จนท.ติดตาม "ช้างป่าแก่งหางแมว" บาดเจ็บขาบวม ยังไม่ยอมกินยา

สิ่งแวดล้อม
21 ก.พ. 67
14:35
291
Logo Thai PBS
จนท.ติดตาม "ช้างป่าแก่งหางแมว" บาดเจ็บขาบวม ยังไม่ยอมกินยา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จนท.ติดตามอาการช้างป่าแก่งหางแมว จ.จันทบุรี ขาหลังซ้ายบวม-ยืนลงน้ำหนักไม่ได้ ต้องเดินลากเท้า เบื้องต้นยิงยาลดปวดลดอักเสบระยะไกล แต่ช้างยังไม่ยอมกินผลไม้ยัดยา ล่าสุดขยับเข้าป่าวังปลา เขาอ่างฤาไน

ความคืบหน้ากรณีช้างป่าตัวผู้ อายุกว่า 40 ปี บาดเจ็บ อาศัยและหากินบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ ม.11 ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน หัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็วฯ ชุดที่ 9 และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เข้าตรวจสอบบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำดังกล่าว

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า ช้างป่ามีอาการขาหน้าขวา ขาหลังซ้ายบวมมาก ยืนไม่ลงน้ำหนัก เคลื่อนไหวลำบาก เนื่องจากต้องใช้ขาหน้าก้าวแล้วขาหลังขวาก้าวตาม โดยสัตวแพทย์ได้ยิงยาลดปวดลดอักเสบระยะไกล และวางแผนการรักษาด้วยวิธีให้ยาปฎิชีวนะกิน เป็นระยะเวลา 7 วัน โดยจะยายัดใส่ในผลไม้ และวางไว้บริเวณที่ช้างป่าอาศัยและหากิน พร้อมประเมินอาการและวางแผนการรักษาต่อไป เมื่อช้างป่ามีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ติดตามดูอาการช้างป่าเป็นระยะ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ต่อมาวันที่ 19-20 ก.พ.ที่ผ่านมา ชุดเคลื่อนที่เร็วฯ ที่ 9 ร่วมกับอาสาสมัครติดตามช้างป่าบาดเจ็บ ในพื้นที่ หมู่ที่ 11 และหมู่ที่ 4 ต.พวา หลังสัตวแพทย์ยิงยาลดปวดลดอักเสบ พร้อมให้ยาโดยยัดใส่ในผลไม้ แต่ช้างป่าไม่กินผลไม้ที่กองไว้

ล่าสุดช้างป่าเคลื่อนที่จากบริเวณอ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ เข้าไปในพื้นที่ป่าวังปลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน โดยมีความระแวงคนหากเข้าไปใกล้ และยังมีอาการเดินลากขา จึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าติดตามและให้ยาต่อเนื่องทุกวัน

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ขณะที่ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า เปิดเผยว่า ช้างป่าตัวดังกล่าวมีปัญหากล้ามเนื้อและกระดูก และพบแผลตามขาหลายจุด ถือว่าอาการค่อนข้างหนัก แต่ยังไม่ทราบอาการบาดเจ็บแน่ชัด เพราะยังเข้าใกล้ช้างป่าไม่ได้ เบื้องต้นสัตวแพทย์ให้ยาลดอักเสบ และมีแผนล้อมรั้วไฟฟ้ากระชับพื้นที่ ครอบคลุม 1 ไร่ เพื่อให้ประเมินอาการและรักษาช้างป่าได้ทุกวัน

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง