ไทม์ไลน์ถนนพระราม 2 กว่า 50 ปี ก่อสร้างไม่สิ้นสุด

สังคม
28 ก.พ. 67
14:01
6,728
Logo Thai PBS
ไทม์ไลน์ถนนพระราม 2 กว่า 50 ปี ก่อสร้างไม่สิ้นสุด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จากกรณีมีการโพสต์โซเชียลภาพชายหาดหัวหิน หรือหาดสาธารณะตะเกียบ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ไร้ผู้คน ซึ่งเบื่อรถติดถนนพระราม 2 ที่ก่อสร้างล่าช้า เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวหัวหินกันน้อยลง จนกลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียล

ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง สั่งแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน พร้อมให้ควบคุมโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างเข้มงวด

ย้อนประวัติถนนพระราม 2 หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง–วังมะนาว เป็นถนนที่ตัดผ่านกรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร และ ราชบุรี เป็นเส้นทางหลักที่มุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศไทย 

ถนนพระราม 2 แยกจากถนนสุขสวัสดิ์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 303) ในพื้นที่เขตจอมทอง และตัดผ่านพื้นที่เขตบางขุนเทียน ผ่าน จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม แล้วสิ้นสุดที่ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4) บริเวณทางแยกต่างระดับวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

ถนนสายดังกล่าวมีระยะทางที่ผ่านในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้ กรุงเทพฯ ระยะทาง 14.66 กม., จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 39.215 กม., จ.สมุทรสงคราม ระยะทาง 26.951, และ จ.ราชบุรี ระยะทาง 3.215 กม. รวมระยะทาง 84.041 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ถนนพระรามอื่น ๆ เช่น พระรามที่ 1, 3, 4, 5, 6 และถนนพระราม 9 อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ยกเว้น ถนนพระราม 2 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง

- พ.ศ.2513 ถนนพระรามที่ 2 เริ่มก่อสร้างในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เม.ย.2516 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักมุ่งสู่ภาคใต้ ช่วยย่นระยะทางสั้นกว่าถนนเพชรเกษมประมาณ 40 กิโลเมตร จึงทำให้ประชาชนใช้เส้นทางนี้แทนถนนเพชรเกษม เป็นต้นมา

ในช่วงระยะแรกเป็นทางหลวงแผ่นดินขนาด 2 ช่องจราจรสวนทาง ต่อมาเมื่อมีผู้สัญจรไปมาบนถนนสายนี้เป็นจำนวนมาก จนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อีกทั้งสภาพพื้นที่ที่เป็นบริเวณดินอ่อนตลอดสายทาง ผ่านท้องทุ่งนาเกลือ สวนมะพร้าว จึงเป็นสาเหตุทำให้คันทางมีการทรุดตัว ดินอ่อนสูง มีน้ำท่วมเป็นช่วง ๆ ผิวจราจรเกิดความเสียหาย ผู้ใช้เส้นทางได้รับความเดือดร้อนมากจึงได้มีโครงการก่อสร้างเพิ่มเติม

อ่านข่าว : รู้จัก "ถนนพระราม 2" ถนนสายหลักสู่ภาคใต้ กับปัญหา "ซ่อม-สร้าง"

- พ.ศ.2532-2537 ขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร พร้อมทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2537

- พ.ศ.2539-2543 มีการขยายถนนช่วงสามแยกบางปะแก้วถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน เป็น 14 ช่องจราจร แบ่งออกเป็นช่องทางหลัก 8 ช่องจราจร และช่องทางขนานข้างละ 3 ช่องจราจร แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2543

- พ.ศ.2544-2546 ได้มีการขยายช่องจราจรจาก 4 ช่องจราจรเป็น 8 ช่องจราจร และ 10 ช่องจราจรตามลำดับ ระหว่างทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน–นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร (กม.10+000–กม.34+000) ความยาวรวมประมาณ 24 กิโลเมตร จากการขยายการก่อสร้างถนนพระรามที่ 2 ช่วงดาวคะนอง และถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก จากบางบัวทอง–บางขุนเทียน ตอน 1, 2 และ 3 ให้สอดคล้องต่อเนื่องกันตลอดสาย

โดยดำเนินการก่อสร้างส่วนที่สำคัญเฉพาะทางคู่ขนานด้านขาเข้าและขาออกข้างละ 2–3 ช่องจราจร เพื่อประหยัดงบประมาณก่อสร้าง แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2546

- พ.ศ.2549-2552 ก่อสร้างส่วนต่อขยายจนถึงทางแยกต่างระดับวังมะนาว โดยขยายช่องจราจรจากเดิม 4 ช่องจราจรเป็น 6–8 ช่องจราจร และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือน ก.พ.2552

- พ.ศ.2561-2563 โครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน-แยกเอกชัย จาก 10 เลน เป็น 14 เลน

มีโครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน-แยกต่างระดับเอกชัย (กม.9+747 - กม.21+431) จาก 10 ช่องจราจร เป็น 14 ช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี

- พ.ศ.2561-2563 ขยายถนนพระรามที่ 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน-แยกต่างระดับเอกชัย จาก 10 ช่องจราจร เป็น 14 ช่องจราจร รวมทั้งก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน–เอกชัย ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร ต่อเนื่องจากโครงการทางพิเศษสายพระรามที่ 3–ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกตะวันตก ขนานไปกับถนนพระรามที่ 2 ถึงทางแยกต่างวังมะนาว

- พ.ศ.2562-2564 โครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 ระหว่างนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ถึงแยกต่างระดับบ้านแพ้ว จาก 8 ช่องจราจร เป็น 12 ช่องจราจร รวมทั้งก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ระยะที่ 2 ช่วงเอกชัย–บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.6 กิโลเมตร

- พ.ศ.2562 - 2565 โครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 ช่วงที่ 1 ระหว่างแยกต่างระดับบ้านแพ้ว จาก 8 ช่องจราจร เป็น 12 ช่องจราจร 

ช่วงที่ 2 ระหว่างหน่วยบริการตำรวจทางหลวง สมุทรสงคราม ถึงตรงข้ามสถานีไฟฟ้าแรงสูง สมุทรสงคราม จาก 8 ช่องจราจร เป็น 12 ช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2564 ก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2565

ช่วงที่ 3 ระหว่างตรงข้ามสถานีไฟฟ้าแรงสูง สมุทรสงคราม ถึงแยกต่างระดับสมุทรสงคราม จาก 8 ช่องจราจร เป็น 12 ช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2560 ก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2562

ช่วงที่ 4 หน้าโชว์รูมโตโยต้า สมุทรสงคราม ถึงสะพานพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จาก 8 ช่องจราจร เป็น 12 ช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2558 และโครงการในอนาคตทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ระยะที่ 3 ช่วงบ้านแพ้ว–สมุทรสงคราม ระยะทาง 24.8 กิโลเมตร และระยะที่ 4 ช่วงสมุทรสงคราม-ทางแยกต่างระดับวังมะนาว ระยะทาง 22.2 กิโลเมตร

- พ.ศ.2563 - 2566 สร้างทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกตะวันตก

อ่านข่าว : "ทล. - กทพ." มั่นใจโครงการก่อสร้าง ถ.พระราม 2 เสร็จทุกโครงการปี 68

แม้กระทั้งจนถึงปัจจุบัน การก่อสร้าง ถ.พระราม 2 ยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จสิ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางยกระดับท่าโดยถนนเส้นนี้จะยาวไปจนถึงวังมะนาว หรือ ธนบุรี-ปากท่อ รวมระยะทางกว่า 85 กิโลเมตร

โดยนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ ทางหลวงหมายเลข 35 สายดาวคะนอง-วังมะนาว (ถ.พระราม 2) มีโครงการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อยู่ทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่

1.โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย รับผิดชอบโดย กรมทางหลวง

2.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว รับผิดชอบโดย กรมทางหลวง

3.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก รับผิดชอบโดย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้ง 3 โครงการ มีความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้ทดลองใช้บริการภายในปี 2568

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

รถเครนสลิงขาด ถ.พระราม 2 เสียชีวิต 1 เจ็บ 1 - "ทล." สั่งหยุดก่อสร้าง 3 วัน

ถนนยุบตัว-แตกร้าว ย่านพระราม 2 ปิดการจราจร จนท.คาดท่อน้ำใต้ดินรั่ว

สั่งหยุดก่อสร้าง 7 วัน ทางด่วนพระราม 2 หาสาเหตุแบบหล่อร่วงทับคนงาน

เหล็กแบบก่อสร้างทับคนงานเสียชีวิต 1 เจ็บ 1 ถนนพระราม 2

ถนนพระราม 2 สร้างไม่รู้จบ หวั่นซ้ำรอยยุค “ถนนเจ็ดชั่วโคตร”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง