สปสช.นัดสัปดาห์หน้า หารือแก้หนี้ รพ.โรงเรียนแพทย์

สังคม
9 ก.พ. 67
13:37
282
Logo Thai PBS
สปสช.นัดสัปดาห์หน้า หารือแก้หนี้ รพ.โรงเรียนแพทย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สปสช.รับปาก ถกโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ในสัปดาห์หน้าแน่นอน แก้ปัญหาค้างชำระเงินค่ารักษาพยาบาล แจงเหตุที่ไม่ได้จ่ายเงินเต็มจำนวนกับคลินิกได้ เพราะส่งไป รพ.ขนาดใหญ่

วันนี้ (9 ก.พ.2567) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ทำหนังสือเร่งรัดให้ สปสช. ชำระค่ารักษาพยาบาลที่ค้าง ภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ว่า ขณะนี้ สปสช.ได้นัดหารือกับผู้บริหารโรงพยาบาลในกลุ่ม UHosNet จะลงพื้นที่ไปพูดคุย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในสัปดาห์หน้า

โดยหลังจากที่มีข้อเสนอแนะหรือแนวทางที่ชัดเจนร่วมกันแล้ว สปสช. จะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแก่โรงพยาบาลในกลุ่ม UHosNet โดยเร็วที่สุด

อ่านข่าว :"ชลน่าน" เปิดรับฟังปัญหา สปสช.ค้างจ่าย รพ.แพทย์-คลินิก กทม.

ปัญหาทำให้การเบิกจ่ายเงินล่าช้านั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาทางเทคนิค เช่น รายการเบิกจ่ายติดรหัส C (ข้อมูลรายการไม่ผ่านการตรวจสอบ) 611 ล้านบาท และรหัส DENY (ข้อมูลรายการที่ถูกปฏิเสธการจ่าย) 389 ล้านบาท รวมทั้งการจ่าย 0 บาท กรณีเบิกค่าใช้จ่ายนอกรายการ Fee Schedule ซึ่งจากเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ สปสช. ต้องมีการตรวจสอบและ Mapping รหัสการเบิกจ่ายใหม่ ทำให้การจ่ายเงินค่าบริการล่าช้า

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ส่วนคลินิกใน กทม. ที่เรียกร้องให้เปลี่ยนโมเดลการจ่ายเงิน จากโมเดล 5 กลับมาเป็นโมเดล 2 นั้น ต้องเข้าใจว่า งบประมาณของ สปสช.ที่ให้กับคลินิกเป็นงบประมาณปลายปิด

อ่านข่าว :เครือข่าย รร.แพทย์ฯ ร้อง "ชลน่าน" ทวงเงินสปสช.ค้างจ่าย 14 ก.พ.นี้

โมเดล 2 เป็นการเหมาจ่ายรายหัวประชากร ให้กับคลินิก ส่วน โมเดล 5 ยังใช้งบประมาณเท่าเดิม เพียงแต่การจ่าย 2 ส่วน คือจ่ายตามราคาที่เรียกเก็บ ของบริการที่เกิดขึ้นในหน่วยปฐมภูมิ และจ่ายให้กับ รพ.ที่มีการรับส่งต่อ โดยพบว่า ในกทม. มีการส่งต่อผู้ป่วยไป รพ.ขนาดใหญ่ จำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถคืนเงินกลับมาให้คลินิกได้อีก

ในปี 2566 บริการรักษาพยาบาลมากขึ้น มีการเรียกเก็บมากขึ้น แต่ สปสช. ยังจ่ายตามกรอบงบปลายปิด เตรียมประเมินบริการที่เกิดขึ้นสมเหตุ สมผลหรือไม่ ถ้าใช่แสดงว่างบประมาณไม่พอ

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาในโรงพยาบาลโรงเรียนนั้น ก็พบว่า เป็นการให้บริการ ที่เกินมาตรฐานตามเกณฑ์ที่ สปสช. วางไว้ เนื่องจากโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จึงให้บริการอย่างเต็มที ดีที่สุดสำหรับคนไข้ ทำให้เกินมาตรฐานกลางที่กำหนด ตรงนี้ก็ต้องมีการหารือทำความเข้าใจกัน ผิดกับในต่างจังหวัด ที่ให้บริการตามเกณฑ์ เพราะต้องเข้าใจว่า งบประมาณรัฐมีข้อจำกัดเรื่องสิทธิประโยชน์

อ่านข่าว :เด้งรับ ! สปสช. เตรียมปรับระบบเงินค้างจ่าย ในคลินิก กทม.

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานกรรมการอำนวยการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นในตัว สปสช. ลดลงน้อยลงทุกที่ เพราะหลายครั้งสิ่งที่รับปากไม่เคยทำได้อย่างที่ว่า มาตลอด ครั้งนี้ จึงอยากปรึกษา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือในภาพใหญ่ โพรไวเดอร์บอร์ด ที่จะคิดอัตราค่าบริการ อย่างถูกต้อง สะท้อนข้อมูลที่เป็นจริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง