"ครอบครองปรปักษ์" เจ้าของที่ดินต้องรู้ก่อนสูญเสีย "กรรมสิทธิ์"

สังคม
14 ก.พ. 67
14:25
13,132
Logo Thai PBS
"ครอบครองปรปักษ์" เจ้าของที่ดินต้องรู้ก่อนสูญเสีย "กรรมสิทธิ์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ฟังชื่อก็เหมือนจะสร้างความแตกแยก "การครอบครองปรปักษ์" แต่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายฉบับนี้ ตราขึ้นเพื่อให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตัวเอง อย่าปล่อยให้รกร้าง ไร้คนดูแล และกลายเป็นที่ไร้ประโยชน์ในที่สุด

"ที่ดิน" ถือเป็นสินทรัพย์อย่างเดียวที่ไม่ต้องดูแล ปล่อยทิ้งไว้เปล่าๆ ก็สามารถสร้างกำไรให้เจ้าของได้ตลอดเวลา เสน่ห์ของสินทรัพย์ชนิดนี้คือ "มีเพียงหนึ่งเดียว" หากอยากได้ก็ต้องซื้อเท่านั้น "ที่ดิน" จึงถือเป็นสินทรัพย์ที่คุ้มค่าแก่การลงทุนเพื่อเก็งกำไร หรือเก็บไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลานในอนาคต

แต่ความลำบากอย่างหนึ่งของคนที่มี "ที่ดิน" มากๆ คือ "ลืมไปว่ามี" เจ้าของที่ดินหลายคนและหลายครั้งที่อาจละเลยหรือลืมไปว่า ตัวเองมีที่ดินที่ปล่อยให้รกร้างอยู่ที่ไหนไว้บ้าง กว่าจะมารู้ตัวอีกทีคือ ได้รับหมายจากศาล ส่งไปยังเจ้าของที่ดินที่มีชื่อในกรรมสิทธิ์เพื่อให้มาคัดค้าน เพราะกำลังถูกบุคคลอื่นยื่น "ครอบครองปรปักษ์" 

ภาพประกอบข่าว : ที่ดิน-บ้าน รกร้าง ไม่มีคนดูแล

ภาพประกอบข่าว : ที่ดิน-บ้าน รกร้าง ไม่มีคนดูแล

ภาพประกอบข่าว : ที่ดิน-บ้าน รกร้าง ไม่มีคนดูแล

สงบ-เปิดเผย-เจตนาเป็นเจ้าของ

บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สำหรับการครอบครองปรปักษ์ มาตรา 1382 วางหลักไว้ว่า บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ 

โดย 3 หลักใหญ่ใจความหลักของกฎหมายมาตรา 1382 คือ

  • สงบ - มิได้มีการโต้แย้งสิทธิ ไม่มีการหวงห้ามกีดกัน แสดงความเป็นเจ้าของ หรือฟ้องร้องขับไล่มีคดีความกัน 
  • เปิดเผย - แสดงการครอบครองโดยชัดแจ้ง มิได้ซ่อนเร้น ปิดบังอำพราง 

  • เจตนาเป็นเจ้าของ - ใช้ประโยชน์เสมือนเป็นที่ดินของตนเอง ติดป้ายประกาศว่าตัวเองเป็นเจ้าของ

ภาพประกอบข่าว : การเข้าไปใช้พื้นที่คนอื่นทำกิน

ภาพประกอบข่าว : การเข้าไปใช้พื้นที่คนอื่นทำกิน

ภาพประกอบข่าว : การเข้าไปใช้พื้นที่คนอื่นทำกิน

แต่ใช่ว่าเพียงแค่ การที่เจ้าของที่ดินลืมไปดู บวกกับ บุคคลอื่นเข้าไปใช้พื้นที่เกิดประโยชน์ตลอด 10 ปี แล้วจะทำให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินไปง่ายๆ การเสียกรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์ ยังมีเงื่อนไขมากพอควร ก่อนที่การครอบครองปรปักษ์จะสมบูรณ์ ผู้ยื่นครอบครองปรปักษ์ หรือ บุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแต่เดิม ต้องร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจบนที่ดินนั้นตั้งอยู่ และศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ แต่คำร้องของผู้ร้องต้องมีการประกาศผ่านสื่อ เพื่อให้โอกาสผู้มีสิทธิหรือผู้มีส่วนได้เสีย "คัดค้าน"

กรณีไม่มีผู้คัดค้าน ศาลจะทำการไต่สวนคำร้องไปฝ่ายเดียว และมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ จากนั้นให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องในโฉนดที่ดินนั้นๆ แต่หากมีผู้คัดค้าน (เจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับมอบฉันทะ) ก็จะเป็นคดีมีข้อพิพาท ผู้ร้องจะมีฐานะเป็นโจทก์ ผู้คัดค้านมีฐานะเป็นจำเลย 

ภาพประกอบข่าว : ศาลตัดสิน

ภาพประกอบข่าว : ศาลตัดสิน

ภาพประกอบข่าว : ศาลตัดสิน

แม้กฎหมายครอบครองปรปักษ์จะสร้างความกังวลใจให้เจ้าของที่ดินที่ไม่มีเวลาไปดูแล แต่การเสียกรรมสิทธิ์ให้บุคคลอื่นโดยครอบครองปรปักษ์ ต่อให้มีเงื่อนไขมากแค่ไหน แต่ถ้าเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมหมั่นคอยไปดูแล ไม่ทิ้งร้างเป็นเวลานาน ก็ถือเป็นการขจัดปัญหาการถูกแย่งที่ไปฟรีๆ ได้

ไม่ใช่ทุก "ที่ดิน" ครอบครองปรปักษ์ได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีสิทธิในที่ดิน แต่หากพิจารณาตามกฎหมายแล้ว สิทธิในที่ดินแต่ละประเภทนั้น แตกต่างกันไป โดยเฉพาะสิทธิในการแย่งการครอบครอง 

  • โฉนด – สามารถถูกแย่งการครอบครองได้ ด้วยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดิน กล่าวคือ หากมีบุคคลภายนอกเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี บุคคลดังกล่าวก็ย่อมสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งว่าที่ดินเป็นของตนด้วยการครอบครองปรปักษ์ได้

  • นส.3 ก – ที่ดินประเภทนี้ผู้ครอบครองไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ดังนั้นย่อมไม่สามารถถูกครอบครองปรปักษ์ได้ แต่สามารถถูกแย่งการครอบครองได้ด้วยการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยผู้ถูกแย่งสิทธิครอบครอง ต้องฟ้องคดีต่อผู้แย่งการครอบครองภายใน 1 ปี 

  • ส.ป.ก. 4-01 แย่งการครอบครองไม่ได้ กล่าวคือ สิทธิทำกินในที่ดิน เป็นสิทธิเฉพาะตัว แม้ไม่ได้ทำกินบนที่ดินแล้ว สิทธิครอบครองก็กลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งไม่มีกฎหมายให้บุคคลทั่วไปแย่งการครอบครองได้
ภาพประกอบข่าว : ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

ภาพประกอบข่าว : ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

ภาพประกอบข่าว : ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

นอกจากนี้ ยังมีทรัพย์บางประเภทที่ไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ เช่น ทรัพย์ของทางราชการ ที่ราชพัสดุ ที่ธรณีสงฆ์ ไม่ว่าจะครอบครองมานานเท่าไรก็ไม่มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อขอกรรมสิทธิ์ได้ 

เจ้าของที่ดินควรทำก่อนโดนครอบครองปรปักษ์

  1. ตรวจ - หมั่นไปดูแลที่ดินเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  2. ถาม - ถามไถ่ชาวบ้านละแวกใกล้เคียง ว่ามีใครมาใช้ที่ดินของเราหรือไม่
  3. เช็ก - ตรวจหลักหมุดให้อยู่ที่เดิม เช็กว่าหลักหมุดมีการเคลื่อนย้าย ชำรุดหรือไม่
  4. แจ้ง - ถ้าหลักหมุดหายหรือถูกย้าย ให้แจ้งความดำเนินคดี
  5. รังวัด - ควรรังวัดที่ดินอย่างน้อยทุก 5 ปี เพื่อตรวจสอบที่ดินว่าเพิ่มหรือลดลงหรือไม่
  6. ไล่ - ถ้าพบผู้อื่นเข้ามาครอบครองหรืออยู่อาศัย ควรให้ทำสัญญาเช่า จะซื้อจะขาย ขับไล่ โต้แย้งทันที
  7. ล้อม - ควรติดป้าย ล้อมรั้วที่ดินไว้ เพื่อแสดงว่าที่ดินมีเจ้าของ และกำหนดเขตแดนที่แน่นอน
  8. รอย - สังเกตว่ามีรอยทางเดินผ่าน ทางรถวิ่งผ่านประจำหรือไม่
  9. จ่าย - เสียภาษีตามกฎหมายกับกรมที่ดินหรือหน่วยงานราชการ 

ที่มา : สำนักงานกิจการยุติธรรม

อ่าน : ทวงคืน "บ้านอากู๋" หลังถูกเพื่อนบ้านยึด-แจ้งข้อหาบุกรุกเพิ่ม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง