สภาฯ คว่ำร่างกฎหมาย "เปลี่ยนคำนำหน้านาม"

การเมือง
21 ก.พ. 67
19:09
2,351
Logo Thai PBS
สภาฯ คว่ำร่างกฎหมาย "เปลี่ยนคำนำหน้านาม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภาคว่ำร่างกฎหมาย คำนำหน้านาม เห็นด้วย 152 ไม่เห็นด้วย 256 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง "ธัญวัจน์" ย้ำต้องคืนเจตจำนงการระบุเพศให้ LGBTQ ด้าน "เพื่อไทย" ค้านห่วงปัญหาอาชญากรรม

วันนี้ (21 ก.พ.2567) นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ…ที่นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ 

ก่อนเข้าสู่วาระนายอัครนันท์​ กัณณ์กิตตินันท์ สส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้เจ้าของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พิจารณาถอนร่าง พ.ร.บ.ออกไปก่อน เพื่อรอร่างของภาคประชาชนที่มีแนวคิดคล้ายๆกันที่จะเสนอเข้ามาถึง 2 ฉบับ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งที่อยูในกลุ่ม LGBTQ และไม่ได้เป็น LGBTQ เพื่อให้กฎหมายเป็นของทุกกลุ่ม

อ่าน "คลินิกสุขภาพเพศ" บอกได้ ข้ามเพศให้ปลอดภัย ไม่ใช่แค่ฉีดฮอร์โมน

แต่นายธัญวัจน์ ยืนยันไม่ถอนร่างฯออก เนื่องจากเห็นว่าสามารถสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมได้อยู่แล้ว และเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศรออยู่จึงควรจะต้องผลักดัน และสภาฯก็เปิดกว้างอยู่แล้ว และเรื่องนี้มีการผลักดันกันตั้งแต่ปี 2559 แล้ว ทำให้ที่ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อ

นายธัญวัจน์ ชี้แจงเหตุผลว่า โดยที่รัฐธรรมนูญ รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลยอมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งผลให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเอกสารของรัฐไทย ยังกำหนดให้ใช้คำนำหน้านามซึ่งถือตามเพศกำเนิดได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้หลากหลายทางเพศอื่นประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การจะตัดสินใจกำหนดวิถีทางเพศ และกระทบต่อการดำเนินชีวิต จึงสมควรมีกฎหมายออกมาคุ้มครอง

นายธัญวัจน์ กล่าวว่า หากเราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้างสังคมใหม่ จำเป็นต้องคืนเจตจำนงเรื่องของการระบุเพศให้กับพวกเขา เรื่องเพศเป็นเรื่องสำนึกภายในที่จะบอกตนเองได้ว่าตัวเองเป็นอะไร และอยากจะดำเนินชีวิตอย่างไร ทั้งวิถีและการแสดงออก

โดยหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ Self-determination หรือการกำหนดเพศด้วยตัวเอง นี่คือจุดเริ่มที่เราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้าง และมีอีกหลายก้าวสำคัญที่ต้องผลักดันเพื่อให้สังคมได้โอบรับกับความหลากหลาย เพราะเพศมีคำอธิบายมากกว่าเรื่องของร่างกายและกายภาพ

ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้นิยามอัตลักษณ์ทางเพศว่า คือ การที่บุคคลหนึ่งรับรู้ต่อตนเองว่าคือใคร และเป็นเพศอะไร ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมกำหนดหรือไม่ก็ได้ หมายรวมถึงการแสดงออกทางเพศด้วย ทำให้เราจำเป็นต้องออกกฎหมายที่คำนึงถึงเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่แค่เพศสภาพทางเพศเท่านั้น

จากนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นโดย สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุน ขณะที่ สส.พรรครัฐบาลทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ อภิปรายคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

อ่าน เตือน “ชาย-หญิงข้ามเพศ” อย่าเสี่ยงใช้ฮอร์โมนเอง แนะปรึกษาแพทย์เฉพาะด้าน

นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ที่นอกจากระบุว่า การออกกฎหมายต้องสอดคล้องกับบริบทสังคม หากกฎหมายสุดโต่งเกินไปอาจจะสร้างปัญหาตามมา อาจเป็นต้นเหตุของการก่ออาชญากรรม-หลอกลวง หรือ ลวนลามบุคคลอีกเพศหนึ่งได้

นายธีระชัย กล่าวว่า การออกกฎหมายใด ๆ จะต้องสอดคล้องกับบริบทสังคมหากกฎหมายใดสุดโต่งเกินกว่าความต้องการของสังคมกฎหมายนั้นก็จะไม่สร้างประโยชน์ แล้วจะไม่ตอบโจทย์สภาพสังคมได้ อาจจะสร้างปัญหาตามมา

ที่ผ่านมาสภาฯได้มีการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียม และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อใช้สิทธิเสรีภาพในการสมรสรับรองความเป็นคู่สมรสของคน 2 เพศและเพศเดียวกัน ซึ่งตนอภิปรายสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะคิดเสมอว่าไม่ว่าใครบนโลกใบนี้ต่างก็มีความรัก ไม่ควรถูกปิดกั้นเพราะเป็นเพียงแค่เกิดมาเป็นเพศใดเพศหนึ่ง

นายธีระชัย กล่าวว่า คำนำหน้าชื่อไม่ว่าจะเป็น นาย นาง นางสาว ที่เป็นการแบ่งเพศตามสภาพมาตั้งแต่กำเนิด ตนมีความห่วงใยและความกังวลในการเปลี่ยนได้ตามความสมัครใจ เพราะในต่างประเทศสามารถให้เปลี่ยนคำนำหน้าได้ มีกฎ เงื่อนไขยากง่ายแตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าไม่ว่าจะเป็นเพศไหนทุกคนควรมีสิทธิ์ได้เลือกความเป็นตัวเอง หากเขาไม่สะดวกที่ต้องใช้คำนำหน้าที่ไม่ตรงกับเพศสภาพในปัจจุบัน ซึ่งมองว่า ควรมีสิทธิ์เลือกไม่ใส่คำนำหน้านามก็ได้ แต่ขอยกตัวอย่างประเทศ เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ การเปลี่ยนคำนำหน้าไม่ได้จะเปลี่ยนกันง่าย ต้องพบจิตแพทย์ ต้องทำหมัน เพื่อกันกรณีถูกข่มขืนและตั้งท้อง

แล้วประเทศเราจะใช้หลักอะไร ซึ่งถือเป็นข้อกังวล เพราะอาจเป็นต้นเหตุของการก่ออาชญากรรม เช่น การเปลี่ยนเพื่อไปหลอก ลวนลามบุคคลอีกเพศ เพื่อบอกว่าเป็นเพศเดียวกัน

นายธีระชัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนได้ไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำอุดรธานี กับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เห็นการแบ่งแยกนักโทษชายหญิง ถ้าสมมติว่าเพศทางเลือกได้กระทำผิด ซึ่งเขามีจิตใจไม่ตรงกับเพศสภาพ แล้วเขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เขาต้องอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังชายหรือหญิง

"ผมเห็นบางคนเพศสภาพอาจจะเป็นชาย แต่จิตใจเขาเป็นผู้หญิง พอเขาเข้าไปในเรือนจำ บุคคลเหล่านี้จะมีสภาพจิตใจอย่างไร เพราะนมก็ยังไม่ได้เอาออก ต้องตัดผมสั้นอีก อย่างนี้เราจะให้เขาได้รับสิทธิ์เลือกหรือไม่ หรือสามารถเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งได้หรือไม่ เพราะจะต้องใช้สถานที่ แม้สนับสนุนเรื่องแบบนี้มาโดยตลอด แต่เป็นห่วงว่าแต่ละคนสภาพไม่เหมือนกัน

บางคนสามารถเตะก้านคอผู้ชายสลบ อย่างนี้ก็มี แต่เขาสามารถแปลงเพศได้ อรชรอ้อนแอ้น อย่างนี้เปลี่ยนแล้วจะมีความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะการจะสร้างความเป็นธรรม เท่าเทียมเราสามารถสร้างได้ด้วยตัวเองมากกว่า สามารถผลักดันให้ผู้มีอำนาจใช้กลไกทางกฎหมายสร้างความเป็นธรรมให้ได้เป็นรูปธรรมได้ดียิ่งกว่าการเปลี่ยนนายเป็นนาง หรือเปลี่ยนนางเป็นนายไม่อยากมองว่า แค่คำนำหน้านาม นาย นาง นางสาว เด็กชาย เด็กหญิง เป็นกรอบกำหนดในชีวิต เพราะทุกคนเสมอภาคกัน

เชื่อว่าคนเรารักกันจริง คำนำหน้านามไม่จำเป็นต้องเอามาเป็นกำแพงปิดกั้นความรัก ดังนั้นหากจะทำเรื่องนี้จริง ๆ ขอให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้ 

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยย้ำว่า เรื่องของคำเปลี่ยนคำนำหน้านาม จำเป็นต้องรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบ หรือ ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

รู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่สภาฯเปิดพื้นที่ให้กับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพมนุษยชน และรู้สึกเท่ที่สภาไทยพูดถึง กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีหลายเรื่องที่ให้ความเป็นธรรม เช่น นิติสินสมรส และเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่น ๆ แต่เรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ต้องรับฟังให้รอบ

อ่าน ทำความเข้าใจ "กลุ่มคนข้ามเพศ" พบในอดีตอายุสั้น -ป่วยโรคซึมเศร้าสูง

นายอนุสรณ์ ได้ร้องเพลง "กะเทยประท้วง" ของ ปอยฝ้าย มาลัยพร กลางสภาว่า "ฉันภูมิใจ ภูมิใจที่เป็นกะเทย ไผสิเว้าเยาะเย้ย กะส่างเถาะเว้ย กะส่างเถาะเว้ยปากคน" พร้อมระบุว่า เป็นกะเทยก็ภาคภูมิใจได้แล้ววันนี้คำว่า กะเทย คำที่บ่งบอกถึงเพศสภาพที่ 3, 4, 5 ไม่ใช่สิ่งที่จะไปบูลลี่กัน ไม่ใช่คำที่ฟังแล้วถูกประณามหยามหมิ่น

สังคมเราเป็นประเทศที่เปิดรับและเปิดกว้างกับคำหลากหลายทางเพศ ดังนั้นสิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ เราจะเป็นชายจริงหญิงแท้ LGBTQ เราควรจะภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น ตนเชื่อมั่นว่าเราจะใช้คำนำหน้าว่าอย่างไรเราก็ภาคภูมิใจได้ก่อนที่เราจะเรียกร้องให้คนอื่นเคารพเรา เราควรเคารพผู้อื่นก่อน

ก่อนที่เราจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับตนเอง เราหันไปมองรอบด้านเสียก่อนว่า สิทธิ์ที่เราเรียกร้องนั้นได้ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือไม่ และต้องระมัดระวังผลกระทบ ที่จะตามมา อย่างเพลง "ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ"หากเปลี่ยนคำนำหน้านาม จะไม่ได้หยุดแค่ที่ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ แต่จะกลายเป็นไม่รู้จักชายไม่รู้จักหญิง ไม่รู้จัก LGBTQ

หลังการอภิปราย สมาชิกลงคะแนนเห็นด้วย 152 เสียง, ไม่เห็นด้วย 256 เสียง, งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง ถือว่าที่ประชุม ไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ศึกษารายละเอียดการใช้ถ้อยคำ เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเรียกชื่อตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อให้เกียรติ และศักดิ์ศรีคนทุกกลุ่ม ไม่ให้เป็นการลดทอนคุณค่าของเพศสภาพและสถานะ

เรื่องนี้อยากให้วิปรัฐบาลไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศสภาพ ที่จะเสนอต่อสภา โดยขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เร่งเสนอร่างกฎหมายต่อ ครม.และสภาฯ

อ่านข่าวอื่น ๆ

ลงทะเบียน "หนี้นอกระบบ" แล้ว 1.45 แสนคน หนี้รวม 1 หมื่นล้าน

กกท.รับรอง "มาดามแป้ง" นั่ง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ อย่างเป็นทางการ

บอร์ดอีวี เคาะมาตรการหนุนใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ดันไทยศูนย์กลาง EV

ข่าวที่เกี่ยวข้อง