ภาคเหนือแชมป์สถานสงเคราะห์เด็กมากที่สุดเพราะความยากจน

ภูมิภาค
7 ก.พ. 67
10:07
374
Logo Thai PBS
ภาคเหนือแชมป์สถานสงเคราะห์เด็กมากที่สุดเพราะความยากจน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ภาคเหนือ คือ พื้นที่ที่มีสถานสงเคราะห์เด็กหนาแน่นที่สุดในประเทศไทย เฉพาะที่จังหวัดเชียงราย และ เชียงใหม่ มีสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนเกือบ 400 แห่ง โดยเด็กส่วนใหญ่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่ต้องเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์เพราะความยากจน และ แม้สถานสงเคราะห์จะตอบโจทย์การให้ปัจจัย 4 แต่การแยกเด็กออกจากครอบครัวกลับส่งผลเสียต่อพัฒนาการและการเติบโต ล่าสุดจึงมีข้อเสนอการปรับเปลี่ยนแนวทางช่วยเหลือครอบครัวของเด็กให้สามารถรับเด็กกลับคืนตามแนวทางของสหประชาชาติ

การใช้ภาชนะอาหาร แทนถาดหลุม และ สร้างบรรยากาศให้เหมือนอยู่บ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กในสถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เกิดความรู้สึกว่าพวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านหลังใหญ่ ไม่ใช่เด็กด้อยโอกาสในสถานสงเคราะห์

อรุณี นะมะมุติ ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์เปิดเผยว่า สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี รวมเกือบ 300 คน เด็กส่วนใหญ่ในสถานสงเคราะห์ เป็นเด็กกำพร้า หรือ ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ผู้ปกครองใช้ความรุนแรง หรือ ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และ เป็นผู้ต้องโทษ เด็กบางส่วนเป็นเด็กเร่ร่อน พลัดหลง หรือ ถูกทิ้งไว้ในที่สาธารณะ

เมื่อเด็กเข้ามาอยู่ในสถานสงเคราะห์ นอกจากปัจจัย 4 ที่เด็กๆ จะต้องได้รับแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การให้การศึกษา การจัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพ และ พัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม โดยเฉพาะเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ที่จะเรียนรู้ผ่านการเล่น และ สร้างประสบการณ์ชีวิต เพื่อให้มีความพร้อมที่ออกไปอยู่กับครอบครัวเดิม ครอบครัวบุญธรรม หรือ กลับคืนสู่สังคมเมื่ออายุเกิน 18 ปี

เด็กบางรายอาจจะถูกกระทำความรุนแรง ขาดความรัก ความเอาใจใส่ในครอบครัว แต่เมื่อมาอยู่ในความดูแลของเรา ครูพี่เลี้ยง นักสังคมสงเคราะห์ จะพยายามเติมเต็มความรัก ความเข้าใจ และ เป้าหมายสูงสุด คือ เด็กทุกคนควรจะได้กลับสู่ครอบครัวเดิม ผ่านการเตรียมความพร้อมโดยทีมสหวิชาชีพไม่ให้เกิดปัญหาทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ และ การใช้ชีวิต

แต่ละปี สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ สามารถคืนเด็กกลับคืนสู่ครอบครัวทั้งเด็กเล็ก และ เด็กโต ประมาณ 20-30 คน ส่วนเด็กบางคนก็ได้รับการอุปการะจากครอบครัวบุญธรรม ประมาณปีละ 30-40 ครอบครัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ เป็น1ใน 2 สถานสงเคราะห์เด็กสังกัดหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่สถานสงเคราะห์เด็กเอกชนมีจำนวนมากถึง 143 แห่ง จำนวนเด็กเกือบ 4 พันคน แต่ในจำนวนนี้ไม่ได้ขออนุญาตจัดตั้ง 89 แห่ง

แต่ข้อมูลของมูลนิธิวันสกาย สำรวจเมื่อปี 2565 พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน 175 แห่ง มีเด็กรวมกว่า 4 พันคน ส่วนที่จังหวัดเชียงรายพบสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน 196 แห่ง จำนวนเด็กกว่า 6 พันคน หรือ รวมกันประมาณ 1 หมื่นคน

ภาคเหนือ ยังเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนหนาแน่นที่สุดประเทศ โดยสาเหตุที่เด็กต้องไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ กลับพบว่ามาจากความยากจน และ การเข้าถึงการศึกษาเป็นหลัก

เฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่าเด็กเพียงร้อยละ 3 ที่กำพร้าพ่อแม่ และ ร้อยละ 9.6 กำพร้าพ่อ หรือ แม่ คนใดคนหนึ่ง ส่วนที่เหลือ ทั้งพ่อและแม่ยังมีชีวิตอยู่

วิวัฒน์ ธนาปัญญาวรคุณ ประธานมูลนิธิวันสกาย ระบุว่าข้อมูลที่สำรวจพบ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการแยกเด็กออกจากครอบครัว กลายเป็นการลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับเด็ก และ อาจจะส่งผลต่อเด็กในระยะยาว ตามแนวปฏิบัติด้านการเลี้ยงดูทดแทนของสหประชาชาติ

ล่าสุดมูลนิธิวันสกาย จึงพยายามสื่อสารให้สถานสงเคราะห์เด็กเอกชนหันมาคัดกรองเด็ก เพื่อหาวิธีการช่วยเหลือเด็กให้เหมาะสม และ ให้เด็กๆ กลับไปอยู่กับครอบครัวที่แท้จริง

ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็ก 1 คน อยู่ที่ประมาณ 5-6 พันบาทต่อเดือน แต่เงินจำนวนนี้หากนำไปสนับสนุนเด็กในรูปแบบของข้าวสารอาหารแห้ง ทุนศึกษา ค่ารถรับส่ง อาจจะช่วยเด็กได้ถึง 3-4 คน โดยที่เด็กยังได้อยู่กับครอบครัว สถานสงเคราะห์ 175 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ อาจมีงบประมาณสูงถึงหลักร้อยล้านบาทต่อปี งบประมาณเหล่านี้จึงเป็นประโยชน์มาก หากนำไปใช้ช่วยเหลือเด็กได้อย่างเหมาะสม

ประธานมูลนิธิวันสกาย ยังเสนอให้สถานสงเคราะห์ปรับเปลี่ยนทัศนคติ เมื่อเจอเด็กที่ร้องขอ หรือ พบครอบครัวประสงค์จะสละเด็ก แทนที่จะรับเด็ก อาจเปลี่ยนเป็นการให้กำลังใจ ส่งเสริมให้เขาสามารถเลี้ยงลูกเองก่อนได้ หรือ ให้การสงเคราะห์เป็นการชั่วคราวจนกว่าเขาจะยืนได้ด้วยตัวเอง

การที่เด็กไปอยู่สถานสงเคราะห์ เราไม่เคยถามเด็กว่าเขามีความสุขแท้จริงหรือไม่ เด็กอาจจะมีความสุขในช่วงแรก เพราะได้ทานอาหารที่เอร็ดอร่อย ได้กินอิ่ม มีที่นอนอุ่นสบายกว่าอยู่ที่บ้าน นั้นคือการตอบสนองความต้องการพื้นฐาน แต่ลึกๆแล้ว เด็กทุกคนต้องการมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกปลอดภัย ได้รับความรัก และ ความเอาใจใส่เป็นรายบุคคล ซึ่งสถานสงเคราะห์อาจไม่สามารถให้สิ่งเหล่านั้นแก่เด็กได้

พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง