กมธ.หนุนรัฐยึด MOU 44 เดินหน้าถกพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

ต่างประเทศ
29 ก.พ. 67
16:29
1,211
Logo Thai PBS
กมธ.หนุนรัฐยึด MOU 44 เดินหน้าถกพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กมธ.ต่างประเทศ หนุนรัฐยึด MOU 44 เดินหน้าถกพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ยันมุบมิบทำเสียดินแดนไม่ได้ เป็นประเด็นอ่อนไหว อย่าปล่อยให้มีบิดเบือน เพราะกระแสคลั่งชาติ “นพดล” ชี้ “อุ๊งอิ๊ง” เยือนกัมพูชา เป็นเรื่องดี ย้ำ “ฮุนเซน” พบ “ทักษิณ” เป็นเรื่องมิตรภาพ

วันนี้ (29 ก.พ.2567) นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมกรรมาธิการวันนี้ว่า ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงพลังงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมเอเชียตะวันออก กรมแผนที่ทหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาประชุมหารือ เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชา

โดยกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลว่า ได้ยึดตาม MOU 2544 ที่เป็นเครื่องมือนำไปสู่การเจรจา ประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และเรื่องเขตพัฒนาร่วม ที่จะต้องเจรจาควบคู่กันไปแยกกันไม่ได้

ซึ่งการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องทำผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมมือด้านเทคนิคไทยกัมพูชาหรือ เจทีซี ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศด้านความมั่นคง และเชื่อได้ว่า หน่วยงานรับผิดชอบจะมุ่งรักษาประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ไม่เสียสิทธิด้านเขตแดนตามที่มีการบิดเบือนในสื่อต่าง ๆ

นายนพดล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการเจทีซี จึงยังไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการ ดังนั้นการเสนอข่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้หารือประเด็นผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนกับสมเด็จฮุนเซน ประธานองคมนตรีของกัมพูชา จึงไม่เป็นความจริง

ไทยยังยึดถือว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย MOU 2544 ไม่ได้ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลที่ลากโดยกัมพูชา ซึ่งแตกต่างจากเส้นที่ลากโดยไทย ดังนั้นจึงต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลกันต่อไป และการบิดเบือนว่า MOU 2544 เป็นการยอมรับเส้นเขตแดนของกัมพูชานั้นจึงไม่เป็นความจริง

นายนพดลกล่าวอีกว่า ตัวแทนหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่างก็สนับสนุนให้รัฐบาลไทยเจรจากับกัมพูชา เพื่อนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และหวังลดค่าครองชีพให้ประชาชน ทั้งนี้ไม่ให้กระทบสิทธิด้านเขตแดนและผลการเจรจานั้นจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

ที่บอกว่า อดีตนายทักษิณ พบสมเด็จฮุนเซน แล้วบอกว่า มีการเจรจายกนู่นนี่ให้ ไม่สามารถทำได้ตามกลไก เนื่องจาก MOU 44 ที่เซ็นสมัยนายทักษิณ ต้องทำตามกลไกนั้น ไม่สามารถงุบงิบเจรจากันได้ คณะกรรมการร่วมมือด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา ยังไม่ได้ตั้ง ยังไม่ได้เริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด และจะต้องเจรจาพร้อมกันควบคู่กัน

นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวต่อว่า การทำงานของกรรมาธิการต่างประเทศในวันนี้ นับเป็นการทำหน้าที่แทนประชาชนติดตามการทำงานของ ภาครัฐทั้งข้าราชการประจำและฝ่ายการเมือง ที่มีข่าวกล่าวหาว่าไปมุบมิบทำให้เสียดินแดน ไม่เป็นความจริง พร้อมตั้งคำถาม ว่าถ้า MOU 44 ไม่ดี หรือการเจรจาเป็นผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่งหน่วยงานต่าง ๆ คงไม่ยอม จึงขอให้ประชาชนสบายใจได้

นายนพดลกล่าวว่า กรรมาธิการฯ เห็นว่า ควรเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา ซึ่งมีประเด็นย่อยเรื่องเขตแดนกับเรื่องของเขตพัฒนาร่วมไปพร้อมกัน ในกรอบของ MOU 44 เพราะกระทรวงการต่างประเทศ ก็ชี้แจงว่า กลไกที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ MOU 44 และ MOU 44 ก็ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นเขตแดนของกัมพูชา เป็นเพียงกลไกวิถีทางไปสู่เป้าหมาย ตัวมันไม่ใช่เป้าหมายแต่เป็นวิถีทาง ไม่ได้ทำให้เสียสิทธิด้านเขตแดน เกาะกูดก็ยังเป็นของไทย ซึ่งการระงับข้อพิพาท ด้วยการเจรจาเป็นเรื่องที่ถูกวิธี

ยืนยันว่า ไม่มีการสู้รบ แต่จะใช้วิธีเจรจาโดยสันติวิธี ด้วยวิธีทางการทูต ขณะเดียวกันขณะนี้บรรยากาศทั้ง 2 ประเทศดีขึ้นมาก การเจรจาทางการทูตในเรื่องนี้จะดีที่สุด การเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมจะเป็นไปสู่การแบ่งผลประโยชน์ ไฮโดรคาร์บอนเอนเนอร์จี วินๆ ทั้ง 2 ประเทศ

ส่วนจะเจรจาจบได้ในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า เป็นคำถามที่ยากมาก แต่ตนให้กำลังใจ เสร็จไม่เสร็จ ไม่ใช่ประเด็น แต่ต้องเสร็จในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ไม่กระทบเขตแดนของประเทศไทยด้วย จึงเอาใจช่วยหวังว่า คงจะเสร็จในรัฐบาลนี้ ถ้ารัฐบาลครบ 4 ปีก็น่าจะเป็นไปได้ แต่เราไม่สามารถตอบได้ เพราะเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติต้องเอาใจช่วยเท่านั้น

นายนพดลกล่าวด้วยว่า ผลสรุปของกรรมาธิการการต่างประเทศ คือสนับสนุนการเจรจาของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต่อไป โดยยึดถือ MOU 44 และมีข้อติงว่า การเจรจาต้องไม่กระทบสิทธิทางเขตแดนของไทย เป็นข้อห่วงใยของไทย และรับฟังความเห็นของภาคเอกชน

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหว สภาความมั่นคงแห่งชาติเห็นว่า เป็นประเด็นอ่อนไหวจึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในประเทศกลุ่มต่าง ๆ และหน้าที่ของเราคือทำความจริงให้ปรากฏ อย่าปล่อยให้มีพื้นที่บิดเบือน เพราะกระแสรักชาติ คลั่งชาติ การจุดประเด็นเรื่องเขตแดน ที่เป็นเรื่องไม่จริง คนอาจจะเชื่อได้ จึงต้องชี้แจงเป็นระยะ

นายนพดลยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชา ในช่วงเดือนมี.ค. ว่า ได้ยินว่าพรรคประชาชนกัมพูชา ได้เชิญกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยเดินทางไป ซึ่งคงเป็นการพูดคุยในเรื่องของพรรคมากกว่าเรื่องของรัฐบาล

คงไม่มีการเจราจาเรื่องพื้นที่ที่ทับซ้อนทางทะเล แต่คงเป็นการกระชับความสัมพันธ์มากกว่า และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเพิ่งรับตำแหน่ง ดังนั้นการร่วมมือกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียก็ต้องมีอยู่แล้ว

ส่วนที่สมเด็จฮุนเซน เดินทางมาพบนายทักษิณ จะส่งผลต่อการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนของไทยและกัมพูชาหรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า ทั้ง 2 เป็นเพื่อนเก่ากัน นับถือกันมา 30 ปี ความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิด นัยยะคงมีแค่นั้น ไม่มีเรื่องการเกี้ยเซียะกันระหว่าง 2 ตระกูลการเมือง อย่างไรก็ตามเป็นมิตรก็ดีกว่าเป็นศัตรู การทูตเชิงบุคคลก็ยังมีความสำคัญ แต่เราก็ต้องยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลักด้วย

นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างนายทักษิณ และสมเด็จฮุนเซน จะทำให้การเจราจาเรื่องนี้ง่ายขึ้นหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา ก็ค่อนข้างดี ก็ไม่อยากให้โยงกับนายทักษิณ เพราะเป็นเรื่องของการเจรจาในรัฐบาลก่อน

ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ เอง ก็เคยเจรจา เรื่องนี้โดยการดำเนินการต่อเนื่องทุกรัฐบาลมา 23 ปีแล้ว และเป็นเรื่องที่ยาก ก็ต้องเจรจากันต่อไป และจะต้องผ่านกรรมการเจทีซี ดังนั้นยืนยันว่าไม่มีการอุบอิบ

นายนพดล กล่าวต่อว่า ขอให้เอาความจริงมาพูดกัน เพราะเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของชาติ และความมั่นคงทางพลังงาน อะไรที่ไม่เห็นด้วยก็นำเสนอต่อกระทรวงการต่างประเทศ แต่อย่ามาพูดว่าประเทศไทยเสียเกาะกูดแล้ว ไม่เป็นความจริง อย่าชกมวยใต้เข็มขัด เอากฎหมายมาพูดกันดีกว่า

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา จะทำให้ผลการเจรจาออกมาดีใช่หรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า “เวลาคนเรารักกัน เชื่อมั่นกันและกัน ก็จะคุยกันได้ง่าย เหมือนมีแฟน ถ้าหวาดระแวง ดูโทรศัพท์กันประจำก็จะลำบากการสร้างความไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าความสัมพันธ์ดี สารเคมีตรงกันก็จะเจรจากันได้ง่าย จะมาบอกว่าเกี้ยเซียะกันไม่ได้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง