"ชะตากรรม"ข้าวไทย ในเงื้อมมือรัฐ ขาดทุน หนุน-พัฒนาสายพันธุ์

เศรษฐกิจ
14 ก.พ. 67
15:08
736
Logo Thai PBS
"ชะตากรรม"ข้าวไทย ในเงื้อมมือรัฐ ขาดทุน หนุน-พัฒนาสายพันธุ์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กลิ่นหอมคล้ายใบเตย ปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง เอกลักษณ์ที่ชาติใดยากจะเลียนแบบ "หอมมะลิ" ข้าวหอมสายพันธุ์ไทย แหล่งกำเนิดใหญ่จากภาคกลางสู่ "ทุ่งกุลาร้องให้"ภาคอีสานของไทย ซึ่งขึ้นชื่อในการปลูกข้าวหอมมะลิมากที่สุด ทำให้ข้าวไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และดังไกลไปทั่วโลก 

ด้วยลักษณะเฉพาะตัว เมื่อหุงแล้วเรียงเม็ดสวย กลิ่นหอมตลบอบอวนก่อนข้าวจะสุก แม้ประเทศคู่แข่งมีความพยายามจะลอกเลียนแบบและดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อจดสิทธิบัตร โดยเคลมว่าข้าวที่จำ หน่าย คือ ข้าวหอมมะลิไทย คุณภาพพรีเมี่ยม

ทั้งที่ในข้อเท็จจริง "หอมมะลิไทย" จัดเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก หรือ “World's Best Rice Award” ติดต่อกันมา 7 ปี จากการประกวด งานประชุมข้าวโลก (World Rice Conference) ซึ่งจัดโดยผู้ค้าข้าวโลกในสหรัฐอเมริกา

ไทยพร้อมทวงคืน "แชมป์"ส่งออก "หอมมะลิ"

นอกจาก เป็นสินค้าที่นิยมบริโภคในประเทศแล้ว ในแต่ละปีข้าวหอมมะลิไทย (Thai Jasmine Rice) ถือเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่ามหาศาล แม้ว่าก่อนหน้านี้จะไทยจะเสียแชมป์การส่งออกข้าวให้กับเวียดนามไปแล้วก็ตาม 

ข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า เมื่อปี 2566 ไทยมีปริมาณส่งออกข้าว 8,763,266 ล้านตัน มูลค่า178,136 ล้านบาท มีปริมาณเพิ่มขึ้น 13.7% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 28.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 7,710,236 ตัน มูลค่า 138,698 ล้านบาท  ขณะที่เป้าส่งออกปี2567 ภาคเอกชนตั้งเป้าไว้ที่ 7.5ล้านตัน มูลค่า 150,000ล้านบาท

โดยการส่งออกข้าวในเดือนธ.ค.2566 มีปริมาณ 817,499 ตัน มูลค่า 18,585 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. 2565 ที่ส่งออก 785,317 ตัน มูลค่า 14,932 ล้านบาท 

เนื่องจากผู้ส่งออกมีสัญญาส่งมอบข้าวที่ยังต้องเร่งส่งมอบจำนวนมาก ประกอบกับผู้นำเข้าที่สำคัญในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งข้าวขาว ข้างนึ่ง และข้าวหอม เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง และ สำรองไว้ใช้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ประกอบกับอุปทานข้าวที่ส่งออกได้ของไทยยังคงมีเพียงพอและราคาข้าวของไทยยังอยู่ใน ระดับที่แข่งขันได้จึงทำให้ผู้นำเข้าข้าวหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น

"อัตลักษณ์และรสชาติของข้าวไทย" ปฎิเสธไม่ได้ว่า นอกเหนือจากพันธุ์ข้าวและสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศ คือ จุดสำคัญที่ทำให้ต้นข้าว สามารถเจริญได้ทั้งในน้ำขังและในที่แห้งชื้นแฉะ โดนแดดได้ตลอดวัน ทำให้ต้นข้าวโตได้เร็ว แม้พื้นที่ในเขตร้อนหลายปรระเทศจะนิยมปลูก แต่ข้าวไทยจะได้คุณภาพดีมากกว่าที่อื่น

อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณภาพของข้าวไทยกลับมีคุณภาพลดลงทั้งในแง่ของผลผลิตต่อไร่ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ความหอมของเมล็ดข้าวที่มีความหอมลดลงและสั้นลง ในขณะที่ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านกลับมีความหอมใกล้เคียงจนแทบจะแยกไม่ออกและเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยไปกว่าครึ่ง

"การเมือง"เรื่องข้าวหอมฯ "เมิน"เวทีประกวด

สำหรับเกณฑ์การตัดสิน เมื่อต้องส่งข้าวหอมมะลิกไทย ขึ้นเวทีประกวดนั้น คณะกรรมการฯจะตัดสินตั้งแต่เรื่องของรสชาติ ความเหนียวนุ่ม รูปร่างของข้าว และคุณสมบัติพิเศษของข้าว ซึ่งสายพันธ์ข้าวในแต่ละประเทศจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป

ประเด็นสำคัญที่ทำให้ข้าวหอมมะลิของไทย ได้รางวัลข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก คือ กลิ่นที่หอมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยพื้นที่การเพาะปลูกที่สำคัญของข้าวหอมมะลิไทยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และยโสธร

แต่แล้วเมื่อ ช่วงปลายปี 2566 ก็เกิดกระแสหักมุม ในงานประกวดข้าวโลก หรือ World’s Best Rice Award 2023 เวทีที่ค้นหาข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก กลับไม่พบชื่อ “ข้าวหอมมะลิไทย” ติด 1 ใน 3 ของข้าวที่ผ่านการเข้ารอบหรือได้รับรางวัลใด ๆ

ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า เป็นปีแรกที่ไทยไม่ส่งข้าวเข้าประกวด เหตุผล เพราะสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ในฐานะผู้คัดสรรข้าวหอมมะลิไทย ส่งเข้าประกวดมองว่าเวทีนี้มีการเมืองภายในและเชิงพาณิชย์มากเกินไป จึงตัดสินใจไม่ส่งข้าวไทยเข้าประกวด

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า แม้ไทยจะไม่ได้รางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก ก็ไม่ได้หมายความว่า ออเดอร์ข้าวไทยจะลดลง เพราะจากการเจรจากับคู่ค้าและผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทย ก็ยังคงสั่งซื้อข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ลูกค้าไม่ได้สนใจว่าข้าวไทยจะชนะหรือไม่ชนะ และเอกชนเองไม่ได้ให้ความสนใจกับเวทีประกวดมาก เพราะเป็นเหมือนหนึ่งในกิจกรรมของการสัมมนาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายข้าวทั่วโลกเท่านั้น

เพราะถ้าชนะก็เสมอตัว ปีไหนไม่ชนะก็มีดรามา จึงมีการปรึกษากันระหว่างในสมาคมฯ ได้ข้อยุติว่า นับจากนี้ ไทยจะไม่ส่งข้าวเข้าประกวดในนามสมาคมผู้ส่งออก แต่หากใครมึความประสงค์ต้องการจะส่งประกวดในนามบริษัทก็สามารถทำได้ 

นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ไทยชนะการประกวดข้าวโลกมา 7 ครั้งใน 14 ครั้ง ถือว่าน่าพอใจ แต่การประกวดในระยะหลังพบว่า มีความเป็นเชิงพาณิชย์และธุรกิจมากเกินไป การที่ข้าวไทยไม่ได้รางวัล ต้องชี้แจงว่า ไทยไม่ได้ส่งข้าวเข้าประกวด และข้าวไทยก็ยังคงมีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าคู่แข่งจะพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาใกล้เคียงกับข้าวไทยก็ตาม

การที่ผู้จัดงานออกมายืนยันว่า ไทยส่งเข้าประกวดนั้น สมาคมฯไม่ทราบ แต่การส่งข้าวเข้าประกวดหนึ่งตัวอย่าง ต้องเสียค่าใช้จ่าย ตัวอย่างละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 30,000 บาทซึ่งถือว่าสูง

เวียดนามคู่แข่งคุณภาพ- ผลิตข้าวหอมฯท้าชิงไทย

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง (the Mekong Delta) จำนวน 6.25 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งประเทศ ก็เร่งผลิตข้าวหอมได้ปีละประมาณ 5.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 3.5 ล้านตัน และส่งออกขายแข่งกับไทยเช่นกัน

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่บอกว่า เวียดนาม ใช้วิธีการปลูกข้าวที่มีคุณภาพ มีความหอม นุ่ม ซึ่งเป็นข้าวที่ได้ราคาดีและตอบโจทย์กับตลาด ทำให้ข้าวของเวียดนามมีคุณภาพไม่ด้อยกว่าข้าวไทย

และปี 2566 เวียดนามส่งออกข้าวได้เกือบเท่ากับไทย และในอนาคตเวียดนามอาจจะขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 2 ของโลกหากไทยยังไม่รีบปรับตัวพัฒนาพันธุ์ข้าวให้หนีคู่แข่ง

นายกสมาคมผู้ส่งอกข้าว กล่าวอีกว่า ความสามารถในการแข่งขันข้าวไทย จากนี้ไปจะรุนแรงและเข้มข้นขึ้น เพราะคู่แข่งพัฒนาพันธุ์อยู่ตลอดเวลา และให้ผลผลิตต่อไร่ที่สูง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของไทยและผลผลิตที่ได้กลับสวนทางกัน

ข้าวไทยมีผลผลิตต่อไร่เพียง 450 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่เวียดนามมีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 970 กิโลกรัมมากกว่าไทยเป็นเท่าตัว  เราแพ้ตั้งแต่ในบ้าน เพราะไม่พัฒนาผลผลิตให้สูง ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันสู้เวียดนามไม่ได้

นอกจากนี้ พันธุ์ข้าวไทยไม่หลากหลาย ต่างจากคู่แข่งที่มีทั้งพันธุ์ข้าวนุ่ม ข้าวหอมที่มีราคาลดหลั่นลงมาต่ำกว่าข้าวหอมไทย ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อข้าวเวียดนามมากขึ้น

นายกฯเจริญ กล่าวอีกว่า ปัญหาคุณภาพกลิ่นข้าวหอมมะลิที่ลดลง อยู่ที่การพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งไทยทำน้อยไป จึงต้องร่วมกันคิดว่า ทำอย่างไร จึงจะให้ข้าวหอมมะลิไทย ยังคงความหอมเหมือนเดิม หรือกล่าวคือ ไทยควรสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆ มาทดแทนพันธุ์ข้าวเก่าๆเพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับชาวนา

เนื่องจากการปลูกข้าวของชาวนาไทย ร้อยละ 80 ยังอาศัยน้ำจากธรรมชาติ โดยเฉพาะภาคอีสานที่ไม่มีระบบชลประทานที่ดีเหมือนกับภาคกลางที่มีระบบชลประทานเข้าถึง ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง หากเปรียบเทียบกับเวียดนามที่มีระบบน้ำจากธรรมชาติที่ดี ในขณะที่ไทยต้องอาศัยน้ำจากในช่วงฤดูฝน และน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก

ภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิมากที่สุด และอาศัยเพียงน้ำฝนเป็นหลัก ทำให้ปลูกข้าวได้ละครั้ง ต่างกับข้าวทางภาคกลางที่ปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งทำให้ต้นทุนในการผลิตไม่ได้เท่าที่ควร ระบบนำที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐต้องจริงจังเช่นเดียวกับพัฒนาพันธุ์ข้าว

นายเจริญ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้แนะนำภาครัฐให้ความสำคัญกับระบบการลงทุนขั้นพื้นฐาน infrastructure ซึ่งจำเป็นและต้องทำให้ได้ นอกเหนือจากการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อให้มีความมั่นคงและสเถียรภาพ

 นักวิชาการแนะพัฒนา "สายพันธุ์ข้าว"รัฐต้องทุ่มงบวิจัย

สำหรับพันธุ์ข้าวไทยในปัจจุบัน พบว่า มีจำนวน 12 สายพันธุ์ ที่มีการเพาะปลูกในแต่ละภูมิภาค และข้าวแต่ละสายพันธ์ ก็มีคุณสมบัติ ที่แตกต่างกันไป ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ 105 ,ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ,ข้าวกล้อง ,ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ,ข้าวมันปู, ข้าวสังข์หยดพัทลุง,ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร ,ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้,ข้าวเหนียว กข 6, ข้าวเหนียวเขาวง,ข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู,และข้าวเหนียวดำ

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เป็นสิ่งสำคัญ และรัฐบาลต้องเปลี่ยนความคิด ต้องลดการให้เงินอุดหนุนชาวนา 4-5 แสนล้านบาท และทุ่มงบประมาณเพื่อใช้วิจัยพันธุ์หรือปรับปรุงข้าว

ที่ผ่านมาหน่วยงานวิจัยได้รับปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าวปีละ 190-200 ล้านบาทเท่านั้น ไม่มีการเพิ่มงบประมาณ และนักวิจัยพันธุ์ข้าวที่ทำงานอยู่ก็น้อยมาก หากจะเร่งปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวออกมาให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ก็ต้องเพิ่มงบประมาณและกำลังคน

ไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่าครึ่งประเทศ แต่กลับไม่มีการเตรียมการในเรื่องนี้เลย ขณะที่เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา รัฐบาลมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพเทียบเท่าข้าวไทยแล้ว 

อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะจับมือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและหน่วยงานรัฐ จัดประกวดพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อผลักดันข้าวไทยพันธุ์ใหม่ออกไปแข่งขันในตลาดโลก

ถือว่าเป็นการยกระดับตลาดของข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าว รวมไปถึงนวัตกรรมที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ เพื่อสนองความต้องการตลาดโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลก แต่ต้องยอมรับว่า ไทยมีจุดอ่อน คือ ขาดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายในตลาดข้าวโลก ทำไม่สามารถแข่งขันกับตลาดข้าวโลกกับประเทศคู่แข่งได้อย่างเต็มที

4 ปี รับรองพันธุ์ข้าวใหม่ 14 สายพันธุ์

ข้อมูลล่าสุดจากกรมการข้าว ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการปรับปรุงข้าวพันธุ์ใหม่ ให้มีลำต้นสั้น เตี้ย ให้ผลผลิตดก (ปี 2563-2565) ซึ่งรับรองแล้ว 12 สายพันธุ์ ประกอบด้วย “ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม” 3 สายพันธุ์ คือ ข้าว กข 87, กข 89, กข 97 , “ข้าวเจ้าพื้นแข็ง” 7 สายพันธุ์ คือ กข 85, มะจานู 69, อัลฮัมดุลิลาฮ์ 4, กข 91,กข 93, กข 95, กข 1010,

“ข้าวหอมไทย” 1 สายพันธุ์ คือ ขาวเจ๊กชัยนาท 4, “ข้าวโภชนาการสูง” 1 สายพันธุ์ คือ ขาหนี่ 117 ทั้งนี้ กรมการข้าวมีแผนรับรองพันธุ์ข้าวเหนียวเพิ่มเติมอีก 2 พันธุ์ ซึ่งได้รับรองแล้ว 1 พันธุ์ รวมเป็น 14 พันธุ์

นอกจากนี้ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัด ประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ เพื่อการพาณิชย์ รวม 9 พันธุ์ โดยปี 2564 มี 6 สายพันธุ์และ ปี 2565 จำนวน 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย “ข้าวหอมไทย” คือ สายพันธุ์ PTT13030 , สายพันธุ์ BioH95-CNT,และสายพันธุ์ 65RJ-06

“ข้าวขาวพื้นนุ่ม” คือ สายพันธุ์ RJ44 (ขึ้นทะเบียนแล้ว: กวก.), สายพันธุ์ CNT15171 และสายพันธุ์65RJ-08 และ “ข้าวขาวพื้นแข็ง”ประกอบด้วย สายพันธุ์ PSL16348,สายพันธุ์ CNT07001 (ดกเจ้าพระยา)(รับรองแล้ว: กข.95)และสายพันธุ์ 65RJ-13

การปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพื่อคงความเป็นแชมป์ส่งออกข้าวไทย ยังเป็นปัญหาหลักและประเด็นใหญ่ที่กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรสหกรณ์ รวมถึงรัฐบาลจะต้องตีโจทย์ให้แตกว่าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร 

อ่านข่าวอื่นๆ:

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กูรูเศรษฐกิจ ชี้ไทยเร่งสร้างเสน่ห์ดึงเงินลงทุน

ฟื้น ! หอการค้าชี้เศรษฐกิจขยายตัว คาดตลอดปี นทท.ทะลุ 40 ล้าน

"จีน" รุกตลาดพระเครื่อง ทำธุรกิจขายหน้าร้าน-ออนไลน์มากขึ้น

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง