สังเกต 6 พฤติกรรมเด็กหลังเผชิญเหตุรุนแรง ป้องกันบาดแผลฝังลึกทางใจ

สังคม
23 ก.พ. 67
14:33
664
Logo Thai PBS
สังเกต 6 พฤติกรรมเด็กหลังเผชิญเหตุรุนแรง ป้องกันบาดแผลฝังลึกทางใจ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จิตแพทย์เด็ก แนะสังเกต 6 พฤติกรรมเด็กเล็ก หลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรงในครอบครัว ป้องกันบาดแผลฝังลึก ส่งผลกระทบเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

มีคำกล่าวว่า เด็กแรกเกิด เปรียบเสมือนหนึ่งผ้าขาว การเติบโตในสภาวะแวดล้อมเช่นใด เด็กจะเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะการซึมซับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากในอดีต และพัฒนาเติบโตขึ้นตามลำดับอายุและช่วงวัย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ คุยกับ พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ หรือ หมอแอม กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาสมอง พัฒนาการ และการเรียนรู้ เจ้าของเพจ "เรื่องเด็กๆ by หมอแอม"

พญ.พรนิภา ให้ความเห็นประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากคนในครอบครัวว่า ปัจจุบันมีให้เห็นบ่อยขึ้น และบางเหตุการณ์พบมี เด็กเล็ก ๆ ที่อยู่ในช่วงวัยเตาะแตะ อยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย ซึ่งผลกระทบของความรุนแรง อาจไม่สร้างเฉพาะบาดแผลที่เกิดขึ้นทางกาย แต่กับบาดแผลทางใจเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ และมีแนวโน้ม อาจส่งผลระยะยาวต่อเด็กในอนาคต

แม้ในช่วง 5 ปีแรก เด็กยังอยู่ในช่วงวัยที่ไม่สามารถจำเรื่องราว และรายละเอียดของเหตุการณ์ไม่ได้ แต่สามารถจำความรู้สึก และอารมณ์ที่มากระทบได้ รวมทั้งซึมซับสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัว เมื่อในอนาคตเมื่อเด็กเติบโตและพัฒนาขึ้นตามวัย อาจทำให้รู้สึกหวาดกลัวกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต และสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ยาก

แม้เด็กในช่วง 5 ปีแรก ยังอยู่ในช่วงวัยที่ยังจำเรื่องราว รายละเอียดของเหตุการณ์ไม่ได้ แต่สามารถจำความรู้สึก และอารมณ์ที่มากระทบได้ ในอนาคตเมื่อเด็กเติบโตขึ้นตามวัย อาจรู้สึกหวาดกลัวกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต

นอกจากนี้ เด็กเล็กจะมีพัฒนาการตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กจะพัฒนาการได้ผ่านหลายปัจจัย แต่พัฒนาการเหล่านี้อาจหยุดชะงักลงได้หากเด็กพบเจอกับ "การใช้ความรุนแรง" โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวของเด็ก

พญ.พรนิภา กล่าวว่า มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า ความรุนแรงที่เด็กพบเจอใน "วัยเด็ก" จะติดตามไปถึงตอนเป็นผู้ใหญ่ และส่งผลถึงการแสดงออก ในเรื่องอาการทางกาย และมุมมองของความสัมพันธ์ในอนาคต 

อ่าน เด็กประสบเหตุรุนแรง เสี่ยงโรค PTSD หมอแนะพ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี

หลายคนโตมากับความรู้สึกว่าตัวเองมีปม แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร สุดท้ายเมื่อใช้จิตวิทยาบำบัด ถึงทราบว่า เขาเคยเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่สร้างปมให้เขา อาจจำเหตุการณ์ไม่ได้แต่ความรู้สึกและปมในใจมันฝังไปจนโตได้ ทำให้มีปัญหาด้านพฤติกรรม Mindset ที่บิดเบี้ยวโดยที่เขาไม่เข้าใจว่า เกิดจากอะไร

นอกจากนี้ "เด็ก" จะเรียนรู้บทบาททางเพศ เช่น เมื่อเคยเห็นพ่อทำร้ายตบตีแม่บ่อย ๆ อาจมีความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนไปในบางเรื่อง เช่น การตบตีในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ รวมถึงหากมีใครมาทำร้ายร่างกายก็จะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว และไม่ต้องปกป้องตัวเอง

สังเกต 6 พฤติกรรมเด็กหลังเผชิญเหตุรุนแรง

พญ.พรนิภา ยังให้คำแนะนำวิธีการสังเกตพฤติกรรมทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของเด็ก ที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัว เช่น เห็นแม่ถูกทำร้ายหรือเห็นภาพที่กระทบต่อจิตใจ โดยเฉพาะในด็กเล็กอาจสื่อสารไม่ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญจะใช้วิธีสังเกตความเครียด ดังนี้

1. การนอนหลับ ที่เปลี่ยนไป เพราะเด็กที่เครียดหรือวิตกกังวลจะมองไม่ออก จึงสังเกตได้จาก เด็กนอนหลับ ตื่นบ่อยครั้ง หรือฝันร้าย

2. การกิน ที่เปลี่ยนไป เช่น กินลดลง อะไรที่เคยชอบกลับไม่ชอบ แต่บางคนอาจกินเพิ่มขึ้นในบางคน

3. การแสดงออกทางอารมณ์ ผิดปกติ เช่น มักมีความวิตกกังวล หวาดกลัว โกรธรุนแรง ผิดไปทางสถานการณ์ที่กำลังเจออยู่ เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง ไม่เสถียร

4. แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เมื่ออยู่กับตัวเอง กับของเล่น หรือกับสัตว์เลี้ยง

5. เคยชอบ กลับไม่ชอบ เช่น ทำกิจกรรมแล้วเคยชอบแต่กลับไม่ชอบ เด็กที่มีอาการซึมเศร้าจะไม่สามารถชอบในสิ่งที่เคยชอบได้อีกแล้ว

6. พัฒนาการถดถอย เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่สุด ของเด็กที่มีปัญหาที่มีเรื่องกระทบจิตใจ เรียกว่า พัฒนาการถดถอย เคยทำบางอย่างได้แต่กลับทำไม่ได้ เช่น เคยกินข้าวเองได้แต่กลับกินข้าวเองไม่ได้

การสังเกตพฤติกรรมเด็กข้างต้นอาจเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น  พญ.พรนิภา กล่าวว่า หากจะให้ดีแนะนำให้พาเด็กไปพบจิตแพทย์ เพื่อประเมินผลกระทบและรับคำปรึกษา หาวิธีการแก้ปัญหาทางออกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำทั้งวิธีการพูดกับเด็ก หรือ การดูแลต่อจากนี้

ผลกระทบพัฒนาการของเด็กในระยะสั้น อาจมีการก้าวร้าว มีปัญหาในการเรียนรู้ หรืออาจจะมีพฤติกรรมกลัวคนแปลกหน้า แปลกแยกจากสังคม ไม่คุ้นเคยกับคนที่ไม่เคยเลี้ยง ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องพัฒนาการตามมาได้ ซึ่งคนในครอบครัว จะเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ให้สังเกตสัญญาณเตือน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วหากเข้าเกณฑ์แสดงว่า เด็กเริ่มมีปัญหาทางจิตใจและควรพาไปพบผู้เชียวชาญเพื่อประเมิน

ความรุนแรงส่งผลกระทบ "เด็ก" ในอนาคต

พญ.พรนิภา ยังกล่าวเหตุการณ์สามีทำร้ายร่างกายภรรยาจนเสียชีวิต ในขณะที่มีลูกวัยขวบเศษอยู่ในเหตุการณ์ด้วยว่า อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กในอนาคต เพราะเด็กอาจจะได้รับรู้ข่าวดังกล่าวเมื่อเติบโตขึ้นในอนาคต และจะกลายเป็นบาดแผลที่เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกรอบ

"เด็กอยู่ในวัยเพียง 1 ขวบ 7 เดือน อาจ ยังจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่การนำเสนอข่าวทั้งสื่อกระแสหลัก และโซเชียลมีเดีย บางสื่อแสดงให้เห็นการกระทำที่รุนแรงซ้ำไปซ้ำมา ข่าวนี้จะอยู่บนโลกออนไลน์ไปตลอดชีวิต โตขึ้นเขาจะมาหาข้อมูลว่านี้คือ พ่อ แม่ ของเขา"

อ่าน สามีรับฆ่า "น้องนุ่น" ภรรยา นำร่างเผาที่ปราจีนบุรี - คุมทำแผนวันนี้

โดยปกติเด็กเล็กจะติดพ่อ แม่ หากมีใครคนใดคนหนึ่งเกิดหายไปเลยเด็กอาจมีภาวะ Separation Anxiety หรือ ความวิตกกังวลต่อการแยกจากพ่อ หรือ แม่ การกลัวการพรากจาก รู้สึกหงุดหงิด ตื่นตระหนก เมื่อคนที่ไม่คุ้นเคยเข้าใกล้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดูแลเด็กจากนี้ ต้องทำความเข้าใจให้มาก และระมัดระวังในการพูดคุยกับเด็ก

การดูแลเด็กด้วยการสัมผัส "อุ้ม กอด บอกรัก" เพื่อปลอบขวัญจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเด็กเล็กอาจไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวออกมาเป็นคำพูดได้ก็จริง แต่ผู้ปกครองสามารถสังเกตว่า เด็กมีอาการกลัว หรือยังฝังใจกับเหตุการณ์นั้นหรือไม่ และจำเป็นต้องนำไปสู้การแก้ปัญหา 

พญ.พรนิภา มองว่า เด็กจะมีปัญหาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทัศนคติของคนเลี้ยงดู หากคนเลี้ยงมองว่า ตรงนี้เป็นปมด้อยของเด็ก เด็กก็จะถูกสั่งความคิดว่า สิ่งนี้คือปมด้อยของเขา แต่หากบอกว่า คือ สิ่งที่เกิดขึ้นแต่เราจะช่วยกันได้ เด็กก็จะมี Mindset อีกแบบว่า มันเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเขาเท่านั้น

เด็กที่เกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เขาอาจต้องการการเยียวยาจิตใจ ยิ่งเร่งช่วยเหลือเขาอาจเกิดความรู้สึกหวาดกลัวได้ ต้องค่อย ๆ ให้เวลาเขาค่อย ๆ ปรับตัว

ส่วนใหญ่เด็กเล็กจะได้รับผลกระทบจากการกระทำของคนรอบข้างมากกว่า ทั้งการพูด การมอง สายตา การเลี้ยงดูต่อจากนี้ ตอนนี้เขาก็จะฝัง ฝังไปเรื่อย ๆ หากได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี โอกาสที่จะมีปัญหาในอนาคตค่อนข้างน้อย ผู้ที่เลี้ยงอาจต้องเขาใจว่าจะต้องพูดกับเด็กยังไง เด็กเริ่มโตก็จะค่อย ๆ ให้ความรู้เขาในแต่ละช่วงวัย อย่างไร

สุดท้ายอยากให้มีการผลักดันกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว และส่งเสริมสร้างความเข้าใจ สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช้เรื่องปกติ หรือ ไม่ใช่เรื่องผัวเมียแล้วไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว และไม่ใช่ผลกระทบแค่คู่ชีวิต เพราะมันอาจกระทบไปถึงอนาคตของเด็กคนหนึ่งด้วย

อ่านข่าวอื่น ๆ

ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกสุดในรอบปี คืนวันมาฆบูชา 24 ก.พ.นี้

แจงรถไฟความเร็วสูงไม่กระทบ "มรดกโลกอยุธยา" ไม่เวนคืนที่ดิน

พิษณุโลกชวนสักการะ "รอยพระพุทธบาทตะแคง" แห่งเดียวในโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง