"7 โรค" พบบ่อยช่วง "หน้าร้อน" รู้ก่อนป้องกันป่วย

ไลฟ์สไตล์
2 มี.ค. 67
13:27
2,647
Logo Thai PBS
"7 โรค" พบบ่อยช่วง "หน้าร้อน"  รู้ก่อนป้องกันป่วย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อากาศร้อน ๆ แบบนี้ อย่าลืมใส่ใจสุขภาพ เพราะอาจต้องเจอกับสารพัดโรคหน้าร้อน มีอะไรบ้าง แล้วจะมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรในช่วงนี้ ให้ห่างไกลความ "เจ็บป่วย"

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ฤดูร้อนปี 2567 ที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน กุมภาพันธ์ จะร้อนกว่าปี 2566 และร้อนกว่าปกติ 1.2 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิสูงสุด พุ่ง 44.5 องศาเซลเซียส 

อากาศที่ร้อนยังต้องระวังโรคที่มากับความร้อน เพราะอากาศร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุกับโรคทางเดินอาหารและน้ำ มีโรคอะไรบ้างที่มากับฤดูร้อนพบได้บ่อย ควรระวังเพื่อให้ห่างไกลจากการเจ็บป่วย ให้ทุกคนผ่าน "ซัมเมอร์" นี้ไปอย่าง "ปลอดภัย ปลอดโรค"  

อ่าน "ผัก - ผลไม้ - สมุนไพรไทย" ฤทธิ์เย็น มีประโยชน์ ช่วยคลายร้อน

อากาศร้อน

อากาศร้อน

อากาศร้อน

7 โรคหน้าร้อนที่ต้องระวัง

7 โรคหน้าร้อนที่ต้องระวัง

7 โรคหน้าร้อนที่ต้องระวัง

โรคที่มากับฤดูร้อน มีอะไรบ้าง

 • โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก

เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป จนทําให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ บางรายถึงขั้นพิเสียชีวิตได้

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดฮีทสโตรก เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน จึงควรอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 

คนที่ร่างกายแข็งแรงแต่ต้องอยู่กลางแจ้งนานมีโอกาสเกิดฮีทสโตรกได้เช่นกัน จึงควรเลี่ยงการสวมชุดที่มีสีเข้ม เนื่องจากจะดูดซับความร้อนได้ดี ดื่มน้ำ สลับเข้าพักในที่ร่มเป็นระยะ เช่น ทุก 30 นาที หรือทุกชั่วโมง

โรคลมแดด อาการสำคัญ ได้แก่ วิงเวียน อ่อนเพลีย ร่างกายมีความร้อนเพิ่มขึ้น เหงื่อไม่ค่อยออก ผิวร้อน แดง แห้ง หากเริ่มมีอาการ ให้รีบเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็น และดื่มน้ำมาก ๆ 

วิธีป้องกัน และสิ่งที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้

  • ดื่มน้ำวันละ 8 - 10 แก้ว หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ 
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน เลือกออกกําลังกายช่วงเช้าและเย็น เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคาร หรือบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท
  • ออกกำลังกายเป็นกลุ่ม เพื่อหากมีอาการผิดปกติได้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิด
  • ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ผ้าโปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาครีมกันแดด 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

•โรคผิวหนังในหน้าร้อน

หน้าร้อน แดดจ้าให้เกิดผิวไหม้จากแสงแดด ผิวคล่ำ และอากาศทีร้อนอบอ้าวยังเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ ได้ โรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าร้อน ได้แก่ 

อากาศร้อน

อากาศร้อน

อากาศร้อน

  • ผดร้อน

เกิดจากเหงื่อที่ออกมากในช่วงที่อากาศร้อนร่วมกับใส่เสื้อผ้าที่ไม่ระบายอากาศ ทำให้เกิดผื่นสีแดง ที่มีอาการคัน อาการแสบได้ ผดร้อนเกิดจากการอุดตันของการหลั่งเหงื่อ โดยจะเกิดเป็นผืนตุ่มเล็ก ๆ มีสีแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสเม็ด ๆ ที่บริเวณหน้าอก คอ และหลัง

  • ฝ้าและกระ

เกิดจากแสงแดดไปกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้น ทำให้โรคในกลุ่ม ฝ้า กระ มีสีที่เข้มขึ้นได้ในช่วงหน้าร้อน ผู้ที่ต้องทํางานกลางแจ้งเป็นประจําก็จะเริ่มมีฝ้าและกระแดดเกิดขึ้นที่ใบหน้า นอกจากนี้ การโดนแดดสะสมเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่มีการป้องกันจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิด มะเร็งผิวหนัง ได้ 

  • กลุ่มติดเชื้อราต่าง ๆ

อากาศร้อน ส่งผลให้เหงื่อออกเยอะทำให้ผิวหนังมีความอับชื้น เกิดการติดเชื้อราซ้ำซ้อน ทำให้เกิดโรคผิวหนังตามมา บริเวณที่พบบ่อย เช่น บริเวณรักแร้ ซอกพับ หรือง่ามมือง่ามเท้า ซึ่งพบได้บ่อยและเกิดได้ในทุกช่วงวัย

วิธีป้องกัน และสิ่งที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ทากันแดดสม่ำเสมอ เพียงพอ คือประมาณ 2 ข้อนิ้ว และหมั่นทาซ้ำบ่อย ๆ 
  • ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวก ร่ม
  • หากมีผื่นหรือความผิดปกติใด ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • ใช้ครีมกันแดดทาบริเวณใบหน้า ลําคอ และผิวบริเวณที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม

อ่าน ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ "พาวเวอร์แบงก์" ต้องพกขึ้นเครื่องเท่านั้น

• โรคอาหารเป็นพิษ

ในช่วงนี้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเติบโตได้ดี อาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ เสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ 

โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ที่มากับอาหารที่ไม่สะอาด อาหารที่ทําไว้ล่วงหน้านาน ๆ และไม่ได้รับการอุ่นร้อนก่อนรับประทาน  

อาการที่สําคัญของ โรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ลำไส้อักเสบ และอาจมีไข้ ปวดศีรษะร่วมด้วย ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมาก ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้

การดูแลเบื้องต้น ควรให้จิบผงละลายเกลือแร่ บ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

วิธีป้องกัน และสิ่งที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้

ใครไม่อยากเป็นโรคอาหารเป็นพิษ จึงแนะนำ "กินสุก ร้อน สะอาด" 

  • หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ใช้วิธีการลวก ได้แก่ หอยลวก ปลาหมึกลวก กุ้งลวก  
  • กินอาหารขณะที่ยังร้อน อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นก่อนรับประทานทุกครั้ง
  • อาหารกล่องควรแยกกับและข้าวออกจากกัน หากมีรูป รส กลิ่น สีผิดปกติไม่ควรทาน
  • เลือกกินอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่สะอาด
  • เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาด ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานร่วมกัน
  • ก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง

• โรคอุจจาระร่วง 

โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ สารพิษและสารเคมี พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี ขณะที่สภาพอากาศร้อน เป็นปัจจัยเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคส่งผลให้อาหารที่เตรียมไว้ปูดง่าย เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอุจจาระร่วงได้เช่นกัน

อาการสําคัญ คือ มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ อย่างน้อย 3 ครั้ง หรือถ่ายปนมูกปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง อาจอาเจียนหรือมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่หากมีอาการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปพร้อมกับการถ่ายมาก อาจทำให้ช็อก หมดสติ และภาวะขาดสารอาหารในช่วงหลัง ส่งผลให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เกิดโรคแทรกซ้อนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

วิธีป้องกัน และสิ่งที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้

  • งดอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดอง 
  • กินอาหารย่อยง่าย  
  • คนที่ท้องร่วงรุนแรง หรือมีอาการปวดเกร็งท้องร่วมกับถ่ายปนมูกเลือด ต้องรีบพบแพทย์ 
  • ล้างมือให้สะอาด ทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • กินอาหารที่สุกถูกสุขลักษณะ เนื่องจากเชื้อโรคจะถูกทำลายด้วยความร้อนในอุณหภูมิที่สูง 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ดื่มน้ำ น้ำแข็ง ที่สะอาด 
  • ไม่ควรกินอาหารที่มีรูปรส กลิ่น สี ที่เปลี่ยนไป

อ่าน รู้ยัง! เงินสมทบประกันสังคม "ลดหย่อนภาษี" ได้

• ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย

ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย พบได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เกิดจากการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำที่ปนเปื้อน เชื้อไทฟอยด์จากอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วย หรือผู้ที่เป็นพาหะโรคไทฟอยด์

อาการสําคัญ คือ มีไข้สูงลอยมากกว่า 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนอาจมีไข้สูงได้ถึง 40.5 องศาเซลเซียส และมีอาการร่วม คือ ปวดศีรษะ บางรายอาจมีอาการท้องอืดหรือท้องเสีย หรือมีอาการผื่นขึ้นตามหน้าอกและลำตัว หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีอาการเพ้อเพราะพิษไข้ หรืออ่อนเพลีย รวมถึงอาจมีความรุนแรง ทำให้เกิดอาการโคมาได้ 

วิธีป้องกัน และสิ่งที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้

  • ควรดื่มน้ำสะอาด หากไม่แน่ใจควรดื่มน้ำสุก และกินอาหารที่สะอาด มีภาชนะปกปิดและไม่มีแมลงวันตอม
  • ผู้ป่วยและผู้ที่เป็นพาหะโรค ไข้ไทฟอยด์ควรหลีกเลี่ยงการประกอบอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน เนื่องจากอาจทําให้เกิดการระบาดของโรคได้
  • ถ่ายอุจจาระในที่ถูกสุขลักษณะ หากถ่ายลงหลุมควรกลบเสีย โดยเฉพาะอุจจาระและปัสสาวะของผู้ป่วย 
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ 1-3 ปี จะช่วยป้องกันโรคได้มาก เด็กอาจเริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ
อากาศร้อน

อากาศร้อน

อากาศร้อน

• โรคอหิวาตกโรค

โรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุเกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารทะเล อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ รับประทาน หรือดื่มน้ำที่มีการใช้ภาชนะหรือมือไม่สะอาด

อาการที่สําคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำซาวข้าวคราวละมาก ๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง บางครั้งมีคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว

สำหรับเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง (อหิวาตกโรค) ชนิด El Tor biotype ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ในรายรุนแรงน้อยอาจพบแต่อาการถ่ายเป็นน้ำ พบได้บ่อยในเด็ก ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิต ในเวลา 2-3 ชั่วโมง และอัตราป่วยตายสูงมากกว่าร้อยละ 50 แต่หากได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที อัตราป่วยเสียชีวิตจะลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1

วิธีป้องกัน และสิ่งที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้
  • หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง สุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่ปรุงไว้นาน อาหารที่มีแมลงวันตอม
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนรับกินอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • ถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง 
  • ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง

อ่าน กินอยู่ยังไง ? เมื่อต้องสู้กับฝุ่น PM 2.5 แนะการสุมยาเมื่อมีอาการแพ้ฝุ่น

• โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ

โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว ในประเทศไทยมักพบในสุนัข แมว และพบบ้างในโคกระบือ โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยขีดข่วนบาดแผล หรือเลียถูกบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก

วิธีป้องกัน และสิ่งที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้

  • นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเมื่ออายุ 2 เดือน เข็มที่สองฉีดหลังจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ และฉีดซ้ำทุกปี 
  • หากถูกสุนัขกัด ข่วน หรือเลีย ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกไปให้มากที่สุด ใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด
  • กักตัวสัตว์ไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หากตายให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่
  • ระวังบุตรหลาน ไม่ให้เล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
อากาศร้อน

อากาศร้อน

อากาศร้อน

ดังนั้นหน้าร้อนนี้ทุกคนจึงควรดูแลในเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำ เลือกอาหารร้อนที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ใช้ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

การแต่งกายก็เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยป้องกันแดด ควรเลือกเสื้อผ้าที่ใส่สบาย โทนสีอ่อน ไม่หนาจนเกินไป ช่วยให้ระบายความร้อนได้ดี สุดท้ายหวังว่าซัมเมอร์นี้ทุกคนจะมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย 

อ้างอิงข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, สสส., กรมการแพทย์

อ่านข่าอื่น ๆ

ผลงานศิลปะจากขยะ "สื่อชีวิตคนเร่ร่อน"

วันหยุดเมษายน 2567 : รื่นเริงเถลิงศกหยุดยาวสงกรานต์ 5 วันรวด

อย่าลืม! ผู้ประกันตน ม.33 "ว่างงาน - ตกงาน" ลงทะเบียนรับเงินชดเชย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง