ประเมิน "หนี้นอกระบบ" นายกฯ ไม่พอใจตัวเลขลงทะเบียนแก้หนี้

เศรษฐกิจ
29 ก.พ. 67
21:10
526
Logo Thai PBS
ประเมิน "หนี้นอกระบบ" นายกฯ ไม่พอใจตัวเลขลงทะเบียนแก้หนี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้มีตัวอย่างของลูกหนี้จากทั่วประเทศที่มีทั้งประสบความสำเร็จจากการเข้าสู่กระบวนแก้หนี้ บางส่วนแก้หนี้ได้ด้วยตัวเองและบางส่วนยังรอความช่วยเหลือ แต่นายกฯ ก็ยังไม่พอใจกับตัวเลขการลงทะเบียนที่ใช้เวลากว่า 2 เดือน แต่มีมูลหนี้ที่ลงทะเบียนเพียง 11,000 ล้านบาท

วันนี้ (29 ก.พ.2567) ยอดหลังรัฐบาลปิดลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ มีผู้เข้าโครงการมากกว่า 150,000 คน สามารถไกล่เกลี่ยหนี้สำเร็จ 18,000 คน คิดเป็นมูลหนี้ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 1,800 ล้านบาท จากมูลหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือ 2,600 ล้านบาท

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า ตัวเลขที่ออกมาตนยังไม่พอใจและย้ำไปว่ายังทำไม่ดีพอ ซึ่งตนได้หารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย อยู่ตลอดเพื่อพยายามเร่งให้คนเข้ามาลงทะเบียนมากๆ ทั้งเรื่องของความไม่เข้าใจกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ หรือเรื่องกลัวผู้มีอิทธิพลต่างๆ นาๆ ก็ต้องพยายามทำกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม การประเมินเพียงตัวเลขผู้เข้าโครงการเพียงอย่างเดียวก็คงไม่สามารถทำได้ อาจต้องดูความสำเร็จในแง่ช่วยลดภาระ หรือทำให้คนเข้ามาสู่ในระบบ หรือหลุดพ้นความเป็นหนี้ได้หรือไม่ด้วย

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายสะท้อนความคิดเห็นกันมากว่าการลงทะเบียนดังกล่าว เป็นการเปิดลงทะเบียนเฉพาะบุคคลที่ยินดีจะเข้าโครงการ ซึ่งไม่ครอบคลุมหนี้สินทั้งหมด

อ่านข่าว : รีบเลย! ลงทะเบียนออนไลน์ "แก้หนี้นอกระบบ" ถึงเที่ยงคืนนี้

นักวิชาการแนะแก้กฎหมายล้มละลายช่วยแก้หนี้

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าทีมวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย หรือ Fair Finance Thailand มองว่า การลงทะเบียนแก้หนี้มีมาหลายสมัย แต่การแก้หนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น สภาพเศรษฐกิจ ฟื้นตัวไม่ทันกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น กระทบความสามารถในการหารายได้และการชำระหนี้ของลูกหนี้ ส่งผลให้แนวโน้มปัญหาหนี้สินรุนแรงขึ้น ซึ่งไม่สามารถสะสางได้ด้วยมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้เพียงอย่างเดียว

จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดร่างแก้ไขกฎหมายล้มละลายที่พรรคก้าวไกลเสนอเข้าสู่สภาฯ เนื่องจากสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์อำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอี ยื่นฟื้นฟูกิจการได้สะดวกขึ้น พร้อมกับเพิ่มสิทธิ์ให้ลูกหนี้รายย่อยสามารถยื่นขอฟื้นฟูฐานะเหมือนบริษัทเอกชน โดยไม่ต้องรอให้ถูกฟ้องล้มละลายก่อน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยสามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องเปิดลงทะเบียนแก้หนี้ทุกรัฐบาลเหมือนตอนนี้

หากเป็นไปตามที่นักวิชาการด้านการเงินอิสระกล่าวถึง ก็ดูเหมือนจะมีความหวังว่าหากใครมีหนี้สินล้นพ้นตัว ก็น่าจะมีทางออกอีกทางหนึ่งที่ทำได้ นอกเหนือไปจากแนวคิดแบบเดิมที่มักเน้นการนำหนี้นอกระบบเข้าไปสู่ในระบบ ซึ่งค่อนข้างมีเงื่อนไขที่เข้มงวดมาก ซึ่งแนวคิดในการนำหนี้นอกระบบมาสู่หนี้ในระบบ เป็นสิ่งที่ดีในแง่การลดภาระหนี้ลง เพราะจะลดการคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมและลดการผ่อนชำระรายเดือนลงได้

การจะเข้าในระบบได้ต้องมีหลักฐานที่แสดงที่มารายได้ และความสามารถในการชำระคืนในอนาคต น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ กล่าวว่า แบงก์ชาติผลักดันให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่ผู้ให้บริการการเงินสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก เช่น รายได้ยื่นภาษี เงินสมทบประกันสังคม การซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม พฤติกรรมชำระค่าน้ำค่าไฟ ตลอดจนสถานการณ์บังคับคดีของบุคคคลหรือบริษัท เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการวิเคราะห์สินเชื่อตามความเสี่ยงของผู้กู้ โดยไม่ต้องดูข้อมูลรายได้ที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการเฟสแรกได้ภายในปี 2568

แต่จริงๆ แล้ว การโอนย้ายหนึ้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ ไม่ได้มีอะไรการันตีว่าจะแก้ปัญหาหนี้ได้ทั้งหมด เพราะตัวเลขหนี้ในระบบในขณะนี้ก็ไม่ได้สะท้อนสถานการณ์ที่สู้ดีนัก

สรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ล่าสุดปี 2566 หนี้เสียของสินเชื่ออุปโภคบริโภค แยกเป็นหนี้บัตรเครดิต เป็นอันดับ 1 ร้อยละ 3.5 รองลงมาหนี้ที่อยู่อาศัย ร้อยละ 3.33 สินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 2.48 และสินเชื่อรถยนต์ ร้อยละ 2.13

ขณะที่ข้อมูลสถานะครัวเรือนไทย เวลานี้มีหนี้เสียยังไม่ถูกฟ้อง 1 ล้านล้านบาท คนกำลังจะเป็นหนี้เสียอีกกว่า 6.1 แสนล้านบาท คนที่เป็นหนี้เสียและปรับโครงสร้างแล้วราว 1 ล้านล้านบาท และคนที่ไปหมดทุกช่องแล้ว ถูกฟ้องและอยู่ระหว่างบังคับคดีอีก 1.2 ล้านคดี ทุนทรัพย์ 3.68 แสนล้านบาท

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบหรือในระบบ หัวใจสำคัญคือการสร้างเศรษฐกิจให้ดี เพื่อคนมีรายได้ ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จึงจะเป็นการตัดวงจรหนี้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวอื่นๆ

กรมอุทยานฯ ยืนยันแผนที่แนวเขตเขาใหญ่ถูกต้อง

นายอำเภอถลางชี้ "หาดยามู" พท.สาธารณะ - พญ.ยันเอาเรื่องถึงที่สุด

สมาคมตะกร้อสั่งยุติการทำงาน "ผู้จัดการ-โค้ช" ยกชุด ปมหักหัวคิวเงินอัดฉีด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง