"ฟรีแลนซ์" รายได้ไม่แน่นอนแต่มีเงินออมเก็บเป็น "บำนาญ" ได้

ไลฟ์สไตล์
22 ก.พ. 67
15:37
2,413
Logo Thai PBS
"ฟรีแลนซ์" รายได้ไม่แน่นอนแต่มีเงินออมเก็บเป็น "บำนาญ" ได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หากคุณเป็นฟรีแลนซ์ แต่อยากมีเงินจับจ่ายใช้สอยในยามชราแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานให้ลำบาก การออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นทางเลือกอีกทางสำหรับผู้ประกอบอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน รวมถึงผู้ประกันตน ม.40 ที่สามารถวางแผนทางการเงินได้เพิ่มอีกทาง

กอช.คืออะไร?

กอช. หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นกองทุนส่งเสริมการวางแผนออมเงินในระยะยาวของคนประกอบอาชีพอิสระ (ฟรีแลนซ์) ทำหน้าที่คล้ายกองทุนชราภาพในระบบประกันสังคม สมาชิกสามารถเลือกออมเงินได้ตามความสมัครใจเมื่ออายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือน

  • เงินสมทบจากรัฐทุกเดือนตามช่วงอายุ
  • ได้รับผลประโยชน์จากเงินบำนาญตลอดชีพ สูงสุด 7,000 บาท/เดือน
  • เงินออมที่ส่งไปจะได้รับการคุ้มครองและค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุนจนอายุครบ 60 ปี
  • เงินออมสะสมของสมาชิกสามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้

วิธีการคำนวณเงินสมทบ

การจ่ายเงินสมทบของ กอช. จะสมทบตามสัดส่วนของเงินออมในแต่ละครั้ง โดยเงินที่สมทบจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุของผู้ออม ซึ่ง กอช.จะกำหนดเพดานเงินสมทบสูงสุดในแต่ละปี โดยในแต่ละปี สมาชิก กอช. สามารถส่งเงินออมได้เดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น และส่งขั้นต่ำครั้งละ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 13,200 บาท/ปี สมาชิกไม่จำเป็นต้องส่งเงินออมทุกเดือน และยอดเงินที่ออมแต่ละครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน

เคล็ดลับ : ควรฝากขั้นต่ำ 1,200 บาท/ปี หากต่ำกว่า 1,200 บาท เงินสมบทจะลดลง

เกณฑ์ในการคำนวณ

  • อายุ 15-30 ปี กอช.จะสมทบเงินให้ร้อยละ 50 หรือไม่เกิน 600 บาท/ปี
  • อายุ 30-50 ปี กอช.จะสมทบเงินให้ร้อยละ 80 หรือไม่เกิน 960 บาท/ปี
  • อายุ 50-60 ปี กอช.จะสมทบเงินให้ร้อยละ 100 หรือไม่เกิน 1,200 บาท/ปี

ตัวอย่าง : แม่ค้าขายของออนไลน์อายุ 40 ปี ส่งเงินออม กอช. ปีละ 1,200 บาท กอช. จะสมทบให้อีก 960 บาท สิ้นปีแม่ค้าคนนี้จะมีเงินสะสมในบัญชี 2,160 บาท

การจ่ายเงินของ กอช. เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปีแล้วนั้น จะจ่ายเป็น "เงินบำนาญ" จะมีเกณฑ์ที่แบ่งย่อยอีก 2 เกณฑ์ คือ 

  • สมาชิกที่มียอดเงินสะสมรวมมากกว่า 150,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญตั้งแต่ 600-7,000 บาท/เดือน เมื่อสมาชิกอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับบำนาญตลอดชีพจนกว่าจะเสียชีวิต
  • สมาชิกที่มียอดเงินสะสมรวมน้อยกว่า 150,000 บาท เมื่ออายุ 60 ปี จะได้รับเงินดำรงชีพเดือนละ 600 บาท จนกว่าจะครบตามจำนวนเงินออมทั้งหมดที่มีอยู่ โดยไม่ได้จ่ายจนกระทั่งเสียชีวิต

ใครเป็นสมาชิก กอช. ได้บ้าง?

  • มีสัญชาติไทย
  • อายุตั้งแต่ 15 ไม่เกิน 60 ปี
  • ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีนายจ้าง หรือ ไม่มีอาชีพประจำ
  • ไม่เป็นผู้ประกันตนประกันสังคม ม.33, ม.39, ม.40 ทางเลือก 2 และ 3
  • เป็นผู้ประกันตนประกันสังคม ม.40 ทางเลือก 1 
  • ไม่ประกอบอาชีพรับราชการ
  • ไม่เป็นสมาชิก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ผู้ที่สนใจเป็นสมาชิก กอช. สามารถสมัครได้ที่แอปพลิเคชัน กอช. หรือหน่วยรับสมัครสมาชิกใกล้บ้าน อาทิ ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ สำนักงานคลังจังหวัด สถาบันการเงินชุมชน ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทุกสาขา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนเงินออม โทร. 02-049-9000 ในวันและเวลาทำการ

เกษียณแล้วรับเงินบำนาญ กอช. ทางไหน 

สมาชิก กอช. จะได้รับเงินคืนเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยก่อนสมาชิกอายุครบ 60 ปี กอช. จะแจ้งล่วงหน้า 3 เดือน เพื่อให้เลือกวิธีรับเงิน 2 รูปแบบ คือ โอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือ ธนาณัติ และเงินที่สมาชิกจะได้รับมี 3 ส่วน ได้แก่

  1. เงินออมสะสมของสมาชิก
  2. เงินสมทบจากรัฐ
  3. ผลประโยชน์ของเงินสะสม และ เงินสมทบที่ กอช. นำไปลงทุนระหว่างทาง

จำนวนที่ได้รับขึ้นอยู่กับยอดเงินออมและผลตอบแทนการลงทุนในวันที่คำนวณ หรือกรณีสมาชิกเสียชีวิตก่อนหรือหลังอายุ 60 ปี กอช. จะจ่ายคืนให้ผู้รับผลประโยชน์เป็นเงินก้อนครั้งเดียว

เปรียบเทียบเงินบำนาญ กอช. และ เงินชราภาพ ม.40 

  • ผู้ประกันตน ม.40 ทางเลือกที่ 1 คือ จ่าย 70 บาท/เดือน รัฐสมทบ 30 บาท/เดือน ได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยนช์ 3 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต 
  • ผู้ประกันตน ม.40 ทางเลือกที่ 2 คือ จ่าย 100 บาท/เดือน รัฐสมทบ 50 บาท/เดือน ได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยนช์ 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ
  • ผู้ประกันตน ม.40 ทางเลือกที่ 3 คือ จ่าย 300 บาท/เดือน รัฐสมทบ 150 บาท/เดือน ได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยนช์ 5 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร 

จะได้เงินคืนเมื่อ อายุ 60 ปีบริบูรณ์ และ สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน หรือผู้ประกันตนเสียชีวิตจะได้รับเงินสงเคราะห์ และค่าทำศพ กรณีชราภาพจะได้รับเงินบำเหน็จ 

  • สมาชิก กอช. ให้สิทธิกับนักเรียน นักศึกษา ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี สัญชาติไทย และไม่อยู่ในระบบสวัสดิการบำเหน็จบำนาญอื่นของรัฐ รวมถึงผู้ประกันตนของประกันสังคม ม.40 ทางเลือก 1 

จะได้เงินคืนเมื่อ อายุ 60 ปีบริบูรณ์ และ สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน หากลาออกก่อน 60 ปี ได้เงินเฉพาะที่ส่งไปและดอกเบี้ยของเงินออม กรณีเสียชีวิต จะจ่ายคืนให้ทั้งหมด (ทั้งเงินออม เงินสมทบ และดอกเบี้ยของเงินออม) 

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วในแง่ของเงินบำนาญที่จะได้รับตอนเกษียณ กอช. จะได้มากกว่าหากอายุยืน แต่ของประกันสังคม จะได้สิทธิเงินทดแทนเมื่อขาดรายได้ตามสิทธิ แม้ได้เงินบำนาญน้อยกว่า แต่สำหรับสมาชิก กอช. ที่เป็นผู้ประกันตน ม.40 ทางเลือก 1 จะได้ทั้งเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ ซึ่งคุ้มกว่าการเลือกเป็นสมาชิกแค่เพียงกองทุนใดกองทุนหนึ่ง 

ที่มา : ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ, กองทุนการออมแห่งชาติ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง