ส่งกำลังใจช่วย "อั๋น ทีมอสรพิษ" งูกัดเส้นเลือดดำ

สังคม
16 ก.พ. 67
14:03
3,426
Logo Thai PBS
ส่งกำลังใจช่วย "อั๋น ทีมอสรพิษ" งูกัดเส้นเลือดดำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"นิค" ทีมงานอสรพิษวิทยา อัปเดตอาการ "อั๋น" หลังถูกงูจงอางกัดเส้นเลือดดำ หลังช่วยชาวบ้าน เบื้องต้นได้รับบริจาคเลือดเพียงพอ รอปาฏิหาริย์อีกรอบ "กรมอุทยาน" ยังไม่ล้มโครงการฝึกทักษะเจ้าหน้าที่จับงู

กรณี Nick Wildlife ยูทูบเบอร์ชื่อดัง วิทยากรและผู้เชี่ยวชาญในการจับงูและให้ความรู้เกี่ยวกับงู แจ้งขอความช่วยเหลือบริจาคเลือดกรุ๊ป A ให้กับพลทหารจักริน นิลกำแหง หรือ "อั๋น จักริน" ทีมงานอสรพิษวิทยา ถูกงูจงอางกัดเข้าที่เส้นเลือดดำ หลังช่วยจับจากบ้านคน และนอนป่วยต้องขอรับบริจาคเลือด

วันนี้ (16 ก.พ.2567) นายนิรุทธิ์ ชมงาม หรือ Nick Wildlife ยูทูบเบอร์ ชื่อดัง ระบุว่า "ปาฏิหาริย์ของอั๋น" อัปเดอาการหลังถูกงูจงอางกัดว่า เลือดพอแล้วพร้อมขอบคุณทุกคนที่มาบริจาคเลือด

เขาเล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ช่วงเย็นหลังจากเสร็จสิ้นงานอสรพิษวิทยาภาคเหนือที่พิษณุโลก ผู้อบรมได้กลับกันจนหมดแล้ว ทางทีมงานก็กำลังเก็บข้าวของกันเตรียมแยกย้ายกลับ เพราะมีทีมงานมาจากหลายพื้นที่ บังเอิญมีสายโทรเข้ามา แจ้งให้ไปจับงูเข้าบ้าน ซึ่งในครั้งแรก หลายคนก็คิดว่าเป็นงูสิง หรืองูเห่า แต่ทุกคนกำลังยุ่งๆ กับการเก็บของ พี่นิค ก็คุยสรุปงานกับผู้ใหญ่อยู่ อั๋น เลยอาสาไปจับงูให้

หลังจากออกไปจับไม่นานก็กลับมา พร้อมงูจงอางในกระสอบปุ๋ย ทุกคนก็ตื่นเต้นฮือฮากันมาก เพราะตอนแรกที่มาพี่นิค ก็ไปช่วยจับงูเห่าพ่นพิษที่กินคางคกให้ ขากลับยังมาเจองูจงอางอีก

ด้วยความที่กลัวว่างู จะดันจนทะลุกระสอบ อั๋นจึงไปขอถุงผ้ามา เพื่อใส่งูให้รัดกุม ซึ่งตอนจับออกจากกระสอบ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ตอนใส่เข้าถุงผ้า ด้วยความที่งูยังตกใจ และมีแรงและความก้าวร้าวสูง ในจังหวะที่อั๋นปล่อยตัวงูลงถุง พอท้องแตะพื้น งูก็ดีดตัวสวนขึ้นมากัดตรงแขนขวาของอั๋นพอดี

เป็นเวลาเพียงไม่ถึงวินาที อั๋นสะบัดแขนออกอย่างรวดเร็ว งูหลุดออกไป หลังจากนั้น อั๋นตะโกนถาม "พี่นิคอยู่ไหน พี่นิคอยู่ไหน มีน้องวิ่งไปตามพี่นิคมา ด้วยความที่โรงพยาบาลอยู่ใกล้ พี่นิคดูสภาพบาดแผล และไม่ยอมเสียเวลาในการปฐมพยาบาลแม้แต่วินาที และให้อั๋นขึ้นรถไปโรงพยาบาลในทันที

งูจงอาง เป็นงูที่มีพิษออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเป็นหลัก ที่จะทำให้เกิดภาวะอัมพาต และมีส่วนประกอบของพิษที่ทำลายเนื้อเยื่อ ที่จะทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย และพฤติกรรมการกัดที่กัดติดแล้วไม่ปล่อย และจะฉีดพิษเข้าสู่ร่างกายผู้ถูกกัดตลอดเวลาจึงเป็นงูที่อันตรายมากชนิดหนึ่ง

แต่ปัญหาที่หนักกว่าคือตำแหน่งที่ถูกกัด มันดันไปตรงกับเส้นเลือดดำพอดี พิษวิ่งเข้าสู่หัวใจโดยตรง ทุกอย่างเลยเกิดขึ้นเร็วมาก อั๋นหมดสติตั้งแต่นาทีที่ 3 ของการถูกกัด รถไปถึงรพ.ใน 5 นาทีหลังถูกกัด แต่อั๋นก็ไม่รู้สึกตัวแล้ว แม้จะถูกความพยายาม CPR มาตลอดทาง

หลังจากนั้นทีมแพทย์และพยาบาล รวมทั้งทีมอสรพิษวิทยาที่เป็นจนท.กู้ชีพต่างช่วยกันปั้มหัวใจอั๋นอย่างไม่ยอมแพ้ และดึงอั๋นกลับมามีชีพจรในที่สุด แต่ก็กินเวลาไปหลายนาที นั่นคือปาฏิหาริย์แรกแห่งการช่วยดึงอั๋นกลับมา

แต่ปัญหาอีกอย่างคือภาวะการติดเชื้อ อั๋นนอนหมดสติไป 3 วัน และอาการเริ่มโคม่า จนต้องรับบริจาคเลือด และได้รับพลังใจจากทุกๆท่านและความช่วยเหลือจากเพจต่างๆช่วยประชาสัมพันธ์ จนมีผู้มาให้กำลังใจและบริจาคเลือดให้อั๋นมากมาย

อ่าน : How to ช่วยเหลือ "คนถูกงูกัด" ก่อนส่งถึงมือหมอ

ส่งกำลังใจ "อั๋น" ทีมงานอสรพิษ

จนเช้าเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา อาการของอั๋นแย่ลงจนเข้าขั้นวิกฤต ในเวลานั้นทุกคนตึงเครียด และวุ่นวายกันมาก และต้องจัดการปัญหาหลายอย่าง จนหลายคนไม่สามารถรับสายหรือติดต่อใครได้ 

ในช่วงเวลาที่บีบคั้นหัวใจที่สุดสำหรับทุกๆ คน ปาฏิหาริย์ครั้งที่ 2 ของอั๋น ก็ได้เกิดขึ้น และได้กลับมามีภาวะในเชิงบวกอีกครั้ง ตัวที่ซีดก็เริ่มมีสีเลือด การรับสารอาหารยังพอทำได้ดี และเริ่มมีอาการดีกว่าเดิม จนสามารถออกจากห้อง ICU ได้แล้ว

ขอบคุณทุกๆ คน ทั้งแพทย์พยาบาล รพ.วังทอง รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก และจนท.หน่วยกู้ภัยบูรพา ที่ช่วยเหลืออั๋นอย่างเต็มที่ ขอบคุณเพจต่างๆ และสื่อมวลชน ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ บอกกล่าวให้คนมาช่วยอั๋น ขอบคุณทุกๆท่านที่มาช่วยกันบริจาคเลือด ช่วยกันแชร์ ช่วยกันส่งกำลังใจอั๋น

ขอบคุณพี่น้องอสรพิษวิทยา ที่ยังรักและห่วงใยกันเสมอไม่มีเปลี่ยนแปลง จะไม่คาดหวังมาก แต่ก็จะไม่ทิ้งความหวังเช่นกัน จะต่อสู้ไปกับอั๋น เพื่อรอคอยปาฏิหาริย์ครั้งต่อไป เวลานี้ครอบครัวจะพยายามดูแลอั๋นเองก่อน หากจำเป็นเราค่อยช่วยเหลือกัน

กรมอุทยานฯ ไม่ล้มโครงการจับงู 

นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ทราบข่าวเรื่องที่วิทยากร ทีมงานอสรพิษวิทยา ถูกงูจงจางกัด หลังเข้ามาช่วยอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) ช่วงวันที่ 10-11 ก.พ.ที่ผ่านมา 

โดยเหตุผลที่ต้องฝึกเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ให้รู้จักการจำแนกชนิดของงู การจับงูที่ถูกต้องและตัวเองปลอดภัย เนื่องจากงูหลายชนิด ก็อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้ม ครอง และบางชนิดก็มีพิษ และไม่มีพิษ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ถ้าเจองู จะตีงูก่อน เพราะกลัวอันตราย ทั้งที่สามารถไล่งูออกไปโดยไม่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในอันตราย และงูปลอดภัยได้ 

ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดกับวิทยากร อาจทำให้เจ้าหน้าที่เสียขวัญ เพราะเกิดอุบัติเหตุงูกัดกับผู้มีทักษะสูงมาก ดังนั้นเวลาปฏิบัติยังต้องไม่ประมาท แต่กรมอุทยานฯ จะไม่ล้มเลิกการอบรม

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างทีมงานอสรพิษวิทยา กับกรมอุทยานแห่งชาติ เป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายในการช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วลดความขัดแย้งระหว่างคนกับงู โดยมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

เนื้อหาประกอบด้วย ทฤษฎีเกี่ยวกับงู ลักษณะทางกายภาพของงู การจำแนกงู งูที่ความสำคัญทางการแพทย์และการปฐมพยาบาลจากงูกัด พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 การฝึกปฏิบัติงานการจำลองสถานการ์จริง เนื่องจากตามพื้นที่ต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ออกไปปฏิบัติงาน มักเจองูชนิดต่างๆ ทั้งที่มีพิษ และไม่มีพิษอาศัยอยู่ตามธรรมชาติจำนวนมาก 

อ่านข่าวอื่นๆ

พายเรือในอ่าง! "ศิริกัญญา" ชี้ดิจิทัลวอลเล็ต ส่อนับหนึ่งใหม่

 

 

 
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง