"เศรษฐา" แถลงแก้หนี้ทั้งระบบ 12 ก.พ. - เครดิตบูโร เผยหนี้เสียพุ่ง 1.05 ล้านล้าน

การเมือง
12 ก.พ. 67
06:40
1,014
Logo Thai PBS
"เศรษฐา" แถลงแก้หนี้ทั้งระบบ 12 ก.พ. - เครดิตบูโร เผยหนี้เสียพุ่ง 1.05 ล้านล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย "มหาดไทย-คลัง-ผบ.ตร." ตั้งโต๊ะแถลงใหญ่ แก่หนี้ทั้งระบบอีกรอบ วันนี้ ขณะที่ เครดิตบูโร เปิดตัวเลขหนี้มีปัญหา "บ้าน-รถ" อาการหนัก ขณะหนี้เอ็นพีแอลพุ่ง 1.05 ล้านล้าน

วันนี้ (12 ก.พ.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเตรียมแถลงข่าวเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ 

ซึ่งการแถลงครั้งนี้ เตรียมออกแนวทางมาตรการแก้หนี้แต่ละกลุ่มที่ครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน ประกอบด้วย

กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และกลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน 

เครดิตบูโร เผยหนี้เอ็นพีแอลพุ่ง 1.05 ล้านล้าน

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เปิดเผยว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่บนฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ณ สิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ 13.6-13.7 ล้านล้านบาท ซึ่งพบว่าเติบโตร้อยละ 3.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสมาชิก 140 สถาบัน

ในจำนวนนี้พบเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการเติบโตร้อยละ 7.7 และเป็นส่วนของหนี้กำลังจะเสีย (หรือค้างชำระตั้งแต่ 31-90 วัน) รวม 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8

สำหรับหนี้เอ็นพีแอล 1 ล้านล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ประมาณ 3 ล้านคน โดยหนี้ที่เครดิตบูโรเป็นกังวล 3 ตัว คือ 1.หนี้เสียรถยนต์ ที่มีอยู่ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีก่อน แสดงให้เห็นถึงอาการหนี้เสียของรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากอาการผ่านรถยึดที่เข้าลานประมูล รถมือสองราคาตก

2."สินเชื่อบ้าน" ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงดีกันของปีก่อน

3.สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) เป็นหนี้เสีย 2.6 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นหนี้เสียตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เนื่องจากเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน ดอกเบี้ยแพง โดยมีลักษณะ "กู้เป็นก้อนผ่อนเป็นงวด"

นายสุรพล กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้การผ่อนบ้านสะดุดอาจมาจากปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้น โดยประมาณร้อยละ 60-70 ของหนี้กำลังจะเสียของสินเชื่อบ้านหรือราว 1.2 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อบ้านที่มีสัญญาวงเงินต่ำกว่า 3 ล้านบาท คือคนที่ผ่อนบ้านราคา 3 ล้านบาท ไม่ใช่คนที่มีรายได้สูง เป็นรายได้ปานกลางและรายได้น้อย และเป็นลูกหนี้ธนาคารรัฐ ซึ่งก็ต้องเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ก่อนจะไปเป็นหนี้เสีย

ประชาชนลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบแล้วกว่า 1.4 แสนคน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ผ่านมากว่า 2 เดือน โดยสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียน พบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 140,787 ราย มูลหนี้รวม 9,824.425 ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 118,267 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 22,520 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 110,321 ราย

ทั้งนี้ ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 18 วันที่ประชาชนยังคงสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะรับลงทะเบียนถึงวันที่ 29 ก.พ.2567 นี้ 

อ่านข่าวอื่นๆ :

นายกฯ ยันข้าวราคาดี ย้ำดิจิทัลวอลเล็ต ปชช.ไม่ต้องเร่ง

เอกชนชงเก็บภาษี VAT สินค้าออนไลน์ สกัดจีนทะลัก

"พิชัย" ชี้เงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนติง ธปท.เร่งออกนโยบาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง