“ดิจิทัลวอลเล็ต” สัญญาณมรณะ รัฐบาลเศรษฐาเสี่ยงสูง (สูญ)

การเมือง
8 ก.พ. 67
18:20
585
Logo Thai PBS
“ดิจิทัลวอลเล็ต” สัญญาณมรณะ รัฐบาลเศรษฐาเสี่ยงสูง (สูญ)
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

พลันที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาแถลงข้อเสนอแนะป้องกันการทุจริตโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งใน 8 ข้อท้วงติงมีหลายประประเด็นที่น่าสนใจ และรัฐบาลอาจต้องนำกลับไปทบทวน

ไม่ว่าจะเป็น ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพราะโครงการนี้แจกเงินเพียงครั้งเดียว แต่ให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม

หรือข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ความเจริญเติบโตของไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น

และรัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน

ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

และหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ ตาม พ.ร.บ.เงินกู้

และจ่ายในรูปเงินบาทปกติ ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิต ของกลุ่มประชาชนที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวด ๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบสามารถทำได้รวดเร็ว

และการดำเนินการกรณีนี้ หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว

เลขาธิการ ป.ป.ช. บอกว่า ทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอแนะเชิงวิชาการและประชาชนควรรับทราบ เพราะเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง ที่สุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ ประชาชน เราอาจได้รับเงินหมื่น แต่ต่อไปอาจถูก เก็บภาษี ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อนำไปชำระหนี้ ซึ่งอาจจะมากกว่า บางคนอาจจะบอกว่า ไม่เอา บางคนอาจจะเอา ก็แล้วแต่ความต้องการ สิ่งที่กังวลคือ ตนจะเป็นลูกหนี้ร่วมก็เท่านั้น

มีส่วนที่เห็นด้วยในบางข้อ แต่หลายข้อ ก็คิดว่าน่าจะเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการแนะนำ เช่น การให้จำกัดคนที่จะได้รับประโยชน์ให้เป็นเฉพาะกลุ่มเปราะบาง หรือรายได้น้อย ต้องมาดูว่าวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งอาจไม่ได้เจาะจงเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ข้อสังเกตและท้วงติงที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า ย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย หากดูปฏิกิริยาของ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกุนซือด้านเศรษฐกิจของฝ่ายค้าน แม้จะไม่สนับสนุนเต็มตัว แต่บอกว่า คำแนะนำของ ป.ป.ช.ก็เป็นเพียงอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตามพระราชบัญญัติมาตรา 32 แต่รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ ป.ป.ช.เสนอแนะ

การที่ ป.ป.ช.ทำรายงานฉบับนี้ออกมา แล้วทำให้ทุกอย่างต้องดีเลย์ออกไป เสียระยะเวลาโดยเปล่าประโยชน์ และรัฐบาลควรต้องเดินหน้าและหารือ หรือนัดประชุมกับคณะกรรมการนโยบายชุดใหญ่ เพื่อสรุปว่าโครงการนี้จะเดินหน้าในวิธีใดมากกว่า
ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ยังไม่แน่ชัด โครงการจะเริ่มเมื่อไหร่ เพราะกำหนดการ จากเดิมที่เป็นเดือน พ.ค.นี้ ก็เลื่อนออกไป โดยไม่มีกำหนด และมีข้อจำกัด คือ แม้จะใช้งบฯปี 2568 ก็ยังไม่มีงบประมาณพอ สำหรับโครงการ 5 แสนล้านบาท ดังนั้น การลดกลุ่มเป้าหมายลงมาจึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง แต่อีกปมที่ยังไม่ได้แก้คือเรื่องความคุ้มค่าของโครงการ

ศิริกัญญา ระบุ

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ หนุนส่งแบบเต็มสตีม โดย สรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา บอกว่า หากรัฐบาลศึกษาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ผลดี ผลเสีย ผลกระทบ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านแล้ว ก็ควรเร่งดำเนินการ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ขัดขวางรัฐบาล

ส่วนการที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาอธิบายว่า ไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ หากรัฐบาลเชื่อว่าวิกฤติเศรษฐกิจจริง ๆ ก็ต้องดำเนินนโยบายนี้โดยทันที เพื่อระงับความเสียหายทางเศรษฐกิจอันอาจจะเกิดขึ้น

และไม่จำเป็นต้องกู้เงินโดยตราเป็นร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้สภาฯ อนุมัติ แต่รัฐบาลสามารถกู้เงินโดยตราเป็นร่างพระราชกำหนดทดแทนได้

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลออกมาดาหน้าโต้กลับ ป.ป.ช. อย่างเดือดดาลผ่านโลกโซเชียล โดยเฉพาะ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตขุนคลังในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่โพสต์เฟซสั้นๆ ว่า “มือไม่พาย เอาหางราน้ำ”

เศรษฐา ทวีสิน รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

เศรษฐา ทวีสิน รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

เศรษฐา ทวีสิน รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

ไม่ต่างจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีที่ออกมาสวนกลับ ป.ป.ช.ในประเด็น การแจกเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยระบุว่า หน้าที่ ป.ป.ช. คือตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่วนนโยบายจะให้ใครบ้างเป็นของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคำนึงถึงและน้อมรับฟังตามข้อสังเกตของการทุจริต

“เรื่องของคนเปราะบาง ถ้าผมบอกว่าต่ำกว่า 20,000 ไม่เปราะบาง หรือถ้าบอกว่าสูงกว่า 20,000 ไม่เปราะบาง คุณได้เงินเดือน 20,000 จะโต้เถียงหรือไม่ ผมเปราะบางเหมือนกัน ผมก็มีหนี้เยอะ ผมก็ต้องการการกระตุ้นเหมือนกันใ ช่ไหมครับทางด้าน ป.ป.ช. หน้าที่ของท่าน คือ เสนอมาแล้ว เรื่องการทุจริตต้องระมัดระวังตรงนี้ก็น้อมรับ” นายกฯ ระบุ

ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถามเรื่อง ป.ป.ช. กับ ดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ปปช. ไม่ได้ทำเกินหน้าที่ เพราะ พ.ร.ป. ป.ป.ช. มาตรา 32 เขียนไว้ว่า ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต แม้โครงการยังไม่เกิด ก็เสนอเพื่อป้องกันได้

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปดูนโยบายการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ก็พบว่า กกต.ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายในหน้าที่ เพราะมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ องค์กรอิสระร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนข้อท้วงติงของ ป.ป.ช. ในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

หากรัฐบาลเห็นว่า เป็นสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วน ก็ออกเป็น พระราชกำหนด อยากให้รัฐสภามีส่วนรับผิดชอบ ก็ออกเป็นพระราชบัญญัติ ส่วนครม. จะกล้าลงมติ ส่ง ร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เข้าสภาหรือไม่ และจะมีผลอย่างไรตามมา ไม่มีใครให้คำตอบได้

หากจับสัญญาณทางการเมือง จะเห็นว่า มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล ที่ออกมาให้ความคิดเห็นในลักษณะคล้ายจะหนุนช่วย เหมือนหวังดี แต่เป้าหมายระยะยาวยังไม่มีคำตอบ

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ยังคงเงียบกริบต่อนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ไม่มีเสียงสนับสนุน หรือคัดค้าน แต่ละพรรคเสมือนประคองตัวอยู่นิ่งๆ เพราะแค่บาดแผลที่เกิดขึ้นในพรรคตัวเอง ยากที่จะแก้ไขให้ฟื้น

สำหรับเพื่อไทย นอกจากเผชิญปัญหาวิฤกตศรัทธา ชั้น 14 รพ.ตำรวจแล้ว ถ้าไม่ทำตามสัญญาที่เคยหาเสียงไว้ การเลือกตั้งครั้งหน้า ก็มีความเสี่ยงสูง ที่จะสูญพันธุ์ สส.ในหลายพื้นที่ หรือกรณียังดึงดันเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปโดยใช้วงเงินงบประมาณเท่าเดิม

ไม่ลดหรือปรับไซส์ ...ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตใครจะเป็นผู้แบกรับ ดังนั้นการไม่เตะเบรก โดยเลือกที่จะฝ่าไฟแดงไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่ต่างจากการนำพารัฐนาวาและประเทศไปสู่สัญญาณมรณะ 

อ่านข่าวอื่นๆ :

จับกระแสการเมือง 8 ก.พ.2567 : "ดิจิทัลวอลเล็ต" แผลยังไม่เกิด ไม่ต้องทายา

"เรืองไกร" เล็งร้องหากรัฐบาลเดินหน้า "ดิจิทัลวอลเล็ต"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง