ปางช้าง "เดวิด" ไม่รอด พาณิชย์-ดีเอสไอ ลุยสอบธุรกิจนอมินี 59 ราย

เศรษฐกิจ
5 มี.ค. 67
16:39
2,231
Logo Thai PBS
ปางช้าง "เดวิด" ไม่รอด พาณิชย์-ดีเอสไอ ลุยสอบธุรกิจนอมินี 59 ราย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับดีเอสไอ ลงพื้นที่ภูเก็ต ตรวจสอบธุรกิจเครือข่ายนอมินี 59 ราย รวมถึง ธุรกิจปางช้างของ "เดวิด" เน้นปูพรมจังหวัดท่องเที่ยวทั่วประเทศ ป้องกันใช้คนไทยตัวแทนอำพราง

วันนี้ (5 มี.ค.2567) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ประสานกรมฯและหน่วยงานเกี่ยวข้อง เตรียมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในพื้นที่ในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญๆของไทย

รวมถึงกรณี นายเดวิด นักธุรกิจต่างชาติที่เตะหลังหมอ ซึ่งเข้ามาลงทุน และจดทะเบียนมูลนิธิ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีการจดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเที่ยว บริษัท อีเลเฟนท์ แซงชัวรี่ พาร์ค ภูเก็ต จำกัด โดยมีผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ราย เป็นคนไทย 2 รายถือหุ้น 51% และต่างชาติ 1 ราย ถือหุ้น 49% ตรวจสอบไม่เข้าข่ายเป็นธุรกิจนอมินี

กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ภูเก็ตทำร้ายคนไทยเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง การตรวจสอบเชิงลึกจะเป็นการร่วมกับดูแลภาพลักษณ์ของธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

สำหรับเป้าหมายการตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในปี 2567 อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต กรุงเทพ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และชลบุรี เป็นต้น ซึ่งจะมีการตรวจสอบเชิงลึกในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว เช่น ภัตตาคาร นำเที่ยว ให้เช่ารถ โรงแรม รีสอร์ท อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ทั้งนี้จำนวนธุรกิจที่กรมฯคัดกรองว่าเข้าข่ายนอมินี มีประมาณ 419 ราย ส่วนในพื้นที่ภูเก็ตมีจำนวน 59 ราย ที่จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ในการตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินี

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

นางอรมน กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในปี 2567 จะลงพื้นที่ในการตรวจสอบธุรกิจที่กระทำผิด โดยที่จะเข้าตรวจสอบเชิงลึก เช่น การถือหุ้น ประเภทธุรกิจ ทั้งนี้ หากพบว่ากระทบ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 36 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ 300,000 แสน ถึง 1 ล้านบาทและหากยังฝ่าฝืนมีโทษปรับวันละ 10,000-50,000 บาท

อย่างไรก็ตามเมื่อปลายปี2566 กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดพิธีร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE)

โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพร้อมทั้งตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว

โดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE) ใช้ชื่อย่อว่า “ศปต.” ซึ่งตั้งอยู่ที่กรมการท่องเที่ยว และจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ภายใต้กรอบความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการจดทะเบียนและการอนุญาตประกอบธุรกิจ 2. ด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล 3. ด้านการกำกับดูแลและป้องปราม และ 4. ด้านการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวอื่นๆ:

จับตา"ราคาทองคำ"เฉียดบาทละ 3.8 หมื่นบาท ปลายไตรมาส 2

เนื้อแน่น ! “ปลิงทะเลเกาะยาว” สินค้า GI สัตว์น้ำเศรษฐกิจพังงา

เงินเฟ้อ ก.พ.67 ติดลบ 0.77% เนื้อสัตว์ ผักถูก อานิสงค์มาตรการรัฐ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง