รับมือเมียนมา หนีเกณฑ์ทหาร "ปณิธาน" แนะเร่งทำโซนปลอดสู้รบ

การเมือง
6 มี.ค. 67
19:15
352
Logo Thai PBS
 รับมือเมียนมา หนีเกณฑ์ทหาร "ปณิธาน" แนะเร่งทำโซนปลอดสู้รบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลังเทศกาลสงกรานต์ ในเดือน เม.ย. 2567 หรือวันหยุดปีใหม่ของเมียนมา มีการคาดการณ์สถานการณ์ในเมียนมายังร้อนระอุ ทั้งการสู้รบกับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ และการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารของรัฐบาลเมียนมาเมื่อ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา มีรายงานระบุว่า เมื่อปี 2564 จำนวนประชากรของเมียนมาอยู่ที่ 55 ล้านคน

และในปีนี้กฎหมายเกณฑ์ทหารของเมียนมา กำหนดไว้ว่า ชายชาวพม่าทุกคน อายุตั้งแต่ 18-35 ปี และผู้หญิง อายุตั้งแต่ 18-27 ปี ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เพื่อทำหน้าที่เป็นทหารรับใช้ชาติเป็นเวลา 2 ปี ขณะที่ ผู้มีอาชีพและความชำนาญการพิเศษ เช่น วิศวกร หรือแพทย์ ถูกกำหนดอายุสูงถึง 45 ปี ว่าจะต้องถูกเกณฑ์มารับใช้ชาติ เป็นเวลา 3 ปี และอาจมีการขยายเวลาออกไปเป็น 5 ปี

โดยเป้าหมายของกองทัพเมียนมา คือ การรับสมัครทหาร 60,000 นายในหนึ่งปี ให้กับกองทัพที่คาดว่ากำลังรวมในปัจจุบันอยู่ระหว่าง 200,000 - 300,000 นาย ซึ่งแต่ละชุดรับสมัครจะมีทหารเกณฑ์ประมาณ 5,000 คน เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความหวาดวิตกให้กับครอบครัวของหนุ่มสาว ชาวเมียนมาไม่น้อย

มีแนวโน้มสูงว่า คนเหล่านี้อาจจะหนีการเกณฑ์ทหาร หลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในไทย หากถูกจับได้ โทษของการหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารจะถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีและเสียค่าปรับ
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง วิเคราะห์ว่า ไทยควรเตรียมแผนรับมือจากการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่แนวชายแดนด้านเหนือ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง การสู้รบจะเข้มข้น ทุกปี แต่ปีนี้จะหนักมากขึ้น ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย

คือ กองกำลังชนกลุ่มน้อย (Chin National Army -CNA) สนธิกำลังกันได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มกองกำลังป้องกันดินแดนชิน (Chinland Defence Force-CDF) ซึ่งมีความสามารถในการรบและพัฒนาฝีมือการรบเก่งขึ้น อีกทั้งยังผลิตยุทโธปกรณ์ และลักลอบนำเข้าได้ ขณะที่บางส่วนได้รับการสนับสนุนจากข้างนอก

ในขณะที่ทหารเมียนมาที่อยู่ไกลจากเมืองหลวง อ่อนแรงลงไป และหนีออกจากเมืองใหญ่ ทิ้งอาวุธหนี ทหารเมียนมาที่อยู่ในฐานเล็กๆ หลายร้อยฐาน ต่างพากันชนทิ้งฐานต่อสู้ บ้างถูกจับเป็นเชลย ถูกปลดอาวุธ และจำนวนไม่น้อยหนีข้ามพรมแดนไปประเทศอินเดีย จีน ซึ่งสถานการณ์สู้รบในหลายพื้นที่ ทำให้ทหารเมียนมาเสียเปรียบตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 เป็นต้นมา

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย.2567 คาดว่า การสู้รบในเมียนมาจะเข้มข้นขึ้น และทหารเมียนมาจำนวน 2 แสนคน ยังมีความเข้มแข็งพอสมควร แม้จะมีการโจมตีฐานที่มั่นสำคัญด้วยอาวุธหนัก ทำให้หลายฐาน ต้องถอยร่น และกองทัพเมียนมาไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในเมืองเนปิดอว์ พะโค ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ซึ่งตามแนวชายแดนก็ยังมีกำลังที่เข้มแข็ง บางส่วน หลายพื้นที่ตามแนวชายแดนพบว่า กองกำลังชนกลุ่มน้อยถอนตัวออกไป จึงต้องใช้กองกำลังทางอากาศโจมตี

“ปัญหาขณะนี้ คือ กองทัพเมียนมา ยังขาดกองกำลังสนับสนุนทางบก ทำให้ต้องเสริมกำลังทหารราบเข้าไปในเมืองหลวง และต้องกลับไปใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร เพื่อนำมาเสริมกองกำลังในพื้นที่เมืองหลวง และวางกำลังในพื้นที่ต่างๆ ถือเป็นการรุกกลับของทหารเมียนมา มีความเป็นไปได้สูงที่จะส่งกำลังเหล่านี้กลับไปรบ ในพื้นที่ที่ถูกยึดครอง และจะยืดเยื้อยาวนาน แต่กองทัพเมียนมาจะก็ได้เปรียบ หากสามารถยืนระยะรบอยู่ได้” นักวิชาการด้านความมั่นคง วิเคราะห์

และตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันมีหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีเหนือ รัสเซีย ได้ส่งกำลังบำรุง ทั้งกระสุนปืนใหญ่ กระสุนปืนเล็ก ส่วนจีนก็ใช้วิธีสร้างรัฐกันชนในรัฐฉาน เจรจาช่วยกดดัน สรุป คือ ขณะนี้ได้เริ่มเห็นฉากทัศน์ใหม่ของทหารเมียนมาปีนี้ว่า ทั้งการตั้งแนวรบและแนวต้านใหม่ และมีหลังชนฝาบางส่วน

นอกจากนี้ พบว่า กองทัพได้มีการเกณฑ์คนที่อยู่ในระบบทหารกองหนุน ซึ่งเป็นชนชั้นกลางในเมือง แต่ไม่ใช่ชาวบ้านที่อยู่ในชนบท และไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยที่อยู่กระจัดกระจาย แม้จะเกณฑ์ได้ เขาก็ไม่มา ส่วนคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ เมืองหลวงก็ตื่นตระหนก พยายามแห่ออกนอกประเทศ และหลบหนีการเกณฑ์ทหารเข้ามาในไทย

“หนีทางตรง คือ ขอพาสปอร์ต และผ่านเข้ามาทางช่องทางพิเศษต่างๆ ซึ่งปัญหาตรงนี้ ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต เพราะหากคนเหล่านี้เข้ามากๆ จะส่งผลกระทบมาก ทำให้กองทัพเมียนมาต้องออกหลักเกณฑ์ใหม่ โดยจะยังไม่เกณฑ์ผู้หญิง เพื่อลดความตื่นตระหนก แต่ในที่สุดก็ต้องเกณฑ์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เพื่อมาสร้างแนวต้านใหม่”

ดังนั้นไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือหลายด้าน เนื่องจากปัญหาชายแดนมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การเตรียมพื้นที่พักรอ และปัญหาแรงงานเมียนมา หลบหนีเข้าเมือง

ร.ศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรเตรียมแผนรับมือในพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยกับกองทัพต้องเร่งทำ เช่น พื้นที่ระเบียงมนุษยธรรม หรือพื้นที่ปลอดการสู้รบ ตั้งแต่ชายแดนด้าน อ.แม่สอด เข้าไปในพื้นที่ฝั่งเมียนมา หากจะให้กะเหรี่ยงช่วยจัดพื้นที่ ไทยจะได้พื้นที่สองชั้น และไทยจะรัฐกันชนด้วย เพราะที่ผ่านมา ทางการจีนทำสำเร็จแล้ว ซึ่งรัฐกันชนของจีนมีการเปิดพื้นที่การค้าแบบจัดเต็มในรัฐฉาน

สำหรับประเทศไทย หากจะมีการสร้างค่ายรองรับจำนวนผู้อพยพ ก็ต้องคุยกับอาเซียนให้ดีว่าใครจะหนุนอะไรเพิ่มเติม ซึ่ง รมว.ต่างประเทศ จะต้องไปหารือกับอาเซียน ว่า ความช่วยเหลือจากสิงคโปร์จะได้เท่าไหร่ ซึ่งควรจะได้ข้อยุติเบื้องต้นแล้ว แนวชายแดนต้องกระชับและเตรียมรองรับผู้อพยพที่จะทะลักเข้ามาอย่างน้อย วันละ 10,000 คน

ร.ศ.ดร.ปณิธาน บอกว่า ขณะนี้มีชาวเมียนมาหนีการถูกจับเกณฑ์ทหาร เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ ไทยจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก เข้ามาซื้อคอนโด บ้านพัก ในหลายพื้นที่ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด และส่งลูกมาเรียนนานาชาติในเมืองไทย พวกนี้ส่วนใหญ่ทำธุรกิจในสิงคโปร์ เป็นกลุ่มพ่อค้า อีกกลุ่มเป็นคนงานในเมืองที่พอมีกำลังทรัพย์ หลบหนีเข้ามาทำงานในเมืองไทย

สิ่งที่รัฐบาลต้องระวังคือ กลุ่มคนเมียนมาที่โดนหมายเรียกแล้วหนีมาไทย ยังสามารถทำงานได้หรือไม่ เพราะรัฐบาลเมียนมา อาจจะให้ไทยช่วยดูแลผู้ที่หลบหนีเข้ามา และกดดันไทยไม่ให้รับคนเหล่านี้เข้ามาทำงาน หรือกรณีผู้ที่ถูกเรียกไปเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ยอมกลับ รัฐบาลจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นักวิชาการด้านความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน และอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยดังที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลน่ายังไม่พร้อมในการรับมือเรื่องดังกล่าว เพราะไม่คุ้นเรื่องปัญหาความมั่นคง ทั้งๆ ที่ควรจะมีการตั้งวอร์รูม หรือคณะทำงานพิเศษที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อประสานนโยบายงานด้านชายแดน โดยเฉพาะกองทัพและกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการในเรื่องพื้นที่พักรอ

ขณะที่กระทรวงแรงงานจะต้องเข้ามาดูแลเรื่องการจ้างงานว่าจะทำอย่างไร รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องเร่งเจรจากับกลุ่มประเทศอาเซียนว่า ควรต้องทำอย่างไร

“เท่าที่ทราบ คนที่ดูแลปัญหานี้ คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช แต่ดูเหมือนพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีใครจับงานเรื่องนี้ เบื้องต้นจึงอยากเสนอว่า ทางรอดของไทย ควรต้องมีการเตรียมพื้นที่เขตปลอดการสู้รบ เพื่อนำไปสู่การยุติการรบชั่วคราว โดยต้องกำหนดโซนให้ชัดเจน เพราะใกล้เข้าช่วงการสู้รบแล้ว และครั้งนี้จะหนักมาก หากไม่เร่งดำเนินการ ภาระหนักจะตกอยู่ที่เรา” นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวอื่นๆ :

ตู้คีบตุ๊กตา “การพนัน” เคลือบภัยร้าย ใกล้ครอบครัว

คดีฝรั่งทำร้ายหมอ อาฟเตอร์ช็อก ! ราคาที่ดินติดชายหาดภูเก็ต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง