เบื้องหลังความสำเร็จ "ลูกพญาแร้ง" ตัวแรกในป่าห้วยขาแข้ง

สิ่งแวดล้อม
10 ก.พ. 67
14:44
2,330
Logo Thai PBS
เบื้องหลังความสำเร็จ "ลูกพญาแร้ง" ตัวแรกในป่าห้วยขาแข้ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดเบื้องหลังความสำเร็จ เกือบ 2 ปีที่ทีมวิจัยเฝ้าติดตามและลุ้นการจับคู่ทำรังของ "ป๊อก-มิ่ง” พ่อแม่พญาแร้ง กระทั่งนาทีแห่งความตื้นตันใจ "ลูกพญาแร้ง" ตัวแรกลืมตาดูโลกในป่าห้วยขาแข้ง
นักวิจัยบางคนดีใจจนน้ำตาไหลกับภาพนาทีที่ลูกพญาแร้งลืมตาดูโลก ถือเป็นความสำเร็จที่รอคอย

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผอ.องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกเล่าเบื้องหลังความสำเร็จของการขยายพันธุ์พญาแร้งในไทย ว่า ใช้เวลาเกือบ 2 ปี นับจากการนำ “ป๊อก-มิ่ง” พ่อแม่ “พญาแร้ง” คู่แรก กลับคืนสู่หน่วยซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2565 กระทั่งลูกพญาแร้งตัวแรกเกิดในกรงเลี้ยงขนาดใหญ่ ท่ามกลางป่าธรรมชาติ

ลูกพญาแร้งตัวแรกในป่าห้วยขาแข้ง เป็นความร่วมมือขององค์การสวนสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพันธมิตรหลายหน่วยงาน ที่พยายามศึกษาวิจัยและจับคู่พญาแร้งให้ขยายพันธุ์เองในธรรมชาติ

"มิ่ง" พญาแร้งตัวเมีย ที่อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯ และ "ป๊อก" พญาแร้งตัวผู้จากสวนสัตว์นครราชสีมา ทั้งคู่ได้ทำความรู้จักและเข้าหากันจนสามารถอยู่ร่วมกันในกรงขนาดใหญ่ที่หน่วยซับฟ้าผ่า กระทั่งเร็ว ๆ นี้ได้เกี้ยวพาราสีกัน ช่วยกันทำรัง สร้างความตื่นเต้นให้ทีมวิจัยที่เฝ้าดูการจับคู่ในครั้งนี้

วันปล่อย 2 พญาแร้งในกรงขนาดใหญ่กลางป่าซับฟ้าผ่า

วันปล่อย 2 พญาแร้งในกรงขนาดใหญ่กลางป่าซับฟ้าผ่า

วันปล่อย 2 พญาแร้งในกรงขนาดใหญ่กลางป่าซับฟ้าผ่า

ไข่ฟองแรกจากพญาแร้งคู่นี้ เป็นก้าวแรกของความสำเร็จ ทีมวิจัยยังต้องเผชิญการตัดสินใจครั้งใหญ่ว่าจะเลือกให้พ่อแม่ฟักเอง หรือนำเก็บไข่จากกรงมาฟักในตู้เลี้ยง สุดท้ายทีมเลือกที่จะให้ทั้งคู่ได้ฟักไข่ลูกด้วยตัวเอง ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ตลอดระยะการฟักไข่ 50 วัน ทีมนักวิจัยเฝ้ารอวันที่ลูกพญาแร้งลืมตาดูโลก กระทั่งถึงนาทีแห่งความตื่นเต้นและตื้นตันใจ เมื่อเห็นภาพลูกนกพยายามเจาะไข่ออกมา

นายอรรถพร เล่าว่า ตนเองได้รับโทรศัพท์จากห้วยขาแข้ง ว่า มีข่าวดีและรอลุ้นกัน เป็นความตื้นตันของนักวิจัยว่าสิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จแล้ว ไทยมีลูกพญาแร้งตัวที่ 2 ในกรงเลี้ยง และเป็นตัวแรกที่เกิดขึ้นในถิ่นกำเนิด ป่าห้วยขาแข้ง

เป็นความสำเร็จในงานอนุรักษ์วิจัยขยายพันธุ์สัตว์ป่า

ส่วนแผนการดูแลหลังจากนี้ จะให้พ่อแม่พญาแร้งเลี้ยงดูลูกต่อไป โดยนักวิจัยจะศึกษาพฤติกรรมจากกล้องวงจรปิด และเฝ้าระวังเงื่อนไขต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากลูกแร้งพัฒนาเติบโตได้ดีก็จะปล่อยให้เลี้ยงในธรรมชาติต่อไป เบื้องต้นยังไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับทีมวิจัยเข้าพื้นที่ เพราะต้องการให้ลูกพญาแร้งเติบโตแข็งแรง กินอาหาร เคลื่อนไหวได้ดี อย่างน้อยใช้เวลา 30 วัน

ทีมวิจัยทุ่มเทมาก กินนอนอยู่กับป่า เฝ้าระวังพฤติกรรมของพญาแร้งมาโดยตลอด ถือเป็นข่าวดีมาก

ผอ.องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย หวังว่าในในอนาคตไทยจะมีประชากรพญาแร้งเพิ่มขึ้นมากจนสามารถปล่อยและขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

หมุดหมาย "พญาแร้ง" โบยบินในป่า

ตื่นเต้นจนน้ำตาไหลตอนที่เห็นลูกนกออกมา เพราะ 2 ปีผ่านความท้าทายมาหลายอย่าง ยากมากที่จะเพาะขยายพันธุ์ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนที่ย้ายนกไปอยู่ป่าห้วยขาแข้งว่าคิดถูกหรือผิด

ชัยอนันต์ โภคสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ประสานงาน ผู้รับผิดชอบโครงการฟื้นฟูพญาแร้งคืนถิ่น บอกถึงความรู้สึกอิ่มเอมใจในก้าวที่ 3 เพราะนับจากก้าวแรกที่ทำกรงเลี้ยงกลางป่ากว่าจะจำลองกรงขนาดใหญ่ได้สำเร็จ จนก้าวที่ 2 การปล่อยพญาแร้งคู่แรกกลับบ้านเกิดเมื่อ 14 ก.พ.2565 และได้เห็นพัฒนาการของทั้งคู่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่ห้วยขาแข้งอยู่เคียงคู่กัน ในที่สุดได้ "ไข่ใบแรก" ในปีนี้ จนลูกนกออกมาลืมตาดูโลกกว้างเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือเป็นความสำเร็จที่รอคอยมาตลอด 2 ปี

เขาบอกว่า ทีมเฝ้าดูป๊อก-มิ่งผ่านกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมงที่ทำไว้บนรังความสูง 15 เมตร นับแต่เห็นการเริ่มสร้างรัง จนมีไข่ออกมาในช่วง 50 วัน เห็นทั้งคู่เฝ้าประคบประหงมผลัดกันกกไข่ ไม่ห่าง เรียกว่าเขามีสัญชาติญาณดีมาก เพราะพฤติกรรมของพญาแร้ง คือช่วยกันเลี้ยงลูก

บรรยายความรู้สึกไม่ถูก ยิ่งกว่าน้ำตาไหล เพราะเหมือนพาเขากลับบ้านได้สำเร็จ ทุกคนรอ และลุ้นทุกวินาที ตอนที่เจาะเปลือกไข่ไม่ได้หลับได้นอนเลย จริง ๆ คือ ช่วงเฝ้าระวัง 7-14 ก.พ.นี้ เพราะครบ 50 วันว่าจะออกมาเป็นลูกนก

ชัยอนันต์ บอกว่า สำหรับตัวเองเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ร่วมกับทีมวิจัยจากหลายภาคส่วนที่อยากเห็นพญาแร้งโบยบินในถิ่นกำเนิดคือป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นความท้าทายที่คนกว่า 10 คนอดทนรอคอย ซึ่งตัวเองใช้เวลากับการอยู่ในพื้นที่ราวครึ่งเดือน เพื่อติดตามและเก็บข้อมูลงานวิจัย

เขาบอกว่า ห้วยขาแข้งแทบจะเป็นบ้านหลังที่สอง ใช้ชีวิตร่วมกับทีมวิจัยพญาแร้งในหน่วยซับฟ้าผ่า ซึ่งเป็นจุดที่เคยมีพญาแร้งอาศัยอยู่ และสัตว์ป่าในห่วงโซ่อื่น ๆ ทั้งวัวแดง ช้าง เสือ โดยเข้าไปใกล้กรงน้อยที่สุดเพื่อไม่ให้รบกวนพญาแร้งและมีกลิ่นของคน เนื่องจากยังต้องมีอาหารไปให้พ่อและแม่กินวันเว้นวันราว 300 กรัมต่อตัว

การเก็บข้อมูลเป็นเรื่องใหม่ของไทย ข้อมูลทุกวินาทีเป็นงานวิจัยที่จะส่งมอบต่อเป็นเป้าหมายในการส่งเขากลับบ้านหรือดำรงในป่าห้วยขาแข้งมรดกโลก

หลังจากนี้ต้องรอดูพัฒนาการของลูกนกอย่างต่อเนื่อง ลุ้นต่อทุก 7 วัน 15 วัน และครบ 30 วัน ถึงจะเรียกว่าเป็นพญาแร้งตัวที่ 8 ของไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รอบ 30 ปี "ลูกพญาแร้ง" กะเทาะเปลือกไข่ลืมตาดูโลกป่าห้วยขาแข้ง 

สุดดีใจ! "มิ่ง พญาแร้ง" ออกไข่ใบแรกกลางป่าห้วยขาแข้ง 

สำเร็จ! “พญาแร้ง" คู่แรก กลับบ้าน "ห้วยขาแข้ง" ในรอบ 30 ปี 

เปิดบ้านกลางป่า "พญาแร้ง" ก่อนส่งตัว 14 ก.พ.นี้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง