“วราวุธ” ระดมแก้ “วิกฤตประชากร” จ่อชง ครม.เสนอที่ประชุม UN

สังคม
7 มี.ค. 67
17:26
402
Logo Thai PBS
“วราวุธ” ระดมแก้ “วิกฤตประชากร” จ่อชง ครม.เสนอที่ประชุม UN
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“วราวุธ” เปิดเวที โชว์วิสัยทัศน์ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร” ระดมทุกภาคส่วน ออกแบบนโยบาย-มาตรการ จ่อชง ครม.เสนอที่ประชุม UN

วันนี้ (7 มี.ค.2567) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร" โดยร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการจุฬาอารี และ World Bank

พร้อมทั้งแถลงนโยบายการขับเคลื่อนงาน เพื่อให้สังคมตระหนักถึงประเด็นท้าทายของประชากร ที่ส่งผลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัย และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ

พม.ขับเคลื่อนพัฒนาความมั่นคงครอบครัว

รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนร่วมกันออกแบบนโยบาย มาตรการ และขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทย สู่ความมั่นคงของมนุษย์ โดยระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในรูปแบบ World Café จากกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มระบบนิเวศน์ เพื่อความมั่นคงของครอบครัว

โดยมี ผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้บริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่าย NGOs และองค์กรประชาสังคม รวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ สื่อมวลชน และอินฟลูเอนเซอร์ เข้าร่วมงาน ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายวราวุธ กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ในขณะที่สัดส่วนประชากรสูงอายุ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลล่าสุด มีผู้สูงอายุ 13 ล้านคน

ข้อมูลจากกรมการปกครอง พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีเพียง 5.18 แสนคน และคาดการณ์ว่า ในปี 2585 ประชากรไทยจะลดลงเหลือจำนวน 60 ล้านคน โดยประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) จะมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 16.27 เหลือร้อยละ 10.36 ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) ลดลงจากร้อยละ 64.87 เหลือร้อยละ 58.20

ในขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.86 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 31.44 ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 12.5 ล้านคน เป็น 18.9 ล้านคน (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย, 2565)

ส่งผลให้อนาคตของประเทศไทย ต้องเผชิญกับวิกฤตวัยแรงงานที่ขาดแคลนและประสบกับภาวะพึ่งพิงของผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ล้วนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่

นายวราวุธ กล่าวว่า ในขณะที่ ข้อมูลรายงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI) ในปี 2564 พบว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน และทัศนคติของคนรุ่นใหม่ (Generation Y และ Z) เป็นอย่างมาก

จะเห็นได้จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของแรงงานนอกระบบ รูปแบบใหม่ (Gig workers) ที่คาดว่ามีจำนวนประมาณ 1-5 ล้านคน ซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ต้องแบกรับความเสี่ยงต่าง ๆ ในชีวิตและการทำงาน

ผู้สูงอายุยังต้องทำงานอีกกว่า 4 ล้านคน

และข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2565 มีจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงาน 4.74 ล้านคน (36.1 %) เพิ่มขึ้น 0.2 ล้านคน จากปี 2564 (4.54 ล้านคน, 34.9 %) โดยผู้สูงอายุยังคงทำงานเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เงินออมไม่พอ ไม่มีลูกหลานดูแล

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปี 2562 กลุ่มเด็กและเยาวชน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและว่างงาน ที่มีอายุ 15-29 ปี จำนวนประมาณ 1.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25.5 ของประชากร ในกลุ่มอายุดังกล่าวทั้งหมดส่วนใหญ่มาจากครอบครัวรายได้น้อย

รวมทั้งข้อมูลขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) พบว่า “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะเยาวชนจาก “ครอบครัวยากจน” จำนวนมาก ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือสูงกว่าภาคบังคับ

เด็ก 8 ใน 100 คน ที่ได้ศึกษาต่ออุดมศึกษา

ยูเนสโกระบุว่า ไทยมีเยาวชนจากครัวเรือนฐานะยากจนที่สุด ร้อยละ 20 ของประเทศ โดยมีเพียง 8 ใน 100 คนเท่านั้น ที่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ น้อยกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือน ที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศถึง 6 เท่า

อีกทั้งข้อมูลจากบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ พบว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดการขาดดุลรายได้ (Life Cycle Deficit : LDC) ของประเทศเพิ่มขึ้น 1.34 เท่า ในช่วงปี 2562-2583 และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จะทำให้ภาระทางการคลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ในปี 2583 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.41 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมทั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2564) งบประมาณด้านสังคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า (2565-2583) จะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในระยะยาว

ภาครัฐและทุกภาคส่วนของสังคม จึงต้องตื่นตัวมากขึ้น ในการกำหนดหรือออกแบบนโยบายตั้งแต่วันนี้ ที่จะทำให้รายได้จากแรงงานเพิ่มสูงขึ้น และจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย เพื่อให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็น สำหรับโลกยุคปัจจุบัน

และมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานสมัยใหม่ ให้ความรู้กับทุกช่วงวัยและให้ความสำคัญกับการปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการการเงิน การออม เป็นต้น

นายวราวุธ กล่าวว่า จากสถานการณ์ต่าง ๆ ข้างต้น จึงอาจคาดการณ์ได้ถึงวิกฤตทางประชากรในอนาคตที่ประเทศไทย ต้องเผชิญกับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรแบบก้าวกระโดด จึงเป็นความท้าทายต่อบทบาทและภารกิจของกระทรวง พม. ไม่ว่าจะประเด็นวิกฤตเด็กเกิดน้อย

ขณะเดียวกัน เด็กที่เกิดมาอยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อม ที่จะดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดนโยบาย ที่ต้องพิจารณาถึงครอบครัวของเด็ก ในการเลี้ยงดูเด็กให้มีประสิทธิภาพ กลไกของรัฐหรือกลไกของสังคมที่ต้องเข้ามาดูแลมากขึ้น เพื่อให้การเกิดอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นความท้าทายของกระทรวง พม. ทั้งในเรื่องเด็กและครอบครัว

ผู้สูงอายุมากขึ้น วัยแรงงานลดลง

นอกจากนี้ สัดส่วนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่วัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายภาคส่วนมีความเป็นห่วงเรื่องกำลังแรงงานที่ลดลง และต้องแบกรับภาระดูแลประชากรช่วยวัยอื่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ การที่ผู้สูงอายุยังคงทำงานเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เงินออมไม่พอ และปราศจากลูกหลานดูแลเป็นต้น

ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญของสังคมไทยที่รออยู่ในอนาคตข้างหน้าที่สำคัญ ได้แก่ 1.ความท้าทายต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางการเงินการคลังของประเทศ 2.ท้าทายต่อการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม 3) ท้าทายต่อความยั่งยืนของระบบการเงินของครัวเรือน ตลาดการเงิน และระบบการคลังของประเทศ

4.ท้าทายต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้แก่ การได้รับการศึกษา การทำงาน ระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม และที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและปลอดภัย

นายวราวุธ กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตประชากรดังกล่าว ถือเป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง พม. ซึ่งทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ต้องบูรณาการร่วมกันในการขับเคลื่อนภารกิจ และร่วมกันออกแบบนโยบาย มาตรการ และกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจ ให้สอดรับกับประเด็นท้าทายและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวิกฤตประชากร ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของมนุษย์

นายวราวุธ กล่าวว่า หลังจากการประชุมครั้งนี้ กระทรวง พม. จะจัดทำสมุดปกขาว “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์” เสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเม.ย.2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

จากนั้นจะได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากร และการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (57th Session of Commission on Population and Development : CPD57) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.- 3 พ.ค.2567

อ่านข่าว : "สงกรานต์” คาดเงินสะพัด 5 หมื่นล้าน ม.หอการค้าเชื่อหนุนศก.ไทยฟื้น

เปิดกำหนดการ "ทักษิณ" เดินทางไปเชียงใหม่ 14-16 มี.ค.

“ป.ป้อม-ป.ป๊อด” หนีสภาฯ “ความรับผิดชอบ” จึงถูกถาม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง