ดีเอสไอ ลุยหาดยามู สอบออกเอกสารสิทธิมิชอบ 100 ไร่

สิ่งแวดล้อม
7 มี.ค. 67
14:15
1,354
Logo Thai PBS
ดีเอสไอ ลุยหาดยามู สอบออกเอกสารสิทธิมิชอบ 100 ไร่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
11 มี.ค.นี้ "ดีเอสไอ" ลุยสอบเอกสารสิทธิวิลลา หาดยามู จ.ภูเก็ตกว่า 100 ไร่ เคสฝรั่งเตะหมอว่าออกเอกสารสิทธิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขู่เจ้าหน้าที่รัฐหากเอี่ยวฟันหมด

วันนี้ (7 มี.ค.2567) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ  เผยความคืบหน้าในการเข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณชายหาดยามู หลังเกิดกรณีฝรั่งเตะหมอ ที่บริเวณหาดยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และต่อมาพบปัญหาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และการบุกรุกที่สาธารณะ รวมถึงประเด็นในเรื่องของเอกสาร น.ส.3 ก บริเวณแหลมยามูว่า ได้มอบหมายให้กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันที่ 11 มี.ค.นี้ 

ก่อนหน้านี้ ดีเอสไอ มีข้อมูลเดิมที่เคยตรวจสอบพื้นที่ จ.ภูเก็ตทั้งระบบ ทั้งจากภาพถ่ายทางอากาศ พื้นที่บริเวณวิลลา และชายหาดกว่า 100 ไร่ หากดูภาพถ่ายย้อนหลังพื้นที่ดังกล่าวน่าจะมีการทำประโยชน์น้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย และอยากตั้งข้อสังเกตว่า ชายหาดตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะ มีการได้สิทธิมาอย่างไร และวิธีการใด จึงต้องลงไปตรวจสอบ และดูหลักฐานสำคัญในการออกเอกสารสิทธิ

จากภาพถ่ายทางอากาศเดิมในอดีต ไม่มีที่ทำกิน จึงมีมูลน่าเชื่อว่า เป็นการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ โดยเฉพาะการออกเอกสารน.ส.3 ก. สำหรับผู้ครอบครอง

ส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมีการทำประโยชน์มาก่อน แต่ถ้าหากอ่านภาพถ่ายแล้ว เบื้องต้นพบว่า ไม่น่าจะมีการทำประโยชน์ ซึ่งต้องมีการสืบสวนและสอบสวนต่อไป เบื้องต้นจะตรวจสอบไม่ใช่เฉพาะวิลลาที่เกิดเหตุแห่งเดียว แต่จะดูทั้งหาดเลย

อ่านข่าว ทุ่ม 138 ล้าน ปรับโฉมทำเนียบ รื้อสนามหญ้า-ปูพรมขนแกะ

เข้ารื้อถอนบันไดหาดยามูเพื่อเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ

เข้ารื้อถอนบันไดหาดยามูเพื่อเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ

เข้ารื้อถอนบันไดหาดยามูเพื่อเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ

ถึงคิวเจ้าหน้าที่รัฐหากเอี่ยวฟันหมด

รองอธิบดีดีเอสไอ ยังกล่าวถึงขั้นตอนการตรวจสอบคดีดังกล่าว ว่า หากพบเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ร่วมกับเอกชน ในฐานะสนับสนุนให้มีการกระทำความคิด ก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำการไต่สวน แต่ส่วนใหญ่ ป.ป.ช.จะส่งเรื่องกลับมาให้ดีเอสไอ ทำงานสืบสวนตามปกติ

นอกจากนี้จะเข้าไปตรวจทุกระบบให้ครบทุกกฎหมาย ทั้งกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของต่างด้าว และกฎหมายฟอกเงิน เพราะชาวต่างชาติที่มาพักอาศัยอยู่ที่นี่ ประกอบอาชีพใด และใช้ทรัพย์สินจากส่วนไหนมาซื้อที่ดิน ซึ่งข้อมูลจากการสืบสวนพบว่า วิลลาหลังหนึ่งมีมูลค่า 50-200 ล้านบาท จากผลข้างเคียงทำให้ที่ดินของ จ.ภูเก็ตพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

ภาพรวมพบมีลักษณะเหมือนกับเคยดำเนินคดีในหลายพื้นที่ ส่ง ป.ป.ช.และอัยการไปจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่มาประ กอบธุรกิจด้วยกันเอง เช่น ชาวสวิส รัสเซีย เปิดสถานบริการครบวงจรให้บริการการกับชนชาติตัวเอง ทำให้มูลค่าต่างๆ สูงขึ้น และชาวไทยไปเที่ยวก็ต้องจ่ายเพิ่มด้วย 

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า สำหรับพฤติกรรมการนำเงินจากธุรกิจสีเทาที่เข้ามาฟอกในประเทศไทย โดยการนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ใน จ.ภูเก็ต เชื่อว่ามี และที่ผ่านมาเคยตรวจสอบพบดำเนินคดีไปบ้างแล้ว ดีเอสไอจะเข้าไปดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งระบบ ทั้งการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ถือเป็นความผิดตามมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน

อ่านข่าว “คนภูเก็ต” รวมตัวทวงคืน “แหลมหงา” หลังพบถนนทางหลวงในที่ดินเอกชน

โดยจะประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทำคดีควบคู่กันไปด้วยในการดำเนินการเรื่องทรัพย์สินว่า ได้มาจากการกระทำความผิดในเรื่องนี้ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาจะต้องชี้แจงว่า ทรัพย์สินที่ได้มานั้น มาจากไหน ถ้าชี้แจงไม่ได้ ปปง.ก็จะยึด ส่วนดีเอสไอ ก็จะดำเนินคดีทางอาญาคู่ขนานกันไป

ด้านพ.ต.ท.อมร หงส์ศรีทอง ผอ.กองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ กล่าวว่า วันที่ 11 มี.ค.นี้ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ จะลงไปตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อน จากนั้นวันที่ 12 มี.ค.นี้ จะมีคณะรับเรื่องราวร้องทุกข์จากทำเนียบรัฐบาล นำโดยนายธนกฤติ จิตอารีย์รัตน์ นำทีมลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับกรมป่าไม้

อ่านข่าว Before-After "แหลมยามู" ก่อนจะเป็นจุดเกิดเหตุ "ฝรั่งเตะหมอ"

ควง “ชีวะภาพ”เปิดพื้นที่คืนชายหาดยามู

ด้านนายธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ประจำรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า วันที่ 12 มี.ค.นี้ ได้รับมอบหมายจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีให้ลงพื้นที่แหลมยามู จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบการบุกรุก พร้อมนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจากกองปฎิบัติการภาค, กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,กองคดีต่างประเทศ , และตำรวจในพื้นที่เข้าตรวจสอบแจ้งความเอาผิด

เบื้องต้นพื้นที่ลุกล้ำชายหาด มีไม่มากที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง แต่แนวเขตไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากหลักหมุดเป็นของกรมที่ดิน แต่จุดที่มีปัญหาข้อพิพาท อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)  แต่ถ้าน้ำท่วมไม่ถึงจะเป็นป่าไม้รับผิดชอบ ส่วนเทศบาลท้องถิ่นที่เข้าแจ้งความถือว่า มีอำนาจในการจัดการบริหารพื้นที่ แต่เจ้าของพื้นที่จริง คือ กรมป่าไม้

จะคืนพื้นที่สาธารณะให้นักท่องเที่ยวทั้งหมด ใครที่จะวางกติกาแลกบัตร ก็จะไปตรวจสอบด้วยว่า เป็นของใคร เพราะที่สาธารณะคนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่มายึดเป็นหาดส่วนตัว ชายหาดตรงไหนที่ปิดก็จะเปิดแล้วคืนให้ทั้งหมด และให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบ ทั้งเรื่องบุคคลต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจในเมืองไทย และผู้ที่เป็นนอมินี

อ่านข่าวอื่นๆ

“ป.ป้อม-ป.ป๊อด” หนีสภาฯ “ความรับผิดชอบ” จึงถูกถาม

ร้อนฉ่า! กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนมี.ค.-เม.ย.ร้อนจัดเกิน 40 องศาฯ

วิจัยชี้ "อาร์กติก" อาจไร้น้ำแข็ง นานถึง 1 เดือนต่อปี กลางศตวรรษนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง