กรมวิทย์ฯ เผยโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่รุนแรง

สังคม
16 ก.พ. 67
17:18
505
Logo Thai PBS
กรมวิทย์ฯ เผยโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่รุนแรง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัปเดตสายพันธุ์โควิด-19 พบ สายพันธุ์ JN.1 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้ พบแล้วเกือบทุกเขตสุขภาพ คาดจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย แต่ยังไม่พบความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น

วันนี้ (16 ก.พ.2567) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือโควิด- 19 ว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังคงให้ความสำคัญกับการติดตามสายพันธุ์โอมิครอน จำนวน 10 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 5 สายพันธุ์ ได้แก่

  • XBB.1.5*
  • XBB.1.16*
  • EG.5*
  • BA.2.86*
  • JN.1*

ส่วนสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) จำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่

  • DV.7*
  • XBB*
  • XBB.1.9.1*
  • XBB.1.9.2*
  • XBB.2.3*

ทั้งนี้สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกจากฐานข้อมูลกลาง GISAID รอบสัปดาห์ที่ 52 (วันที่ 25 ธ.ค.- 31 ธ.ค.2566) สายพันธุ์ในกลุ่ม VOI ที่พบมากที่สุด ได้แก่ JN.1* ในสัดส่วน 65.5%

ถัดมาคือ EG.5* 16.6% โดย EG.5* มีอัตราการพบที่ค่อย ๆ ลดลง แต่ในขณะที่ JN.1* มีอัตราการพบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 28 วัน

และจากความได้เปรียบในการเติบโตและคุณลักษณะหลบภูมิคุ้มกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า JN.1* จะเพิ่มมากขึ้นและจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในระดับประเทศหรือทั่วโลก

ในขณะที่สายพันธุ์ในกลุ่ม VUM ที่พบมากที่สุด ได้แก่ XBB.1.9.1* ในสัดส่วน 1.8% และ DV.7* ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกัน คือ L455F และ F456L มีอัตราการพบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากฐานข้อมูลกลาง GISAID มีรายงานการพบสายพันธุ์ DV.7* ทั่วโลกจำนวน 5,275 ราย โดยปัจจุบันยังไม่พบมีรายงานการเพิ่มความรุนแรงของโรค

สายพันธุ์ JN.1 เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่รุนแรง

สำหรับ ประเทศไทย JN.1 มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก ที่ระบาดในปัจจุบัน

ทั้งนี้ JN.1 พบครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค.2566 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุด ระหว่างวันที่ 23 ธ.ค.2566 - 23 ม.ค.2567 พบจำนวน 234 คน ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ลูกผสม กระจายทุกเขตสุขภาพ โดยสายพันธุ์ JN.1 พบสัดส่วนมากที่สุด ร้อยละ 33.5 โดยเขตสุขภาพที่ยังไม่พบ JN.1* คือ เขตสุขภาพที่ 8, 9 และ 10 ซึ่งยังไม่พบว่า มีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยการรวบรวมตัวอย่างผลบวกเชื้อก่อโรคโควิด-19 จากการทดสอบ ATK จากทั่วประเทศ ซึ่งการติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ มีความสำคัญและจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบแนวโน้มการระบาดใหญ่ การกลายพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิม เพื่อวางมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคอย่างเหมาะสม

อ่านข่าวอื่น ๆ

สบส.-คปภ.ถกทำประกัน “แม่อุ้มบุญ” ครอบคลุมตั้งครรภ์ถึงคลอด

มะเร็งหายาก 1 ในล้านคน ไร้ประวัติกินเหล้า-สูบบุหรี่

หมอชลน่าน สั่ง สปสช. ระงับหักหนี้ รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์-คลินิก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง