื่อนเวลา ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่อัยการสูงสุดมีระเบียบว่า ผู้ต้องหาต้องยื่นด้วยตนเองและจะไม่ให้มีการประวิงเวลาให้ช้าออกไป

ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งพักโทษของนายทักษิณจากกรมราชทัณฑ์ออกมา แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัว โดยกรมราชทัณฑ์ได้ตอบรับการอายัดตัวไว้แล้ว และหากมีการพักโทษ “ทักษิณ” พนักงานสอบสวนจะอายัดตัวไว้ และสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้ โดยการขออำนาจจากศาลฝากขัง

หากพนักงานสอบสวนอายัดตัวไว้ในช่วงที่อัยการตรวจสำนวนเสร็จ พนักงานอัยการสามารถส่งตัวฟ้องได้ทันที แต่หากต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม อัยการมีอำนาจในการปล่อยตัว โดยหลังจากสำนวนเสร็จสิ้น อัยการจะแจ้งให้ส่งตัวฟ้องในภายหลัง ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการว่า ณ เวลาที่นายทักษิณได้พักโทษ กระบวนการของอัยการอยู่ในขั้นตอนใด

ส่วนเจ้ากระทรวงตาชั่ง “บิ๊กวี” พ.ต.อ.เอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังปัดพัลวันเรื่องขอพักโทษของ “ทักษิณ” เลี่ยงหลบ โดยอ้างว่า เอกสารยังไม่มาถึงรัฐมนตรี แต่ถ้ากรมราชทัณฑ์หากมีการขออายัดตัวในคดี 112 ก็จะอำนวยความสะดวกให้พนักงานสอบสวน

ตามขั้นตอนในระหว่างการอายัดตัว เมื่อสอบสวนเสร็จนายทักษิณสามารถขอปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อรอว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งเป็นคดีใหม่ และเป็นคนละส่วนกับคดีที่มีการขอพักโทษในวันที่ 18 ก.พ.นี้ ซึ่งหากนายทักษิณขอพักโทษ และมีการดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จในคดีมาตรา 112 ก็ไม่ต้องอายัดตัวแล้ว

ตามปกติจะมีการประชุมพักโทษ เดือนละ 1 ครั้ง และในการพิจารณา 1 ครั้ง มีจำนวนนักโทษหลายร้อยคน ส่วนนายทักษิณ จะได้รับการพักโทษในช่วงเดือน ก.พ.นี้หรือไม่ ยังไม่ได้ตรวจสอบ ซึ่งหากเกณฑ์การพักโทษครบ ก็อาจจะมีการพิจารณาอีกครั้ง

บางกรณีก็ได้พักโทษ บางกรณีก็ไม่ได้รับการพักโทษ ซึ่งการพักโทษก็ยังถือว่าถูกลงโทษอยู่ ส่วนจะใส่กำไล EM หรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา

สิทธิ์การขอพักโทษของผู้ต้องหา อยากให้เขาได้พักโทษตรงเวลา และในทางกฎหมายถือว่า ถูกควบคุมแล้ว ส่วนความคิดเห็นก็เป็นมุมมองที่แตกต่างกันไป

จึงต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตาว่า วันที่ 18 ก.พ.นี้ “ทักษิณ” จะได้สิทธิรับการพักโทษกรณีพิเศษ กลับไปพักผ่อนที่บ้านหรือไม่ และหากถูกอายัดตัวในคดี ม.112 ต่อ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร

เชื่อว่า หากกรมราชทัณฑ์มีแนวปฎิบัติที่เอื้อประโยชน์ให้เกินกว่าที่ประชาชนจะรับได้ บรรยากาศการเมืองไทยคงระอุไม่แพ้แดดฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง และคงจะหนีไม่พ้น หากจะถูกตั้งข้อวิพากษ์วิจารณ์ ต่อขั้นตอนการตัดสินตามกฎหมายที่ท้าทายต่อกระบวนการยุติธรรมไทยหรือไม่

ปิดท้ายที่ “บิ๊กอ็อบ” พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แม้วันทหารผ่านศึก 3 ก.พ.จะพ้นไปแล้ว แต่ไม่ทิ้งกัน โดยกองบัญชาการกองทัพไทย ยังคงให้ความสำคัญ โดยการจัดงาน “สัปดาห์ทหารนักรบ”

สำคัญและขาดไม่ได้ คือ การให้อดีตนายทหารมาถ่ายทอดประสบการณ์การรบและความรู้สึกให้กับนายทหารนักเรียนทั้งโรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนช่างฝีมือทหาร วปอ.66 หลักสูตร SME และหลักสูตรปฏิบัติการร่วม นอกจากการกล่าวสดุดี “วีรกรรมทหารผ่านศึก”

โดยอ่านบทกลอนแล้ว ยังเชิญ พล.ต.ประจักษ์ วิสุตกุล อดีตรองแม่ทัพภาค 2 นักรบ 6 สมรภูมิ วัย 81 ปี ที่เคยร่วมรบกับ “บิ๊กตุ๋ย” พล.อ.อิสรพงศ์ หนุนภักดี อดีตแม่ทัพภาค 2 บิดาของ “บิ๊กอ็อบ” มาด้วย

ว่าแล้ว ไม่ให้เสียเที่ยว “บิ๊กอ๊อบ” บอกว่า จะร่วมหารือกับ “บิ๊กทิน” สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อผลักดันนโยบายให้เงินผดุงเกียรติ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ให้กับทหารผ่านศึก เพื่อตอบแทนความเสียสละและให้สามารถดำรงชีพได้

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการค้นหาทหารผ่านศึกนิรนามที่สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นที่ลาว ระหว่างการสู้รบในสมรภูมิต่างๆ นับร้อยคน แบบเดียวกับที่สหรัฐฯ สืบค้นทหารที่สูญหายในต่างประเทศ และนำกระดูกมาส่งมอบให้ครอบครัวด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง