นายอำเภอถลางชี้ "หาดยามู" พท.สาธารณะ - พญ.ยันเอาเรื่องถึงที่สุด

สังคม
29 ก.พ. 67
19:48
1,545
Logo Thai PBS
นายอำเภอถลางชี้ "หาดยามู" พท.สาธารณะ - พญ.ยันเอาเรื่องถึงที่สุด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แพทย์หญิงและครอบครัว นำใบตรวจร่างกายเป็นหลักฐาน ยื่นต่อ ตร.สภ.ถลาง ยืนยันจะดำเนินคดีถึงที่สุด ด้านคู่กรณีอ้างเป็นอุบัติเหตุ สะดุดล้มหน้าแข้งไปโดน ไม่มีเจตนาทำร้าย ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบและสั่งรื้อบันไดออก 3 ขั้นที่รุกชายหาด

วันนี้ (29 ก.พ.2567) นายอำเภอถลาง นายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก ตำรวจ และ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณวิลลา ติดหาดยามู จ.ภูเก็ต พบว่าเจ้าของโครงการเคยนำชี้เพื่อออกโฉนด แต่ปัจจุบันยังเป็นเอกสิทธิ นส.3 ก.

แนวเขตที่เคยนำชี้ คือ "บันได" มีเพียงบันไดขั้นที่ 1 ซึ่งอยู่บนสุดที่อยู่ในแนวเขตของโครงการ ส่วนบันไดขั้นที่ 2 - ขั้นที่ 4 ซึ่งติดกับพื้นทราย เป็นการรุกล้ำที่สาธารณะ นายอำเภอถลางจึงสั่งให้นายกเทศมนตรีฯ แจ้งความคดีบุกรุก และสั่งรื้อถอนขั้นบันไดที่รุกล้ำต่อไป

ดูลักษณะกายภาพ การเข้าไปที่หาดยามู ต้องเดินผ่านป้อมยามของโครงการ จากนั้นจึงจะเป็นทางเข้าไปยังหาด ซึ่งทำเป็นซุ้มต้นไผ่ ระยะทางประมาณ 100 ม. ซึ่งบริเวณนี้นายกเทศมนตรีฯ ระบุว่า "เป็นภาระจำยอม" ของเจ้าของโครงการที่ต้องยอมให้บุคคลทั่วไปผ่านเพื่อลงหาดเมื่อเดินสุดทางก็จะถึงชายหาดยามู และบริเวณนั้นจะพบ "บันได" ที่เชื่อมลงมายังชายหาด ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ

นายกเทศมนตรีฯ ยัน "หาดยามู" เป็นพื้นที่สาธารณะ

ปัณยา สำเภารัตน์ นายกเทศมนตรี ต.ป่าคลอก ระบุว่า ถนนที่เป็นซุ้มต้นไผ่ เป็นภาระจำยอม ที่ให้คนทั่วไปใช้ออกไปยังหาดได้ เมื่อแพทย์หญิงใช้ทางนี้จึงไม่ใช่การบุกรุก และการนั่งที่บันไดที่ติดกับหาดทราย ไม่ใช่การบุกรุกเช่นกัน ยืนยันว่าหาดยามูเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าไปได้

มีข้อสังเกตว่า วันนี้การวัดระยะห่างจากบันไดถึงทะเลมีระยะห่าง 10 ม. ซึ่งชาวบ้านระบุว่าบางวันน้ำทะเลอาจขึ้นสูงถึงบันไดขั้นที่ 1 ขณะที่แนวเขตตามประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต อ้างตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมีข้อห้ามการใช้พื้นที่กำหนดแนวถอยร่นจากหน้าหาดถึงทะเล มีระยะ 30-50 ม. ซึ่งส่วนใหญ่ต้องไม่มีการใช้ประโยชน์

แพทย์หญิงเข้าให้ปากคำเพิ่มปมถูกทำร้าย ลั่นสู้ถึงที่สุด

ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (29 ก.พ.2567) พญ.ธารดาว จันทร์ดำ อายุ 26 ปี และครอบครัว เข้ายื่นหลักฐานที่ สภ.ถลาง หลังแจ้งความว่าถูกชายชาวต่างชาติทำร้ายร่างกาย ระหว่างเดินหาดยามู และนั่งพักที่บันไดบริเวณหน้าวิลลาแห่งหนึ่ง

ผู้เสียหายระบุว่าตอนนี้ยังมีอาการเจ็บปวดอยู่ ส่วนภาพที่โพสต์ในโซเชียลมีเดีย เป็นภาพร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายก่อนหน้านี้

ในโพสต์ที่พ่อผู้เสียหายเผยแพร่ ระบุว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 ก.พ. แพทย์หญิงไปเดินเล่นที่หาดยามู แล้วนั่งพักที่บันไดที่ต่อลงมายังหาด ช่วงหนึ่งเธอบอกว่า "ถูกแข้งกระหน่ำเตะที่กลางหลัง" ผู้ก่อเหตุเป็นชายชาวต่างชาติ คาดน้ำหนักราว 100 กก. หน้าแดง-เหงื่อท่วม กำลังถือโทรศัพท์อัดคลิป และสบถคำหยาบ จากนั้นภรรยาคู่กรณีเข้าตำหนิ และแจ้งตำรวจให้เข้ามาไกล่เกลี่ย ซึ่งทราบภายหลังว่าคู่กรณีเกี่ยวข้องกับมูลนิธิที่ดูแลช้าง

อ่าน : สอบปากคำวันนี้ "แพทย์หญิง" ร้องถูกต่างชาติทำร้ายขณะนั่งที่บันไดวิลลาริมหาด

อ้างสะดุดล้ม ไม่ได้ทำร้ายแพทย์หญิง

ขณะที่ ชาวต่างชาติคู่กรณี และทนายความ ให้สัมภาษณ์ผ่านเพจ "โหดจัง จ.ภูเก็ต" ชี้แจงว่าไม่ได้เตะแพทย์หญิง แต่เป็นอุบัติเหตุ สะดุดบันไดล้ม ทำให้เท้าไปโดนหลัง ไม่มีเจตนาทำร้าย พร้อมขอโทษที่ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือรู้สึกแย่ ก่อนเผยว่ารู้ว่าตนเองรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้มีคลิปเป็นหลักฐานขณะเกิดเหตุ ส่วนที่เดินเข้าไปหาแพทย์หญิง เพราะเคยมีคนบุกรุกก่อนหน้านี้ จึงกลัวจะมีเหตุลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ใช่การกระทบกระทั่ง แค่บอกให้ออกจากพื้นที่

ด้าน พญ.ธารดาว ระบุว่าจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะไม่ควรมีใครถูกทำแบบนี้ และหากเป็นการลื่นล้มจริง ควรได้รับคำขอโทษหรือไม่

ส่วน พ.ต.อ.ภาสกร สนธิกุล รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ภูเก็ต ที่ลงมาติดตามตรวจสอบการทำคดีนี้ที่ สภ.ถลาง ระบุว่า ตรวจสอบที่เกิดเหตุเป็นที่สาธารณะ คาดไม่มีการบุกรุกตามที่อ้าง เมื่อคู่กรณีแจ้งว่ามีคลิปจึงอยากให้นำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ขณะที่ความหนักเบาของข้อหาขึ้นอยู่กับข้อมูลตามใบชันสูตรบาดแผลของแพทย์

ตร.ยันให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

อีกประเด็นที่ผู้เสียหายโพสต์ อ้างว่า ภรรยาคู่กรณีอ้างว่ารู้จักกับตำรวจระดับสูง และแจ้งตำรวจเข้ามาในที่เกิดเหตุ โดยมีตำรวจ 2 คน เข้ามา และระบุว่า ผิดกันทั้ง 2 ฝ่าย และอ้างว่าฝ่ายแพทย์หญิงบุกรุกมีโทษหนักติดคุก 4 ปี แต่คู่กรณีแค่ทำร้ายร่างกายจ่ายเงินก็จบ และต้องการเคลียร์ให้จบไม่อยากให้เรื่องถึงโรงพัก

พ.ต.อ.ภาสกร สนธิกุล ระบุว่า เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือคดีความต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และส่วนที่ 2 ห่วงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของสายตรวจ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ซึ่งตามหลักการสายตรวจเมื่อได้รับแจ้งเหตุ ควรเข้ามาตรวจ และแนะนำผู้เสียหายไปยังสถานีตำรวจ

อ่านข่าวอื่น : 

กพท. จี้ Air Japan เร่งแก้ปัญหาเที่ยวบินยกเลิกและล่าช้า

กรมอุทยานฯ ยืนยันแผนที่แนวเขตเขาใหญ่ถูกต้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง