เปิดหลังเวที “หมอลำขอข้าว” ชีวิตจริงหลังเสียงดนตรีกับลีลาที่งดงาม

Logo Thai PBS
เปิดหลังเวที “หมอลำขอข้าว” ชีวิตจริงหลังเสียงดนตรีกับลีลาที่งดงาม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ภาพชีวิตหมอลำไม่ได้มีแค่ด้านเดียว เพราะคณะเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีทุนรอนมากมาย จะเป็นอีกด้านกับหมอลำคณะใหญ่ที่รับมาลัยเงินล้าน ชาวบ้านเรียกหมอลำเร่นี้ว่า “หมอลำขอข้าว” เป็นชื่อที่มากับธรรมเนียมแสดง ที่มีข้าวสารเป็นสิ่งตอบแทนความบันเทิงจากหมอลำ

ในวันแสดง ศิลปินจะกางเวทีแบบไม่มีค่าจ้าง เล่นอย่างสุดความสามารถ ทั้งเพลง ทั้งกลอน ลีลาฟ้อน ให้คนดูประทับใจ และนอนพักเอาแรงหลังเวทีแสดง 1 คืน ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะเดินรับข้าวในหมู่บ้าน เวลาใกล้เคียงกับช่วงที่พระออกบิณฑบาต

ชีวิตหมอลำขอข้าวจะวนไปแบบนี้ เร่ไปกับรถบรรทุกคันเล็ก ขนเวทีกับเครื่องเสียง และทำตารางโชว์ของตัวเอง หลังจากดีลกับชุมชนหรือวัดที่มีน้ำใจให้หมอลำขอข้าวเปิดโชว์ เมื่อศิลปินไม่มีโชว์กับเวทีใหญ่

ในวันที่เราได้เจอ “หมอลำขอข้าว” มันเริ่มต้นตั้งแต่เห็นการตั้งเวที ชุดเสื้อผ้าถูกนำออกมาจากที่เก็บ เย็บซ่อมแซมด้วยมือ ขั้นตอนนี้ไม่มีผู้ช่วย ศิลปินจะทำเองเมื่อจับจองพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งหลังแสดงก็จะเป็นที่พักค้างคืนไปด้วยในตัว

ก่อนแสดงอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ลำโพงกับไมค์จะถูกขนขึ้นรถพ่วงข้าง ออกไปป่าวประกาศย้ำว่า คืนนี้จะมีงานหมอลำจาก “ขันทอง นิยมศิลป์” ที่วัดมะเดื่อ เทศบาลตำบลบ้านค้อ จ.ขอนแก่น

ระหว่างวัน ศิลปินจะพักเอาแรง จนก่อนเวลาแสดงก็ทยอยไปอาบน้ำกันที่วัด ล้อมวงกินข้าวจากเตา กระทะที่เตรียมมา เราเห็นไข่ไก่ 1 ใบ ตอกลงในกระทะ แต่ไม่ได้ปรุงด้วยการเจียวอย่างที่เราคุ้นตา

พ่อครัวของคณะบอกว่า มันคือการคั่วน้ำ ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า มันเป็นวิธีการที่ทำให้ไข่ใบเดียวแลดูเพิ่มพูนขึ้น กินกับน้ำพริกถ้วยน้อย ผักชามน้อย สะเดาเด็ดจากในวัด พอสำหรับแบ่งกัน 6-7 คน ในวงหมอลำ การกินอยู่อย่างง่ายๆ ดูพอเหมาะพอตัว โดยไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าขาดแคลน

การพูดคุยกันอย่างเฮฮา เป็นภาพชีวิตจริง ตรงข้ามกับสีสันหน้าตาเสื้อผ้าสวยงาม สะท้อนไฟหน้าเวที หรืออย่างที่เขาพูดกันว่า “หมอลำ” หากได้แต่งตัวแต่งหน้าแล้วก็แทบจะกลายเป็นคนละคน อันนี้เป็นภาพจริงหลังเวทีหมอลำขอข้าว

ใกล้เวลาแสดงทุกคนแต่งตัว เกริ่นนำด้วยบทเพลงคนละ 2 เพลง และขึ้นแสดงด้วยหมอลำเรื่อง เจ้าของเป็นหมอลำสาวมาตั้งแต่จบ ป.4 ตัวแสดงที่อายุมากที่สุดคือ 60 ปี บ้านอยู่ห่างจากวัดที่แสดงเพียง 10 กิโลเมตร

ส่วนหมออายุน้อยที่สุด เป็นวัยรุ่นข้ามมาจากฝั่งลาว นครหลวงเวียงจันทน์ มาเป็นหมอลำฝึกหัดในคณะ เขาเล่าว่า เพื่อนชวนว่า มาเป็นหมอลำขอข้าวจะมาไหม เขาก็ตอบรับมา เพราะคณะหมอลำในลาวมีน้อย งานจ้างน้อย

นั่นคือความสมัครใจของหมอลำหนุ่มลาว ที่มาเริ่มต้นกับหมอลำขอข้าว หมอลำหนุ่มลาวคนเดียวกันนี้พูดกับเราว่า บ่เห็นผัวเอื้อยมาดูหมอลำ เป็นที่เฮฮา

ผ้ากั้นเวทีระหว่างผู้แสดงกับผู้ชมมีผืนเดียว กั้นแบ่งอย่างง่ายๆ บรรยากาศระหว่างแสดงทุกอย่างดูใกล้ชิด เป็นมิตร เสียดายที่คนดูมีไม่มาก รวมกับเด็กวัดแล้วก็ยังน้อย แต่ก็พอมีรางวัลแบงค์เขียวๆ ให้หมอลำได้ชื่นใจ และเป็นความบันเทิงตลอด 3 ชั่วโมง แสดงที่หมอลำขึ้นเวที สลับกับลงไปดูแลเพลงและระบบเครื่องเสียง

เป็น 3 ชั่วโมงที่ศิลปินทั้ง 5 คน ทำเต็มที่ เพราะอยากให้คนดูหน้าเวทีหมอลำประทับใจ ไม่ว่าพรุ่งนี้จะได้รับข้าวจากชุมชนมากน้อยอย่างไร หมอลำคงไม่อาจไปกะเกณฑ์น้ำใจจากชาวบ้าน แต่มันคือความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับชีวิต ความเอื้ออาทรต่อหมอลำนอกโซเชียล

เรื่อง : น้ำอ้อย บุลสถาพร (สาวน้อยบันเทิงศิลป์)
ภาพ : บำรุง ปานเรือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง