"ยุทธศาสตร์ฟ้าใส" ไทยเชิญกัมพูชาร่วมแก้ปัญหา "ฝุ่นข้ามแดน"

ภูมิภาค
7 ก.พ. 67
20:36
345
Logo Thai PBS
"ยุทธศาสตร์ฟ้าใส" ไทยเชิญกัมพูชาร่วมแก้ปัญหา "ฝุ่นข้ามแดน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
1 ในข้อตกลงร่วมกันของไทยและกัมพูชา คือ การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน แต่ดูเหมือนข้อตกลง จะไม่ต่างจากที่ไทยเคยร่วมกับลาว และเมียนมาก่อนหน้านี้

ปัญหานี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กๆ เหมือนลักษณะของฝุ่น แต่ก็ไม่ไร้ความหวังเพราะสิ่งที่ไทยเริ่มทำแล้ว คือ MOU กับ ลาว และ เมียนมา การที่ผู้นำกัมพูชามาเยือนไทย จะได้เห็นข้อกำหนดร่วมกันที่ชัดเจนขึ้น ส่วนข้อกำหนดในลักษณะที่ผลบังคับ อย่างสั่งห้ามนำเข้าสินค้า "ธุรกิจก่อมลพิษ" จากเพื่อนบ้าน จะสามารถทำได้จริงหรือไม่? หรือยังเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ?

วันนี้ (7 ก.พ.2567) ทั้งผู้นำไทยและกัมพูชา เน้นย้ำแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนร่วมกัน โดยมีข้อตกลงตั้งคณะทำงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลและการเตือนจุดที่มีการเผา แบ่งปันแนวปฏิบัติในการจัดการการเผาพื้นที่เกษตร ทั้งหมดเป็นการขอความร่วมมือ ไม่ได้มีมาตรการบังคับใช้เป็นกฎหมาย

1 ในความร่วมมือวันนี้ คือ การเชิญกัมพูชาร่วม "ยุทธศาสตร์ฟ้าใส" หรือ CLEAR Sky Strategy ที่ไทยร่วมกับ ลาว และเมียนมา อยู่ก่อนแล้ว เป้าหมายหลัก คือ ลดจุดความร้อนให้ได้อย่างมีนัยสำคัญและส่งเสริมความร่วมมือทุกระดับ ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ เพื่อควบคุมปัญหามลพิษข้ามแดน ตรวจวัดคุณภาพอากาศของประเทศในอนุภูมิภาค

อีกตัวอย่างของการแก้ปัญหาฝุ่นข้ามแดน ที่เป็นมาตรการขอความร่วมมือ ไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย แต่ถ้าถามว่า ในอาเซียน มีใครใช้กฎหมายบ้าง คำตอบคือ ประเทศสิงคโปร์ ออกกฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2557 มีเป้าหมายเพื่อควบคุมธุรกิจปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ห้ามเผาป่า เพื่อบุกเบิกพื้นที่การเกษตร โดยฝ่าฝืนจะมีความผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง แม้ไม่ได้เผาซากปาล์มน้ำมันโดยตรง แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่ารับซื้อปาล์ม ชาวสิงคโปร์ก็สามารถฟ้องร้องได้ นอกจากนี้ สิงคโปร์ ยังออกประกาศขอความร่วมมือ ธุรกิจค้าปลีก งดขายสินค้าจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเผาป่าสร้างหมอกควันอีกด้วย

การที่ฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงในประเทศนั้นๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่การเผาเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและทิศทางลมด้วย ซึ่งจะพบว่า แม้จุดความร้อน ในกัมพูชาจะสูงมากกว่าไทย เมียนมา และลาว และฝุ่น PM 2.5 กลับไม่ได้สูงตาม พฤติกรรมฝุ่น PM 2.5 และจุดความร้อนในรอบ 20 ปี ที่จิสดารวบรวมไว้ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พบว่าภาคกลางของไทย จะได้รับผลกระทบจากจุดความร้อนจากกัมพูชา และเดือนมีนาคม-เมษายน พบว่าภาคเหนือจะได้รับผลกระทบจากจุดความร้อน เมียนมา และลาว เป็นแบบนี้มานาน

ลองเจาะลงไปที่กัมพูชา ฝุ่น PM 2.5 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในรอบ 20 ปี จุดความร้อนเคยพุ่งสูงสุดปี 2546 มี 17,000 จุด ผ่านไป 21 ปี จุดความร้อนลดลงไม่ถึง 10,000 จุด กราฟจุดความร้อนที่ดิ่งลงเรื่อยๆ ของกัมพูชา นับเป็นสัญญาณดี ในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน

ซึ่งหากจะทำให้ได้แบบสิงค์โปร์ ไทยจะต้องยกระดับความเข้มข้นที่มากกว่าการขอความร่วมมือ และไม่ใช่ขอให้เพื่อนบ้านหยุดการเผา แต่ไทยเองจะต้องห้ามเผาด้วย เพราะวันนี้ไทยพบจุดความร้อนพุ่งกว่าพันจุดขึ้นนำอันดับ 1 แซงเพื่อนบ้าน และพบในป่าอนุรักษ์มากที่สุด

อ่านข่าวเพิ่ม : 

"เศรษฐา" เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับ "ฮุน มาเนต" ลงนาม MOU ไทย-กัมพูชา

ไทย-กัมพูชา เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปรอบใหม่ 7 ก.พ.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง