จาก ขบวนเสด็จฯ ความขัดแย้ง ก่อนจะไปถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

การเมือง
12 ก.พ. 67
15:00
1,250
Logo Thai PBS
จาก ขบวนเสด็จฯ ความขัดแย้ง ก่อนจะไปถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังการแสดงพฤติกรรมของวัยรุ่นคนหนึ่งต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และเกิดเหตุชุลมุนระหว่างกลุ่มเห็นต่าง เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา มีหลากมุมมองหลายความเห็นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฝ่ายตำรวจออกมากำชับกันเองถึงมาตรการถวายอารักขาและถวายความปลอดภัย

นายกรัฐมนตรีเรียก ผบ.ตร.และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องหารือเรื่องนี้ พร้อมกำชับไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ซึ่งหากมองฝ่ายผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็ย่อมเคร่งเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพยายามแก้ไขข้อผิดพลาด

ขณะที่ฝ่ายการเมือง และกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ต่างใช้เหตุการณ์นี้ผลักไสใส่กัน จับโยงเรื่องราวเหตุการณ์ บุคคล เพื่อหวังประโยชน์กับฝักฝ่ายตน

ขณะที่อีกกลุ่มออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ ว่าจะต้องเป็นไปอย่างไร

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า การไปขัดขวางขบวนเสด็จ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เรื่องนี้อยู่ใน พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560

เมื่อวานนี้ นายคมสันต์ โพธิ์คง นักวิชาการด้านกฎหมาย หารือกับตนเพื่อขอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ โดยเติมบทลงโทษ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้ เน้นเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก และให้ไปใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.2477 แทน

แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอารักขาความปลอดภัย ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมวลชนที่เห็นต่าง ที่อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวกลายเป็นความเกลียดชังได้

ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำเกินไป เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง

ในแง่กฎหมายก็ดำเนินการไป แต่สิ่งที่สังคมไทยพึงปฏิบัติรวมทั้งทุกภาคส่วนองค์กรใด ๆ หรือวุฒิสภาเห็นว่า พฤติกรรมที่จะยับยั้งการกระทำเช่นนี้คือการปฏิเสธการกระทำของบุคคลเหล่านี้

นายวันชัย ยังเห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะไม่อยากให้มีบาดแผลในสังคมไทย เช่น การเผาทำลายบ้านเมือง ก็ซ่อมแซมแล้ว คนบาดเจ็บล้มตาย ก็หาแนวทางเยียวยาต่อไป

เรื่องแบบนี้ควรทำให้เป็นรูปธรรมในทางกฎหมาย อย่าพูดกันไปแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรื่อง 112 ยอมรับว่า เป็นประเด็นทางการเมือง คนเขาบอกว่า คดีร้ายแรงความผิดอาญาร้ายแรงสิ่งต่าง ๆ แบบนี้ จำเป็นต้องมีคณะกรรมการทางกฎหมายมาพิจารณา อย่าปล่อยให้คาราคาซังถ้าจะแยกแยะ 112 มีเหตุผลทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย แต่สามารถหาความพอดีได้ หาข้อยุติได้

นายวันชัยกล่าวว่า รัฐบาลจะต้องผลักดันเรื่องปรองดองสมานฉันท์เป็นหัวใจสำคัญ ไม่ใช่จะเอาแต่เรื่อง Digital wallet ที่ไม่ก่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ รังแต่จะขยายความขัดแย้งให้มากขึ้น

ด้าน นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง กรณีที่กรรมาธิการจะเชิญมาให้ความเห็นในสัปดาห์นี้ว่า มีความวุ่นวายใจ เพราะบรรยากาศการเมืองในขณะนี้ มีความโกรธเคืองกันในสังคม โดยเฉพาะความเห็นต่างกรณีขบวนเสด็จฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่าการนิรโทษกรรม จึงกำลังชั่งใจว่า ความเห็นที่จะเสนอนั้น จะประสบความสำเร็จหรือไม่

เสนอแนะให้สังคมรักษาความสัมพันธ์และความเป็นมิตร โดยเฉพาะในกลุ่มคนเห็นต่าง และไม่ต้องการให้ละเลยเยาวชนกลุ่มใหญ่ รวมถึงกลุ่มคนรุ่นต่าง ๆ เห็นว่าการดำเนินการไม่ควรมุ่งไปในทางใดทางหนึ่ง แต่ควรหาทางแง้มประตูไว้ หรือสร้างความผ่อนคลาย แง้มไมตรีจิต แสดงความให้อภัยซึ่งกันและกัน

นายโคทมกล่าว

นายคณิต ณ นคร เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 ก.พ.ที่กรรมาธิการเชิญมา ตนจะไม่เดินทางมาให้ความเห็น แต่เสนอแนะว่า เคยศึกษาประเด็นความขัดแย้งทั้งหมดไว้ในรายงาน คอป.แล้ว ให้กรรมาธิการนำมาพิจารณา

ที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครนำความเห็นของคณะกรรมการไปขยายผลให้เป็นรูปธรรม สุดท้ายก็ยังคงมีการยึดอำนาจรัฐประหาร และการปฏิรูปตำรวจก็ไม่ได้เป็นรูปธรรม จึงเห็นว่าหากจะมาให้ความเห็นอาจจะไม่เกิดประโยชน์

ขณะที่ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอผลการศึกษาการให้ความคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อวุฒิสภา โดยหยิบยกกรณีศึกษาจากต่างประเทศมาเปรียบเทียบชี้ให้เห็น โดยเชื่อว่า ผลศึกษาจะเป็นการตอบคำถามข้อสงสัยของสังคมไทย

ส่วนการเดินหน้าศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรมว่า ตนไม่สามารถตอบได้ว่า สนับสนุนการนิรโทษกรรม เพียงแต่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และชี้ว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่ต้นเหตุของความขัดแย้ง

เมื่อถามว่ากฎหมายนิรโทษกรรมควรมีหรือไม่ ต้องกลับไปดูว่า มีคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมหรือไม่ จากความขัดแย้งที่เป็นมาในอดีต ถ้ามีแล้วความ ยุติธรรมนั้นเกิดจากข้อกฎหมาย ต้องหากฎหมายมาแก้ คือนำกฎหมายนิรโทษกรรมมาใช้ แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงพูดไม่ได้เต็มที่ ถามว่าสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรมไหม ตอบไม่ได้ว่าสนับสนุน แต่ผมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ยังกล่าวถึงข้อถกเถียงกรณีนิรโทษกรรม ให้แก่ผู้ต้องโทษในคดี ม.112 ว่า มีการกระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งคดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่นอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการฯ ต้องถามว่า ความผิดเกินพอดีหรือไม่ และหากศาลชี้ว่า มีการกระทำผิดจริง ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ หรือหากได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว จะกลับไปทำอีกหรือไม่

นายสุวพันธ์กล่าว

อ่านข่าว : ผบ.ตร.ขอเวลา 2 วันหมายจับกลุ่มขวางขบวนเสด็จ เชื่อมีคนหนุน

"ผอ." ให้ข้อมูล ปปป.ยันไม่เกี่ยวข้องเรียกรับผลประโยชน์อธิบดี

ศาลสั่งจำคุกคนละ 15 ปี "5 ตำรวจ ตม." รีดเงินชาวจีน 10 ล้าน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง