โลกร้อนทำพิษ ไทยเผชิญวิกฤต "ภัยแล้ง" วงกว้างนานกว่า 10 ปี

สิ่งแวดล้อม
1 มี.ค. 67
06:00
1,458
Logo Thai PBS
โลกร้อนทำพิษ ไทยเผชิญวิกฤต "ภัยแล้ง" วงกว้างนานกว่า 10 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ภัยแล้ง" หนึ่งในภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และยังทำลายระบบนิเวศทั้งสัตว์ป่า ป่าไม้ แหล่งน้ำ เป็นบริเวณกว้าง ปี 2557-2558 เป็นช่วงที่ไทยประสบภัยแล้งหนักทั่วประเทศ จากผลกระทบของเอลนิโญ

ภัยแล้งคืออะไร

คือภัยธรรมชาติที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความแห้งแล้งและส่งผลกระทบต่อชุมชน ภัยแล้งไม่เหมือนกับภัยธรรมชาติรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น พายุเฮอร์ริเคน หรือ ภูเขาไฟระเบิด แต่ภัยแล้งในบางพื้นที่สามารถคงอยู่ได้นานนับสิบปี และยังสามารถสร้างความเสียหายต่อผู้คนและระบบนิเวศในระยะยาว มีสาเหตุ 2 อย่าง ได้แก่

  1. สาเหตุจากธรรมชาติ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของ อุณหภูมิโลก สภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำทะเลเช่น วาตภัย แผ่นดินไหว
  2. สาหตุจากมนุษย์ ได้แก่ การทำลายชั้นโอโซน ผลกระทบของภาวะเรือนกระจก การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการตัดไม้ทำลายป่า
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

สำหรับภัยแล้งในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจาก ฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง
ฝนแล้งเป็นภาวะปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ฝนทิ้งช่วงคือ ช่วงที่มีปริมาณฝนตกไม่ถึงวันละ 1 มม.ติดต่อกันเกิน 15 วัน ในช่วงฤดูฝนเดือนที่มีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงสูงคือ เดือน มิ.ย. และ ก.ค.

ช่วงเวลาเกิดภัยแล้งในไทย

  • ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน โดยเริ่มจากครึ่งหลังของเดือน ต.ค. เป็นต้นไป บริเวณประเทศไทยตอนบน จะมีปริมาณฝนลดลงเป็นลำดับ จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือน พ.ค. ของปีถัดไป ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
  • ช่วงกลางฤดูฝน ช่วงปลายเดือน มิ.ย. - ก.ค. จะมีฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้น ภัยแล้งลักษณะนี้เกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นหรือบางบริเวณ แต่อาจครอบคุลมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างเกือบทั่วประเทศ 

ผลกระทบเมื่อเกิดภัยแล้ง

ภัยแล้งในประเทศไทยส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อการเกษตรกรรม พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาก ได้แก่ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง เพราะเป็นบริเวณที่อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าไปไม่ถึง และถ้าปีใดไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านในแนวดังกล่าว จะก่อให้เกิดภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น

  1. ด้านเศรษฐกิจ ทำให้ผลผลิตด้านเกษตรกรรมลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและการเลี้ยงปศุสัตว์ ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองและสูญเสียผลผลิตด้านเกษตร ปศุสัตว์ ป่าไม้ ประมง รวมทั้งกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

  2. ด้านสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงผลกระทบด้านอุทกวิทยา ทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติตื้นเขิน ระดับน้ำใต้ดินเปลี่ยนแปลงทำให้ปริมาณและระดับน้ำลดลง ทำให้ขาดแคลนน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำลดลง พื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณเกิดความแห้งแล้งส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ต่าง ๆ ทำให้เกิดโรคกับสัตว์จนอาจถึงสูญเสียความหลากหลายพันธุ์ ทำให้ระดับน้ำในดินและคุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลง
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

  3. ด้านสังคม ประชาชนเกิดความอดอยากเนื่องจากขาดน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค การจัดการคุณภาพชีวิตแย่ลง เกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำ เกิดการละทิ้งถิ่นฐานไปทำงานในเมืองใหญ่ ปัญหาด้านอนามัยและโรคระบาด ปัญหาการว่างงานด้านอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ส่งผลให้ให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่สังคมเมือง ทำให้เกิดปัญหาสังคมเมือง
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

  4. ด้านสาธารณสุข เกิดผลกระทบในด้านสุขภาพอนามัย เช่น เกิดภาวะขาดน้ำขาดสารอาหาร และเพิ่มโอกาสการเกิดโรคระบาด เนื่องจากในภาวะภัยแล้งอาจจำเป็นต้องมีการอนุรักษ์น้ำทำให้ประชาชนอาจลดการล้างมือและการปฏิบัติด้านสุขอนามัยอื่นๆ เพื่อประหยัดน้ำ จึงทำให้มีการแพร่เชื้อโรคได้ง่าย
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

นอกจากนี้ ผลกระทบจากภัยแล้งยังเกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขในวงกว้างอีกด้วย เช่น ทำให้ปริมาณและคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคลดลง อาหารและโภชนาการที่ด้อยคุณภาพ สภาพความเป็นอยู่ของประชากรแย่ลง ผลกระทบด้านสุขภาพกาย-สุขภาพจิต อุบัติการณ์การเกิดโรค เป็นต้น

ปี 2557-2558 แล้งหนักทั่วประเทศ

ในปี 2557 เกิดสถานการณ์ฝนตกน้อยผิดปกติต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดภัยแล้งรุนแรงทั่วประเทศขึ้น โดยเฉพาะปี 2558 ปริมาณฝนรายปี อยู่ที่ 1,247 มม. ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญกำลังแรงมาก (Very Strong Elnino/Super Elnino) แม่น้ำสำคัญหลายสายอย่างแม่น้ำปิงแห้งจนเดินข้ามได้

ปีนั้นกรมชลประทานประกาศงดปลูกพืชฤดูแล้ง 1,590,000 ไร่ แต่มีการปลูกจริงถึง 4,000,000 ไร่ ซึ่งเกินจากแผนไปมาก จึงมีการห้ามสูบน้ำจากคลองส่งน้ำต่างๆ เพื่อจัดสรรให้เพียงพอ ส่งผลให้พื้นที่เกษตรเสียหาย 1,650,000 ไร่ เกษตรกรประสบภัยกว่า 170,000 คน หลายพื้นที่เกิดภาพความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำ เช่น ที่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ชาวนาแย่งน้ำทำนาจนเกิดการกระทบกระทั่งกัน

ข้อมูลภัยแล้งในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาโดยกรมชลประทาน วิเคราะห์ถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งได้ถึง 3 ระดับ ได้แก่

  • พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับต่ำ (0 - 2 ครั้ง)
  • พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับกลาง (3 - 4 ครั้ง)
  • พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับสูง (5 - 6 ครั้ง)

โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในระดับสูงในประเทศไทยถึง 24 จังหวัด แบ่งเป็น

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ หนองคาย สกลนคร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร นครพนม และ ศรีสะเกษ
  • ภาคเหนือมี 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา และ อุตรดิตถ์
  • ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุทัยธานี เพชรบูรณ์ และ กาญจนบุรี

มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/67

ตามมติการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2566 เห็นชอบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ ดังนี้

  1. เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) 
    • คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เฝ้าระวัง เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค การเกษตร และ คุณภาพน้ำ (ช่วงก่อนและระหว่างฤดูพร้อมทั้งติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ตลอดฤดูแล้ง)
    • สำรวจ ตรวจสอบ พื้นที่แหล่งเก็บกักน้ำสำรอง และจัดทำแผนปฏิบัติการสำรองน้ำในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร
    • เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และเข้าช่วยเหลือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำได้ทันสถานการณ์
    • จัดทำระบบฐานข้อมูลกลางที่มีมาตรฐานเพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยง-พื้นที่เกิดเหตุ (บ่อบาดาล)
      ภาพประกอบข่าว

      ภาพประกอบข่าว

      ภาพประกอบข่าว

  2. ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
    • จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงรองรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำพื้นที่เกษตรและพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำตามสภาพอากาศที่เหมาะสม
    • จัดทำแผนปฏิบัติการและปฏิบัติการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่มีศักยภาพ
    • จัดทำแผนปฏิบัติการและปฏิบัติการสูบผันน้ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพ
      ภาพประกอบข่าว

      ภาพประกอบข่าว

      ภาพประกอบข่าว

  3. กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง
    • กำหนดแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และสถานการณ์เอลนีโญ พร้อมแจ้งแผนให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
    • กำหนดแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยระบุพื้นที่คาดการณ์เพาะปลูก และแหล่งน้ำที่นำมาใช้ให้ชัดเจน ในรูปแบบแผนที่เพื่อให้การเพาะปลูกสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขการเพาะปลูกพืชพื้นที่นอกแผนและพื้นที่ที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้ โดยมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
    • ควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนให้เป็นไปตามแผน และมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่างและมอบหมายกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อควบคุมการส่งน้ำให้ตรงตามวัตถุประสงค์
      ภาพประกอบข่าว

      ภาพประกอบข่าว

      ภาพประกอบข่าว

    • เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง โดยการสนับสนุนจัดสรรน้ำ เตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี)
    • สำรวจ ตรวจสอบ คันคลอง เขื่อน ป้องกันตลิ่ง ถนนที่เชื่อมต่อกับทางน้ำในพื้นที่ที่อาจจะเกิดการทรุดตัว เนื่องจากระดับน้ำในทางน้ำที่อาจจะลดต่ำกว่าปกติ

  4. บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ การใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ตลอดฤดูแล้ง) จัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำกำหนดเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว



  5. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน
    • สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการถ่ายทอด เผยแพร่ผลการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชเพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ และเพิ่มรายได้ในพื้นที่
    • การประหยัดน้ำของหน่วยงานภาครัฐเอกชน และประชาชน
    • ลดการสูญเสียน้ำในระบบประปาและระบบชลประทาน
      ภาพประกอบข่าว

      ภาพประกอบข่าว

      ภาพประกอบข่าว



  6. เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง) เฝ้าระวัง ตรวจวัด ควบคุม และแก้ไขคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสายรอง รวมถึงแหล่งน้ำที่รับน้ำจากภาคอุตสาหกรรมการเกษตร และชุมชน รวมทั้งเตรียมแผนปฏิบัติการรองรับกรณีเกิดปัญหาและแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งรายงานผลการแก้ไขคุณภาพน้ำ
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว



  7. เสริมสร้างความเข้มแข็ง การบริหารจัดการน้ำของชุมชน องค์กรผู้ใช้น้ำ (ตลอดฤดูแล้ง) เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชนและองค์ผู้ใช้น้ำที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการวางแผนการใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่มีอยู่ การเตรียมจัดหาน้ำสำรอง และการกักเก็บให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและ/หรือการเกษตรตลอดฤดูแล้ง รวมทั้งพัฒนา/เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชุมชน
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว



  8. สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนด 

  9. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน 
    • ติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน รายงานผลการให้ความช่วยเหลือ และหากพบการขาดแคลนน้ำหรือภัยแล้ง ให้รายงานมายังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติและคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
    • ประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการ พร้อมสรุปบทเรียน
      ภาพประกอบข่าว

      ภาพประกอบข่าว

      ภาพประกอบข่าว

ที่มา : กรมประมง, กรมอนามัย, กองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช.,  กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง