คนนอกกรอบ "ลุงหมู สาริกา" 35 ปีรักษ์เขาใหญ่ไม่มีวันเกษียณ

สิ่งแวดล้อม
22 ก.พ. 67
17:34
480
Logo Thai PBS
คนนอกกรอบ "ลุงหมู สาริกา" 35 ปีรักษ์เขาใหญ่ไม่มีวันเกษียณ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมบัติคือสิ่งที่เราทำให้ป่าเขาใหญ่ สัตว์ป่าคงอยู่ อยากให้คนรุ่นหลังมาเห็นได้สืบทอดต่อไป คงเป็นมรดกที่ลุงทิ้งไว้ให้คนรุ่นใหม่ หวังเพียงแค่นี้

"ลุงหมู สาริกา" บดินทร์ จันทศรีคำ ประธานชมรมคนรักษ์สัตว์-ป่า ชายวัย 65 ปีผู้มีหัวใจ และผองเพื่อนที่มีเส้นทางสายอนุรักษ์ มาค่อนชีวิต เริ่มต้นสนทนา

ภาพจำของหลายคน "ลุงหมู สาริกา" คือชายร่างเล็กใจดี ชอบสวมหมวกสีเขียว สะพายแกลลอนสีฟ้าเพื่อขนน้ำคนละ 18 ลิตรแบกขึ้นเขาสูง 2.5 กิโลเมตร ไปให้เลียงผาที่เขาสมโภชน์เป็นประจำทุกๆ ปี

แต่หากใครเป็นแฟนคลับตัวจริง จะรู้ว่า ลุงหมู มักจะแบ่งปันเรื่องเล่าของสัตว์ป่าผ่านเพจเฟซบุ๊ก บดินทร์ จันทศรีคำ ที่มีคนติดตามถึง 27,544 คน ไม่ว่าจะเป็นพลายสาริกา ช้างป่าเซเลบ ออกหากินแถวน้ำตกสาริกา หรือเจ้าหมีโตโน่ จอมซนที่ชอบหลีสาว แม้แต่เจ้าเดี่ยว กระทิงตาบอดกับแม่มะลิ ผู้อาภัพแห่งผากระดาษ และกระทิงกางชัย ผู้บุกเบิกฝูงกระทิงบนเขาแผงม้า

ไม่นับรวมบันทึกเดินทาง ตำนานเรื่องเล่าของเขาใหญ่ จากเพื่อนพี่น้องที่เคยร่วมงานกับลุงหมู มาตลอด 35 ปีที่ถูกถ่ายทอดด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และอีกภาร กิจสำคัญ คือการช่วยเหลือสัตว์ป่าบาดเจ็บ ที่ถูกรถชนพิการ และเลียงผาที่กินสารเคมีเต็มท้อง ต้องรับมาดูแลที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่านครนายก

อ่านข่าว สายใย "โอโม่ เขาใหญ่" vs "ยายมะลิ" กระทิงชราตาบอด

"เขาใหญ่-เขาแผงม้า" บ้านของสัตว์ป่า

เหตุที่ต้องทุ่มเทกับเขาใหญ่ และสัตว์ป่าไม่ว่าจะช้าง กระทิง หมี แม้แต่ลิงตัวเล็กๆ ลุงหมู บอกว่า เพราะมีความผูกพัน ตั้งแต่ชีวิตพลิกผัน จากคนสร้างถนนให้กับกรมทางหลวงชนบท มาเป็นแนวร่วมค้านเขื่อนเหวนรก บนเขาใหญ่เมื่อปี 2533 

จากนั้นยังได้ร่วมทำงานปลูกป่าที่เขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชร่วมกับรุ่นพี่หลายคนที่มีส่วนสำคัญเช่น นิคม พุทธา และผู้คนอีกมากมายที่ปลูกป่าบนเขาหัวโล้น ป่าเริ่มฟื้น จนกระทิงตัวแรกชื่อ "กางชัย" พาฝูงมาปักหลักจนออกลูกออกหลาน

การซ่อมแหล่งน้ำให้กับกระทิงเขาแผงม้า เป็นหนึ่งในงานที่ลุงหมู และสมาชิกทำต่อเนื่อง (ภาพ บดินทร์ จันทศรีคำ)

การซ่อมแหล่งน้ำให้กับกระทิงเขาแผงม้า เป็นหนึ่งในงานที่ลุงหมู และสมาชิกทำต่อเนื่อง (ภาพ บดินทร์ จันทศรีคำ)

การซ่อมแหล่งน้ำให้กับกระทิงเขาแผงม้า เป็นหนึ่งในงานที่ลุงหมู และสมาชิกทำต่อเนื่อง (ภาพ บดินทร์ จันทศรีคำ)

30 ปีการกลับมาของกระทิงเขาแผงม้า

ลุงหมู เล่าว่า 2539 เป็นครั้งแรกที่เห็นกระทิงกลับมา 3 ตัว นำโดยจ่าฝูงกางชัยมาแถวบ้านคลองทราย เลยปักหมุดให้เป็นบ้านของกระทิงปลูกกล้วย ทำแหล่งน้ำ เพื่อดึงกระทิงให้อยู่ ยอมรับว่าจะมาถึงตรงนี้ก็ต้องต่อสู้ ทั้งทำความเข้าใจกับคนที่อยู่รอบส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ส.ป.ก.เขาก็ต้องการผลผลิต

สมัยก่อนพื้นที่นี้ เคยเผชิญหน้าระหว่างคนกับกระทิงรุนแรงหนัก ถึงขั้นทำเครื่องดักสัตว์ทำร้ายเหมือนกระดานไม้ตีตะปูเอาวางตามแนวรั้ว พอกระทิง หมูป่ามาเหยียบมีบาดแผลล้มตาย เรียกว่าเป็นช่วงที่คนกับสัตว์ป่าเผชิญหน้ากันรุนแรง จนต้องเริ่มทำแนวรั้วประมาณ 14 กม.ป้องกันกระทิงออกนอกพื้นที่

กระทั่ง 10 ปีผ่านไปเริ่มเห็นความหนาแน่นของป่ามากขึ้น พร้อมกับกระทิงทยอยกลับมาจาก 3 ตัว เป็น 10 ตัว 20-30 ตัว จนตอนนี้กระทิงกลับมามีถึง 300 ตัว สมัยนั้นเริ่มประกาศพื้นที่ 5,000 ไร่ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า 

ปัจจุบันเขาแผงม้ากลายเป็นจุดเช็กอินมีรูปปั้นกระทิง "กางชัย" อยู่บนหอสกัดเขาสูง ให้นักท่องเที่ยวได้ดูกระทิงที่หากินในบ้านขังตัวเอง แต่ในช่วงก่อนเข้าหน้าแล้ง ลุงหมูจะชวนเครือข่ายชวนคนรักกระทิงมาเติมน้ำให้กระทิงทุกปี 

ไม่ได้หมายว่าทำคนเดียวแล้วทำให้อะไรดีขึ้น ลุงแค่นำทางให้กับหลายๆ คนที่รักธรรมชาติแต่เขาไม่รู้จะเริ่มตรงไหนมาทำงานมองเป้าหมายเดียวกัน และทุกวันนี้ยังทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเรามีเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากขึ้น

ถามต่อว่าทำงานมา 35 ปี บนถนนสายนี้ เคยคิดจะเกษียณตัวเองบ้างมั้ย "น้าหมู" อมยิ้ม พร้อมเล่าว่าทำงานมา 30-40 ปีบนเขาใหญ่ แต่ถึงวันนี้ยังมองว่ายังไม่ถึงครึ่งทางที่อยู่ตรงหน้า ด้วยความที่รูปแบบที่เปลี่ยนไป มันไม่ทันกับปัญหาที่กระทบกับสัตว์ป่า

ลุงหมู บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นช้างป่าออกนอกพื้นที่ เข้ามาเดินในชุมชน กระทิงเขาแผงม้าที่ลงมาบนถนนพุ่งชนรถบนถนน เข้าไร่มันสำปะหลัง ก็เจอคนจุดประทัดไล่ พอบ้านนี้ตื่นมาตี 2 จุดประทัดไล่ก็ไปที่อื่นอีก แต่บางตัวก็กินสารเคมีตาย โดนรถชนตายบ้าง หรือเลียงผาที่เขาสมโภชน์ ที่ต้องทำแหล่งน้ำบนเขา ทุกวันนี้ยังทำต่อเนื่องมานับสิบปี

กิจกรรมขนน้ำไปเทให้เลียงผา บนเขาสมโภชน์ (ภาพบดินทร์ จันทศรีคำ)

กิจกรรมขนน้ำไปเทให้เลียงผา บนเขาสมโภชน์ (ภาพบดินทร์ จันทศรีคำ)

กิจกรรมขนน้ำไปเทให้เลียงผา บนเขาสมโภชน์ (ภาพบดินทร์ จันทศรีคำ)

คนนอกกรอบ-ยอมจ่ายค่าปรับ

ทุกวันนี้บอกว่าตรงๆ ว่า ทำงานนอกตำรา ทำงานนอกกรอบ เพราะวิธีการ หรือตำราที่เขียนมา ไม่ทันกับปัญหาที่กระทบต่อสัตว์ป่าที่มีพัฒนาไปไกลจนเสี่ยงไปสู่จุดที่น่าเป็นห่วงคือการสูญเสีย

ลุงหมู มักพูดกับคนรอบข้างว่า ด้วยความที่เป็นคนทำงานเร็ว บางครั้งระบบราชการอาจไม่ทันใจ จึงให้นิยามตัวเองว่าเป็นคนนอกรอบ พร้อมอธิบายว่า โครงการบางอย่างทำนอกกรอบ เพราะบางทีสัตว์เจ็บป่วย ต้องการความรวดเร็วไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาที่ช้าเลยช่วยฉุกเฉิน

ส่วนบางโครงการ เช่น แบกถังน้ำกันไปบนเขาสมโภชน์ขึ้นไปคนละ 18 ลิตร  40-50 คนไปให้เลียงผา ก็เข้าข่ายผิดระเบียบราชการ เพราะเหมือนเอาน้ำเอาอาหารไปให้สัตว์ป่ากิน แต่ลุงถามกลับไปว่าถ้ารอระเบียบจะมีเลียงผาให้อนุรักษ์หรือเปล่า ตอนนี้มีเลียงผาเหลือแค่ 20-30 ตัว คิดทำแค่นี้ ไม่ได้สร้างผลกระทบมากเกินไป เพราะกว่าเลียงผาจะมากินน้ำก็อีก 4-5 วัน

กรมอุทยานฯ ต้องดูแลพื้นที่แต่ต้องมีน้ำ เพื่อให้สัตว์อยู่ได้ ลุงเองก็เป็นคนนอกตำราเข้าไปจัดการ ยอมเสียค่าปรับครั้งละ 500 บาท เหมือนงานอนุรักษ์เทาๆ แบบนี้

ลุงหมู บอกว่า ตัวเองไม่ใช่ว่าจะว่ามีดีเอ็นเอ มองแค่สัตว์ป่าเป็นเรื่องถูกทั้งหมดก็ยังเห็นใจคน มองว่าสัตว์ป่าก็แค่ต้องการกินอิ่มแล้ว กลับไปนอนอุ่นในป่า สัตว์ป่าไม่ได้ยึดที่ดินอยู่ครอบครอง ถ้าช่วยทำพื้นที่กลับมาสมบูรณ์มีแหล่งน้ำเชื่อว่าปัญหาน่าจะทุเลาลง

ทั้งหมดนี้ คือความพยายามนำสัตว์กลับคืนสู่ป่า เหมือนกับเราเคยใช้ชีวิตในเมือง สุดท้ายสักวันเราจะกลับมาบ้านเกิด แต่การนำสัตว์คืนสู่ป่าไม่สามารถบอกว่าจะประสบสำเร็จเมื่อไหร่

ลุงไม่ได้มีแรงเดินไปบอกกับทุกคนได้คนที่ 1 บอกต่อคนที่ 2 คนที่ 3 บอกคนให้เข้าป่า ถ้าทำแบบนี้ป่าเขาใหญ่ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ 

อ่านข่าว ถึงคิว! รุกสวนป่าปางอโศก หมุด ส.ป.ก.โผล่แปลงอดีตลูกจ้างป่าไม้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง