เขตพื้นที่การศึกษาฯ ขอนแก่นรับลูก ป.ป.ช.คุมเข้มลดคดีทุจริตอาหารกลางวัน

ภูมิภาค
16 ก.พ. 67
14:07
325
Logo Thai PBS
เขตพื้นที่การศึกษาฯ ขอนแก่นรับลูก ป.ป.ช.คุมเข้มลดคดีทุจริตอาหารกลางวัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ป.ป.ช.ขอนแก่นสุ่มตรวจสอบโครงการอาหารกลางวัน โรงเรียน 40 แห่ง สังกัด สพป.ขอนแก่น 5 เขต จากทั้งหมดกว่า 900 แห่ง พบจุดบกพร่อง นำไปวิเคราะห์ความเสี่ยงก่อนแจ้งข้อมูลต่อ สพป.ซึ่งเตรียมเข้าชี้แนะและติดตามโรงเรียนในสังกัด ป้องกันการกระทำผิดที่อาจกลายเป็นคดีทุจริต

ตัวเลขกว่า 20,000 ล้านบาท คือ งบประมาณสำหรับโครงการอาหารกลางวันและอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ที่จะถูกใช้ในปีงบประมาณ 2567

นอกจากวงเงินงบประมาณที่สูงแล้ว ทั้ง 2 โครงการ ก็พบปัญหาเรื่องร้องเรียน หรือ ดราม่าผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางเคสกลายเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ครูต้องตกเป็นจำเลย เช่นกรณีครูชัยยศ สุขต้อ

ทำให้สำนักงาน ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ และถือเป็นนโยบายสำคัญในการกำหนดมาตรการป้องปรามการทุจริต

 ถอดโมเดลการทำงานป้องปรามเชิงรุก ป.ป.ช.ขอนแก่น

นายธีรัตน์ บางเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ขอนแก่น เปิดเผยถึง แนวทางการทำงานป้องปรามปัญหาทุจริตเชิงรุกว่า ในปีนี้มีการออกแบบการทำงานที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น เพื่อให้การตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียนมีประสิทธิภาพ

สามารถสร้างกลไกการตรวจสอบ เพื่อเข้าไปแนะนำแก้ไข และป้องกันปัญหา ยับยั้งการกระทำผิดที่จะกลายเป็นคดีทุจริตประพฤติมิชอบ ที่ทำให้ครูหลายคนต้องหมดอนาคต

กลางเดือนธันวาคม 2566 ป.ป.ช.ขอนแก่น จัดประชุมระดมความคิดเห็นหน่วยงานรัฐ ทั้งสังกัด สพฐ.ท้องถิ่นจังหวัด รวมทั้งภาคประชาชนต้านทุจริต เพื่อจัดทำแผนและแนวทางเฝ้าระวังปัญหาการทุจริต ประเด็น "โครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน" เพื่อลงพื้นที่จริง ป้องปรามจริงและรายงานผลต่อที่ประชุมคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

เดือนมกราคม 2567 เจ้าพนักงานกลุ่มงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม "โครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน" โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น ทั้ง 5 เขต จำนวน 40 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 900 แห่ง โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า พบข้อบกพร่องสำคัญของโรงเรียนบางแห่ง และแจ้งได้ให้โรงเรียนปรับปรุง ดังนี้

1.การจัดปริมาณอาหารและสารอาหารที่อาจไม่ครบตามหลักโภชนาการ เป็นอาหารจานเดียว ผลไม้มีปริมาณน้อย ไม่ได้ดำเนินการตามโปรแกรม thai school lunch
2.ควรเพิ่มการดูแลความสะอาดบริเวณสถานที่การประกอบอาหาร โรงอาหาร และห้องครัว ให้ถูกสุขลักษณะ
3. ควรมีการปิดประกาศรายการอาหารกลางวันเป็นรายสัปดาห์ให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับทราบ ณ โรงอาหารของโรงเรียน


4. สถานที่การจัดเก็บนมโรงเรียน ไม่สามารถป้องกันหนูได้
5. การขนส่งและการเก็บรักษานมโรงเรียน ปริมาณน้ำแข็งในการเก็บรักษานมยังไม่ถูกต้อง เสี่ยงนมบูด
6.กระบวนการจัดชื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดชื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

เจ้าพนักงานกลุ่มงานป้องกันการทุจริต ป.ป.ช.ขอนแก่นนำข้อมูลและประเด็นปัญหาที่พบมาวิเคราะห์ สรุปผล และจัดประชุมส่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลคำแนะนำให้กับเจ้าหน้าที่ สพป.เขต 1-5 ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา

เสียงสะท้อนจากผู้บริหาร และตัวแทนเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ทั้ง 5 เขต ยอมรับว่า ป.ป.ช. ได้พบข้อมูลสำคัญของปัญหาโครงการอาหารกลางวัน และนมโรงเรียน ข้อมูลมีความชัดเจน และชี้ถึงความเสี่ยงที่ครูจะกระทำผิดจนถูกดำเนินคดี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ สพป.ได้ลงไปติดตามมักไม่พบปัญหา หรือพบน้อยกว่า ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้จัดเตรียมเป็นอย่างดีก่อนการลงพื้นที่ไปตรวจสอบ เพราะเป็นการแจ้งล่วงหน้า

เสียงสะท้อนจากผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาท่านหนึ่ง ระบุว่า

ในฐานะผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาฯ เราเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาทุจริต เพราะภาพที่เกิดขึ้นทั้ง อาหารกลางวันและนมโรงเรียน ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาผู้บริหาร ดังนั้นกระบวนการจัดสอบบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย ต้องได้ครูและผู้บริหารที่มีความสามารถและซื่อสัตย์ เพื่อการพัฒนาเด็กทั้งด้านวิชาการ และสุขภาพที่ต้องได้รับตามสิทธิของพวกเขา

จากการแลกเปลี่ยนหารือ เจ้าหน้าที่ สพป.ขอนแก่นทั้ง 5 เขต จะนำข้อมูล จาก ป.ป.ช. ไปใช้ในการแก้ปัญหา โดยรายงานกลับไปยังผอ.โรงเรียนทุกแห่งในสังกัด ให้เข้มงวดตรวจสอบการดำเนินการโครงการ

รวมทั้งยังมีแนวทางที่จะให้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้เข้าไปบรรยายให้ความรู้และชี้แนะทั้งกลุ่มครู และผู้บริหาร ถึงแนวทางการทำโครงการ การทำหน้าที่ทั้งจัดซื้อจัดจ้าง และตรวจรับพัสดุอย่างถูกต้อง เพราะหากไม่มีการแก้ไข อาจเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีทุจริต

หลังจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ขอนแก่น จะดำเนินการร่วมกับ สพป. เขต 1 – 5 ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนในสังกัดอีก 40 แห่ง เพื่อเป็นการติดตามผล สร้างความตื่นตัวให้กับทุกภาคส่วนที่ดำเนินการเกี่ยวข้องได้ตระหนัก และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาการจัดหาอาหารกลางวันที่ไม่ได้คุณภาพ และนมโรงเรียนเสื่อมคุณภาพ

โดยเด็กนักเรียนควรได้รับประทานอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วน 5 หมู่ ซึ่งการดำเนินการของ ป.ป.ช. อยู่ภายใต้ "โครงการแก้ไขปัญหาการทุจริตในพื้นที่" และเป็นการเฝ้าระวังในการใช้งบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้าง "โครงการอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) โรงเรียน" ให้มีความถูกต้องเป็นไปตามระบบ Thai School Lunch เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กนักเรียน และการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งการทำงานป้องปรามการทุจริตเชิงรุกตามโมเดลของ ป.ป.ช.ขอนแก่น ยังมุ่งลดคดีการทุจริตประพฤติมิชอบที่เกี่ยวกับโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน เพื่อปกป้องคุ้มครองครู ซึ่งมีความสำคัญต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง